กระทรวงเกษตรฯ มอบรางวัลสุดยอดกาแฟไทยปี 67 ดันลุยตลาดโลกครั้งใหญ่

13 ธ.ค. 2567 | 08:10 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ธ.ค. 2567 | 08:26 น.

กรมวิชาการเกษตร มอบรางวัลสุดยอดกาแฟไทยปี 2567 ดันสร้างมาตรฐาน ลุยตลาดโลก ล่าสุดพัฒนาได้กาแฟพันธุ์ใหม่ “พันธุ์ กวก.เกอิชา” ได้คุณภาพ รสชาติ ผลผลิต โดดเด่นระดับนานาชาติ เร่งส่งเสริมขยายผลผลิต

รายงานข่าวข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (13 ธ.ค. 2567) ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้ กรมวิชาการเกษตร เดินหน้าขับเคลื่อนยุทธศาสตร์กาแฟแห่งชาติ และจัดการประกวดสุดยอดกาแฟไทย THAILAND BEST COFFEE BEANS 2024 (TCE 2024) เพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ เพิ่มพื้นที่ปลูกกาแฟคุณภาพเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพิ่มพื้นที่สีเขียว ลดปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 มุ่งสู่มาตรฐาน “การผลิตพืช GAP PM 2.5 Free”

กระทรวงเกษตรฯ มอบรางวัลสุดยอดกาแฟไทยปี 67 ดันลุยตลาดโลกครั้งใหญ่

นอกจากนี้เพื่อสร้าง carbon Footprint ส่งเสริมการแปรรูปกาแฟคุณภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของเกษตรกรต้นน้ำผู้ ปลูกกาแฟ ให้มีความรู้ และทักษะในการปลูกกาแฟคุณภาพ พร้อมยกระดับมาตรฐานคุณภาพการผลิตกาแฟไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในตลาดสากล และส่งเสริมพัฒนาเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมกาแฟไทยเติบโตแข็งแกร่งสู่เวทีระดับโลก

นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มอบหมายให้เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ประจำปี 2567 และรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ให้เกษตรกรผู้ชนะเลิศผู้ชนะเลิศการประกวดในแต่ละประเภท

กระทรวงเกษตรฯ มอบรางวัลสุดยอดกาแฟไทยปี 67 ดันลุยตลาดโลกครั้งใหญ่

ทั้งนี้ถือเป็นแรงบันดาลใจให้แก่เกษตรกรมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการผลิตกาแฟให้ได้คุณภาพ ควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม และสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่จำกัด โดยกรมวิชาการเกษตรได้จัดกิจกรรมการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ภายใต้แนวคิด “การผลิตกาแฟเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Coffee Production) การปลูกกาแฟที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างความเข้มแข็งห่วงโซ่การผลิตกาแฟไทย

การจัดงานครั้งนี้ เป็นการจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 เพื่อสืบสานพระราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงมีพระราชดำริส่งเสริมให้เกษตรกรบนพื้นที่สูงปลูกกาแฟ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากกาแฟที่เป็นพืชเศรษฐกิจพร้อมช่วยดูแลป่า

สำหรับการประกวดสุดยอดกาแฟไทย 2567 ในปีนี้ กรมวิชาการเกษตรได้ร่วมมือกับบริษัท Big Black Box และ Q Project Thailand โครงการเพื่อพัฒนากาแฟพิเศษไทย และสถาบันคุณภาพกาแฟระดับโลกอย่าง CQI (Coffee Quality Institute) เพื่อปรับมาตรฐานใหม่ในการตัดสินให้เป็นไปตามหลักสากลด้วยการใช้มาตรฐานของ CQI โดยได้รับเกียรติจาก Thomas Ameloot กรรมการตัดสินในระดับโลก มาเป็น Head Judge และ Steven Puvalski นักคั่วกาแฟระดับโลก มาเป็น Head Roaster

ทำให้มั่นใจในมาตรฐานการตัดสินเป็นไปตามหลักสากลในระดับนานาชาติ ซึ่งได้รับความสนใจจากเกษตรกรทั่วประเทศส่งสิ่งประกวด 245 ราย แบ่งเป็นประกวดเมล็ด 196 ราย และการประกวดสวนเชิงยั่งยืน (GAP) ที่เปิดให้มีการประกวดปีนี้เป็นปีแรก 49 ราย ในโอกาสนี้นายธนสาร ธรรมสอน ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และ ดร.นิติภูมิธณัฐ มิ่งรุจิราลัย ที่ปรึกษาโครงการสุดยอดกาแฟไทย ร่วมงานด้วย

กระทรวงเกษตรฯ มอบรางวัลสุดยอดกาแฟไทยปี 67 ดันลุยตลาดโลกครั้งใหญ่

สำหรับผู้ชนะการประกวดทั้งหมด 5 ประเภท แบ่งเป็นเมล็ดกาแฟ อะราบิกา 3 ประเภท และโรบัสตา 1 ประเภท รวมถึงการประกวดสวนเชิงยั่งยืน (GAP) ซึ่งรางวัลในการประกวดเมล็ดกาแฟ

รางวัลที่ 1 ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท

รางวัลที่ 2 ได้รับถ้วยรางวัลจากพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

รางวัลที่ 3 ในแต่ละประเภท ได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท

รางวัลที่ 4 ในแต่ละประเภทได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท

รางวัลที่ 5 ในแต่ละประเภทได้รับถ้วยรางวัลจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท

  •  รางวัลในการประกวดสวนเชิงยั่งยืน (GAP)

รางวัลที่ 1 ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท

รางวัลที่ 2 ในแต่ละประเภท ได้รับถ้วยรางวัลจากพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ประธานองคมนตรี พร้อมเงินรางวัล 40,000 บาท

รางวัลที่ 3 ในแต่ละประเภท ได้รับถ้วยรางวัลจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเงินรางวัล 30,000 บาท

รางวัลที่ 4 ในแต่ละประเภทได้รับถ้วยรางวัลจากปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมเงินรางวัล 20,000 บาท

รางวัลที่ 5 ในแต่ละประเภทได้รับถ้วยรางวัลจากอธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมเงินรางวัล 10,000 บาท

นอกจากนี้ได้มีการจัดโรดโชว์ในประเทศ โดยนำกาแฟที่ติด Top 10 ของแต่ละประเภท ไปให้ผู้ประกอบการที่สนใจได้มีโอกาสลิ้มลองกาแฟคุณภาพสูง เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น ภูเก็ต และกรุงเทพฯ พร้อมกับการจัดประมูลกาแฟ Top10 ของแต่ละ Process กลุ่มของ Arabica 3 Process (แบบเปียก/แห้ง และกึ่งแห้ง) และRobusta ไม่แยกกระบวนการแปรรูป เพื่อส่งเสริมการขายสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรไทย

ในช่วงวันที่ 11-15 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ได้มีการนำกาแฟและเกษตรกรผู้ชนะไปโชว์กาแฟ “Thailand Best Coffee Beans” และเข้าร่วมงาน Taiwan International Coffee Show 2024 ณ กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ที่เป็นงานกาแฟที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่งผลทำให้เกิดการรับรู้ที่จะเป็นตัวช่วยในการเพิ่มโอกาสขยายตลาดกาแฟไทยในต่างประเทศ พร้อมยกระดับมาตรฐานกาแฟไทยสู่มาตรฐานสากลให้เป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากขึ้น

สอดคล้องเป็นไปตามแผนพัฒนากาแฟแห่งชาติ ที่มุ่งเน้นการพัฒนา เพิ่มคุณภาพ และมูลค่าอัตลักษณ์กาแฟไทยไปสู่ระดับสากล พร้อมเป็นผู้นำการผลิต การแปรรูป และการค้ากาแฟคุณภาพในระดับเอเชีย ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพทั้งการปลูกและการแปรรูป ที่ผู้แปรรูปสามารถสื่อสารกับผู้ปลูกได้โดยตรง ตอบโจทย์ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่แตกต่างกันไปในตลาดโลก ถือเป็นความเข้มแข็งของอุตสาหกรรมกาแฟไทยในการพัฒนาอัตลักษณ์กาแฟไทยสู่การแข่งขันได้ในเวทีระดับโลก

โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของตลาดกาแฟทั่วโลกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ประกอบการขยายธุรกิจและลงทุนในอุตสาหกรรมกาแฟมากขึ้น โดยในปี 2566 มีการนำเข้ากาแฟรวมทั้งสิ้น 8.35 ล้านตัน คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 1.32 ตลาดหลักที่มีการนำเข้าสูงสุดคือกลุ่มสหภาพยุโรป ประเทศจีนและสหราชอาณาจักรเป็นตลาดที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีอัตราการนำเข้าและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในตลาดโลก

ส่วนข้อมูลการส่งออกเมล็ดกาแฟและผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมมูลค่า 4,346 ล้านบาท โดยกาแฟสำเร็จรูปผสมเป็นสินค้าที่มีการส่งออกมากที่สุด รองลงมาคือกาแฟสำเร็จรูป เมล็ดกาแฟคั่ว และเมล็ดกาแฟดิบ ผลิตภัณฑ์กาแฟคั่วมีการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญทั้งในแง่ปริมาณและมูลค่า โดยอัตราการเติบโตของปริมาณการส่งออกอยู่ที่ 14.68% และมูลค่าเพิ่มขึ้น 24.44% แม้ว่าปริมาณการส่งออกของกาแฟสำเร็จรูปและกาแฟสำเร็จรูปผสมจะลดลง แต่มูลค่าการส่งออกกลับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.11 และร้อยละ 11.46 ตามลำดับ

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเกษตรหลวงเชียงใหม่ กรมวิชาการเกษตร ได้พัฒนากาแฟพันธุ์ กวก.เกอิชา (Coffea arabica ‘DOA Geisha’) ที่มีเอกลักษณ์ด้านรสชาติและคุณภาพที่โดดเด่นระดับนานาชาติ ทั้งในด้านผลผลิต ความต้านทานโรค กลิ่น และรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ โดยได้รับความสนใจและมีความต้องการปลูกในประเทศไทย ปัจจุบันกาแฟพันธุ์ กวก.เกอิชา ได้ผ่านการพิจารณารับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนล่าสุด

ทั้งนี้หลังตรวจสอบข้อมูลและลักษณะประจำพันธุ์ตามหลักวิชาการผ่านเงื่อนไข พร้อมติดประกาศโฆษณา 30 วัน ไร้ผู้ทักท้วง พร้อมทั้งได้ขึ้นทะเบียนพันธุ์พืชตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 เพื่อบันทึกไว้ในฐานข้อมูลพันธุ์พืชของประเทศไทย ออกหนังสือรับรองเป็นพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนพันธุ์เป็นหลักฐาน และเป็นเกียรติประวัติแก่ผู้พัฒนาปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งเปรียบเสมือนการทำบัตรประจำตัวพันธุ์พืชที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพกาแฟไทย