วันที่ 13 ธ.ค. 67 การยางแห่งประเทศไทย (กยท.)โดยนายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทยร่วมกับ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยนางมารศรี ใจรังษี เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือการสร้างการรับรู้และยกระดับคุณภาพชีวิตในการสร้างหลักประกันทางสังคมของเกษตรกรชาวสวนยางมุ่งยกระดับคุณภาพชีวิตชาวสวนยาง ควบคู่การสร้างหลักประกันทางสังคมที่มั่นคงไปพร้อมกัน โอกาสนี้ ได้รับเกียรติจาก นายพิพัฒน์รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเป็นประธานในพิธี พร้อมด้วยนายถาวร ทันใจ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ร่วมแสดงความยินดี และดร.เพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการ กยท. ร่วมเป็นสักขีพยาน
ในพิธีลงนามครั้งนี้ ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงานกระทรวงแรงงานนายถาวรกล่าวว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ความสำคัญกับการยกระดับศักยภาพของเกษตรกรและสถาบันเกษตรอย่างมั่นคงและยั่งยืนอย่างเป็นรูปธรรม โดยพิธีบันทึกความร่วมมือฯ ระหว่าง กยท. และ สปส. ในครั้งนี้ เป็นการขยายความร่วมมือครั้งสำคัญของทั้ง 2 หน่วยงานที่จะช่วยสร้างระบบประกันทางสังคมให้แก่เกษตรกรผ่านการประชาสัมพันธ์ เชิญชวน และสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงความรู้เกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของประกันสังคมที่จะได้รับ นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความกินดีอยู่ดี สร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ไปพร้อมกับสร้างความมั่นคงทางอาชีพให้กับเกษตรกรไทยต่อไป
นายสุขทัศน์ กล่าวถึงบันทึกความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ว่า ความร่วมมือระหว่าง กยท. และ สปส. เป็นไปตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการเสริมขีดความสามารถให้กับประชาชนผ่านการสร้างรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ ไปพร้อมกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ประชาชนทุกคน โดยกยท. จะเข้ามามีบทบาทในการช่วยประชาสัมพันธ์ และเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของสำนักงานประกันสังคมไปยังกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง คนกรีดยาง สมาชิกสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยาง ผู้ประกอบอาชีพอิสระ ประชาชนทั่วไป
รวมถึงลูกจ้างในสังกัดของ กยท. ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ได้รับรู้และสามารถเข้าถึงความคุ้มครองและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ได้แก่ เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีประสบภัยอันตรายหรือเจ็บป่วย เงินทดแทนการขาดรายได้กรณีทุพพลภาพ เงินค่าทำศพกรณีตาย เงินบำเหน็จชราภาพพร้อมดอกผล และเงินสงเคราะห์บุตร ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนกลุ่มนี้มีหลักประกันทางสังคมที่มั่นคงและมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น
“เกษตรกรชาวสวนยางที่สมัครประกันสังคมของผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จะได้รับสิทธิประโยชน์สำคัญมากมาย ทั้งทางด้านสุขภาพ การออมเงิน และยังช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการว่างงานถือเป็นการสร้างหลักประกันทางสังคมให้พี่น้องชาวสวนยางเกิดความมั่นใจในการประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคง”นายสุขทัศน์ กล่าวทิ้งท้าย
นางมารศรีกล่าวว่า ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 สำนักงานประกันสังคมได้ขยายความคุ้มครองเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบอาชีพอิสระได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม คือการเป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 โดยปัจจุบันมีผู้ประกันตนตามมาตรา 40 จำนวนถึง 11,006,825 คน นอกจากนี้ยังมีตัวแทนเครือข่ายประกันสังคม จำนวน 25,466 คน รวมถึงเครือข่ายบวร จากกลุ่มสมาชิกบ้าน วัด โรงเรียนและโรงงาน จำนวน 247,085 คน ทั่วประเทศ เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันในการดำรงชีวิตของแรงงานอิสระ ให้สอดคล้องตามนโยบายของกระทรวงแรงงาน “ยอมรับ เชื่อมั่น ไว้วางใจ” เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับพี่น้องแรงงานทุกภาคส่วน
สำหรับเกษตรกรชาวสวนยางผู้ที่สนใจจะสมัครประกันสังคมตามมาตรา 40 จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้มีสัญชาติไทย หรือเป็นชนกลุ่มน้อยที่มีบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่มีเลขประจำตัวหลักแรกเป็นเลข 0 หรือ 6 หรือ 7 และมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ โดยใช้เพียงบัตรประจำตัวประชาชนเป็นหลักฐานในการสมัคร ผ่านช่องทางการสมัครที่สำนักประกันสังคมรองรับ เช่น www.sso.go.th, ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), เคาน์เตอร์เซอร์วิส 7-11, สายด่วนประกันสังคม 1506 เป็นต้น