บิ๊กธุรกิจเกาหลีใต้ รุกลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า-แบตเตอรี่-เครื่องสำอางในไทย

14 ธ.ค. 2567 | 03:56 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2567 | 07:50 น.

กระทรวงพาณิชย์ เผยบิ๊กธุรกิจเกาหลีใต้ รุกลงทุนผลิตรถไฟฟ้า-แบตเตอรี่ในไทย มูลค่าการลงทุน 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งยังมีบริษัทเครื่องสำอางของเกาหลีใต้เตรียมตั้งโรงงานในไทย พร้อมชวนลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย เซมิคอนดักเตอร์ การแพทย์ เทคโนโลยีชีวภาพ AI ดาต้าเซ็นเตอร์

นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนของเกาหลีใต้ในประเทศไทย ว่า ปัจจุบันเกาหลีใต้จะลงทุนในไทยเป็นอันดับ 6 ของอาเซียน แต่ล่าสุด บริษัทยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้อยู่ระหว่างเตรียมเข้ามาลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอร์รี่ในประเทศไทย ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเครื่องสำอางของเกาหลีใต้เตรียมเข้ามาตั้งโรงงานในไทยอีกด้วย

พิชัย นริพทะพันธุ์

อีกทั้งหลังการพบหารือกับเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย (นายปาร์ค ยงมิน) ณ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อเร่งเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ ไทย – เกาหลีใต้ ให้ได้ข้อสรุปภายในปี 2568 และรื้อฟื้นการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าที่ห่างหายไปกว่า 20 ปี และกระชับความร่วมมือทางเศรษฐกิจ รัฐบาลยังได้ถือโอกาสเชิญชวนนักธุรกิจเกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทยในอุตสาหกรรมเป้าหมายอื่น ๆ

อาทิ อุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ แผงวงจรพิมพ์ (PCB) การแพทย์และเทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล AI ดาต้าเซ็นเตอร์ เทคโนโลยีหุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และคอนเทนต์ ซึ่งล้วนเป็นอุตสาหกรรมที่เกาหลีใต้มีศักยภาพสูง โดยเอกอัครราชทูตเกาหลีใต้กล่าวสนับสนุนเนื่องจากปัจจุบันเกาหลีใต้ต้องการกระจายการลงทุนในหลายประเทศมากขึ้น

ข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในปี 2566 เกาหลีใต้เป็นคู่ค้าอันดับ 12 ของไทย มีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 14,744 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยส่งออกไปเกาหลีใต้ 6,073 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ น้ำมันสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาลทราย แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม

ขณะที่ประเทศไทยนำเข้าจากเกาหลีใต้ 8,671 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ทั้งนี้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2567 (ม.ค. –ต.ค.) การค้าสองฝ่ายมีมูลค่ารวม 12,960 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นการส่งออก 5,040 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นการนำเข้า 7,920 ล้านดอลลาร์สหรัฐ