เปิดเบื้องลึก บิ๊กเอกชนให้รัฐบาลสอบผ่าน ฝากการบ้านอะไรปี 68

14 ธ.ค. 2567 | 07:23 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2567 | 07:45 น.

วันที่ 12 ธันวาคม 2567 นายกรัฐมนตรี “แพทองธาร ชินวัตร” ได้นำคณะรัฐมนตรีเปิดเวทีผลงานรอบ 90 วัน พร้อมประกาศนโยบายและแผนงานในหลายเรื่องที่จะดำเนินการในปี 2568 ที่จะมาถึง โดยมุ่งเน้นนโยบายที่กินได้ และประกาศจะเป็นปีแห่งโอกาสของคนไทยทุกคน

ทั้งนี้ในมุมของผู้นำพรรคฝ่ายค้าน ตั้งข้อสังเกตการแถลงผลงานครั้งนี้ไม่ได้มีการสรุป หรือพูดถึงผลงานอย่างจริงจัง แต่เป็นแถลงเพื่อฝากงานรองนายกรัฐมนตรีที่ไปร่วมงานมากกว่า อย่างไรก็ดีในมุมของผู้นำภาคเอกชนต่อผลงานของรัฐบาลชุดปัจจุบัน เข้าตาหรือไม่ อย่างไรนั้น

“นายสนั่น  อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ไว้อย่างละเอียด และให้สอบผ่านโดยพิจารณาจากความตั้งใจ และยังได้ฝากรัฐบาลเร่งดำเนินการในหลายเรื่องในปี 2568 ที่จะมาถึง

นายสนั่น กล่าวว่า ผลงานรัฐบาลในด้านการท่องเที่ยว และซอฟ พาวเวอร์ เรื่องนี้ต้องชื่นชมรัฐบาลที่พยายามผลักดันหลายมาตรการเพื่อทำให้ภาคการท่องเที่ยวไทยกลับมาเติบโตได้โดดเด่นในวันนี้ ตั้งแต่การยกเลิกวีซ่าเข้าไทยกับหลายสิบประเทศทั่วโลก การปรับขั้นตอนและอำนวยความสะดวกคนเข้าเมือง โดยเฉพาะในสนามบินสุวรรณภูมิให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สนั่น  อังอุบลกุล” ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

ขณะเดียวกันภายในประเทศก็มีการเร่งโปรโมทนโยบายซอฟ พาวเวอร์ ทั้งด้านอาหาร การจัดบิ๊กอีเว้นท์และเฟสติวัล เทศกาลสำคัญ ๆ ของประเทศ สิ่งเหล่าทำให้มีผลต่อความเชื่อมั่น กระตุ้นให้เกิดภาพลักษณ์ที่ทำให้วันนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยแล้วกว่า 32 ล้านคน (ข้อมูล 1 ม.ค. - 8 ธ.ค. 2567) ส่วนนี้หากมีการวางแผนและเพิ่มการประชาสัมพันธ์เชิงรุกมากขึ้น เชื่อว่าปีหน้าอาจทำให้เราได้เห็นนักท่องเที่ยวกลับมาแตะ 40 ล้านคนได้

ด้านการดึงดูดการลงทุน ส่วนนี้ชื่นชมความพยายามของรัฐบาลในการดึงบิ๊กคอร์ป ยักษ์ใหญ่ของโลกในด้านเทคโนโลยี เข้ามาลงทุนในประเทศไทยให้มากขึ้นโดยเฉพาะโครงการ Data Center, Cloud Service, อุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และชิ้นส่วน, การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้มีตัวเลขการเข้ามาลงทุน เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

“อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าหลายโครงการสำคัญยังขาดความชัดเจนในเรื่องเม็ดเงินการลงทุน ขณะที่บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลก บางบริษัทมีการประกาศตัวเลขการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านอย่างชัดเจน สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าไทยอาจจำเป็นต้องเร่งยกเครื่องการดึงดูดการลงทุน การปรับปรุงมาตรการที่ดึงดูด ทั้งที่เป็นภาษีและไม่ใช่ภาษี โดยเฉพาะการเร่งยกระดับ ศักยภาพของบุคลากรภายในประเทศ ซึ่งส่วนนี้ยังมองว่าเป็นโจทย์ใหญ่หากจำเป็นต้องแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านที่มีความสามารถมากกว่าเช่น ประเทศเวียดนาม และมาเลเซีย”

นายสนั่น กล่าวอีกว่า อีกส่วนคือความพยายามในการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจ ที่เป็นเหมือนตัวฉุดรั้งขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในวันนี้ แม้ว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ และตัวเลขหนี้สาธารณะยังมีแนวโน้มไม่ดีขึ้นเท่าที่ควร

แต่ก็เห็นถึงความพยายามของรัฐบาล โดยเฉพาะการรับฟังเสียงสะท้อนจากภาคเอกชน ซึ่งหอการค้าฯ ขอบคุณรัฐบาลที่ได้ตอบรับข้อนำเสนอหลายมาตรการของเอกชน ทั้งผ่านสมุดปกขาวในนามของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) และสมุดปกขาวหอการค้าไทย ปี 2567

ทั้งนี้หลักใหญ่ใจความสำคัญคือการเร่งแก้ไขหนี้ให้กับคนไทย โดยเฉพาะหนี้รถปิกอัพ ซึ่งเป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชนไม่ให้ถูกยึด ขณะเดียวกันก็ยังได้เสนอถึงการพิจารณาลด ยืด หนี้ของประชาชน และนำมาสู่การแก้หนี้ครัวเรือน นโยบายแก้หนี้ครัวเรือน โดยเน้นที่หนี้  “รถยนต์”  และ “บ้าน”

โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์จะช่วยกันลดการส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูลง 0.23% หรือรวมกันคิดเป็น รวมกันเป็น 78,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อพักดอกเบี้ย 3 ปี ให้ลูกหนี้จ่ายคืนเงินต้นได้เต็มจำนวน โดยจะเริ่มดำเนินการในต้นปี 2568 พร้อมออกมาตรการประนอมหนี้แบบพิเศษที่จะล้างหนี้ให้ทั้งหมด สำหรับลูกหนี้มูลหนี้ต่ำกว่า 5,000 บาท ซึ่งหอการค้าฯ เชื่อว่าการดำเนินโครงการดังกล่าวจะช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน สร้างโอกาส และลดความเลื่อมล้ำได้มาก

“โดยภาพรวมหอการค้าฯ ให้รัฐบาลสอบผ่าน โดยเฉพาะในประเด็นความพยายามและความตั้งใจ ในการผลักดันนโยบายใหม่ ๆ ภายใต้ความไม่แน่นอนทางการเมืองภายในประเทศ และปัญหาความตึงเครียดของการเมืองและสงครามระหว่างประเทศ"

อย่างไรก็ดี หอการค้าฯมองว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมี New Growth Engine เพื่อผลักดันให้ไทยพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง ที่ผ่านมาแม้จะมีความพยายามในการเร่งดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมสมัยใหม่ แต่หลายครั้งจะเห็นได้ว่าประเทศเพื่อนบ้านกลับได้รับการตอบรับการลงทุนและมีการประกาศตัวเลขที่ชัดเจน แสดงให้เห็นว่าวันนี้เสน่ห์ของประเทศไทยลดน้อยถอยลง หากไม่มีการปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่

ทั้งการแก้หนี้ การยกระดับคุณภาพการศึกษา และทักษะของแรงงาน การจัดการสังคมผู้สูงอายุ เสถียรภาพและความมั่นคงทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งมีผลต่อความต่อเนื่องของนโยบายด้านเศรษฐกิจ อาจทำให้ไทยถูกมองข้าม จากการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านต่างเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน

ขณะเดียวกันในปี 2568 หอการค้ายังประเมินเบื้องต้นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยอาจไม่โดดเด่นไปมากกว่าปีนี้มากนัก เนื่องจากความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศโดยเฉพาะการกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐอเมริกา ปัญหาสงครามในหลายภูมิภาค การผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน การฟื้นตัวของประเทศผู้ค้าที่สำคัญอย่างจีนซึ่งจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการกีดกันทางการค้าจากสหรัฐอเมริกา 

การเมืองในประเทศก็มีความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นและนำไปสู่การลงถนน และยังขาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มี Impact ต่อระบบเศรษฐกิจ เพื่อเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจในช่วงต้นปีแรกของปี 2568  ดังนั้น หอการค้าไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยจึงประเมินปัจจัยดังกล่าวและคาดการณ์ ว่าจีดีพีปี 2568 อาจเติบโตได้ในกรอบ 2.8-3.2% ซึ่งไม่ได้โดดเด่นไปกว่าปีนี้

“สิ่งที่หอการค้าอยากฝากให้กับรัฐบาลได้พิจารณาเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีหน้าคือการเร่งออกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีความชัดเจน มาตรการส่งเสริมการลงทุน และการท่องเที่ยว ในจังหวัดที่มีศักยภาพ หรือจังหวัดที่เป็นเมืองรอง เพื่อกระจายรายได้ และความเจริญให้ทั่วถึง ซึ่งส่วนนี้จะเป็นการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น”

ขณะเดียวกันโจทย์ใหญ่อย่างการแก้ไขปัญหาหนี้ก็จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และพิจารณามาตรการเฉพาะในหนี้แต่ละประเภท ซึ่งส่วนนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งรัฐบาล สถาบันการเงิน หน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงประชาชน

ทั้งนี้ ข้อเสนอสมุดปกขาว ทั้งจาก กกร. และหอการค้าไทย ที่ได้รวบรวมความคิดเห็นของภาคเอกชนทั่วประเทศ จัดทำเป็นข้อเสนอและแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ส่วนนี้รัฐบาลสามารถนำไปพิจารณา และปรับเป็นมาตรการที่เหมาะสมก็จะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยสามารถที่จะเดินหน้า ท้าทายกับความผันผวนของเศรษฐกิจปี 2568 ได้อย่างเข้มแข็ง และสามารถเติบโตได้เป้าหมายต่อไป โดยหอการค้าและภาคเอกชนพร้อมให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ตามที่นายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ว่า “วันนี้ ทุกคนคือทีมเดียวกัน”