“นฤมล”เตรียมเทงบกว่า 1.5 ล้านล้าน เพิ่มรายได้คนอีสาน

20 ธ.ค. 2567 | 10:37 น.
อัปเดตล่าสุด :20 ธ.ค. 2567 | 10:54 น.

“นฤมล”ลั่นเอาใจคนอีสาน รัฐเตรียมเทงบกว่า 1.5 ล้านล้าน ลุยพัฒนา“ดิน-น้ำ” ยกระดับรายได้ ชูเกษตรตัวใหม่ “โกโก้ กาแฟ ถั่วเหลือง” แนะปลูกเพิ่ม ตลาดต้องการสูง

“นฤมล”เตรียมเทงบกว่า 1.5 ล้านล้าน เพิ่มรายได้คนอีสาน

ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมสัมมนา "ISAN NEXT" พลิกเศรษฐกิจไทย ฝ่าวิกฤตโลก ณ หอประชุมราชภัฏรังสฤษฏ์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ที่จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับ เครือมติชน เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาคอีสาน ที่จะมีผลต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยในอนาคต

โดยใจความสำคัญของเนื้อหาการบรรยายระบุว่า ประเทศไทยพึ่งพาการส่งออก ซึ่งจีดีพีในแต่ละปี ภาคการเกษตรมีส่วนในจีดีพีไม่ถึง 10% จากตัวเลขล่าสุดมีสัดส่วนเพียง 8.58%  ซึ่งที่ผ่านมาได้พยายามชี้แจงมาตลอดว่า ไปนับแค่สินค้าเกษตรขั้นต้นเท่านั้น แต่หลังจากแปรรูปแล้ว เช่นไปเป็นอาหาร หรือกลายเป็นสินค้าแปรรูปอื่น ๆ เช่น เป็นเครื่องสำอาง เป็นยางล้อรถยนต์ไปแล้ว ไม่นับอยู่ในภาคการเกษตร แต่ไปนับรวมเป็นจีดีพีของภาคอุตสาหกรรม ทั้งที่เป็นส่วนมาจากพี่น้องในภาคเกษตร

“นฤมล”เตรียมเทงบกว่า 1.5 ล้านล้าน เพิ่มรายได้คนอีสาน

ปัจจุบันประชากรในประเทศไทย 67 ล้านคน และมาขึ้นทะเบียนเกษตรกร ประมาณ 8 ล้านครัวเรือน หรือประมาณ 30 ล้านคน เรียกว่าเป็นครึ่งหนึ่งของประชากรทั้งประเทศที่อยู่ในภาคการเกษตร ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) มีเนื้อที่ทางการเกษตร 64.29 ล้านไร่ จากพื้นที่ภาคการเกษตร 147.73 ล้านไร่ ก็เกือบครึ่งหนึ่งที่เป็นภาคการเกษตร แสดงว่าภาคอีสานมีความสำคัญเป็นอย่างมากกับภาคการเกษตร ส่วนใหญ่ปลูกข้าวอันดับ 1  มีพื้นที่ปลูก 40.12 ล้านไร่ ,อันดับที่ 2 ยางพารา จำนวน 6.23 ล้านไร่ และอันดับ 3 มันสำปะหลัง จำนวน 5.68 ล้านไร่  อันดับ 4 อ้อยโรงงาน  จำนวน 4.95 ล้านไร่ และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำนวน 1.20 ล้านไร่

ทั้งนี้ประมาณการผลิตภัณฑ์มวลรวมภาคภาคอีสาน ( GRP)  ภาคการเกษตร คิดเป็น 24%  ซึ่งเป็นสัดส่วน 1 ใน 4  จีดีพีเกษตรภาพรวมทั้งประเทศ มูลค่าที่มากที่สุด ได้แก่ นครราชสีมา รองลงมา คือบึงกาฬ และอุบลราชธานี ตามลำดับ และส่วนประชากรและแรงงานในภาคเกษตร 21.72 ล้านคน  เป็นประชากรภาคการเกษตร 14.41  ล้านคน แล้วหากย้อนกลับไปพิจารณาโครงการการผลิตสินค้าเกษตรในช่วง 10 ปี ก็พบว่ายังคงปลูก 5 พืชหลักอยู่ไม่เปลี่ยนแปลง แต่ก็มีสินค้าเกษตรบางชนิดที่เกษตรกรหันไปปลูกมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ ทุเรียน โคเนื้อ และเงาะ  เป็นต้น 

 

“นฤมล”เตรียมเทงบกว่า 1.5 ล้านล้าน เพิ่มรายได้คนอีสาน

นอกจากพืชเศรษฐกิจเหล่านี้ ที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรภาคอีสานหันมาปลูกกันมากขึ้น โดยแปลงนโยบายรัฐบาลมาสู่การแผนปฎิบัติของกระทรวง เป็น 2 กลุ่มสำคัญ ได้แก่ 1.เกษตรมูลค่าสูง  ต้องพิจาณาว่าพืชชนิดใดที่จะทำรายได้ได้มาก โดยที่มีความต้องการมาก ใช้การตลาดนำ ได้แก่ “กาแฟ” ที่ยังมีการนำเข้า เนื่องจากไทยผลิตกาแฟได้แค่ 3 หมื่นตันต่อปี ยังต้องนำเข้าอีก 6 หมื่นตัน  นอกจากนี้ยังมี “ถั่วเหลือง” และ “โกโก้”  

โดยมี 2 กรม ทั้งกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมวิชาการเกษตร ที่จะทำงานสอดประสานนโยบายชักชวนปรับเปลี่ยนหันมาเพาะปลูกพืชที่มีโอกาส มีมูลค่าสูงมากยิ่งขึ้น แต่ก็ไม่ง่าย เนื่องจากเกษตรกรเคยชินกับการปลูกพืชแบบไหน มีความรู้แบบไหนก็ทำแบบเดิม และเกษตรกรก็มีอายุมากขึ้น เพราะฉะนั้นการที่จะไปบอกให้คนที่มีอายุเกิน 60 ปีให้หันมาปลูกพืชแบบใหม่ ใช้เครื่องใหม่ ก็จะไม่ใช่เรื่องง่าย จำเป็นจะต้องให้คนรุ่นใหม่เข้ามาภาคเกษตรเพิ่มมากขึ้น

ศ.ดร.นฤมล กล่าวอีกว่า เมื่อดูรายได้ภาคเกษตร ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรายได้เป็นลำดับที่ 3 และมีรายได้จากนอกภาคเกษตรสูงกว่าภาคเกษตร หมายความว่าเป็นทำภาคเกษตรตามฤดูกาล พอนอกฤดูกาลเพาะปลูกก็หันไปประกอบอาชีพในเมือง หรือแม้กระทั่งเข้ากรุงเทพฯ ทำให้มีรายได้หลักจากการประกอบอาชีพอื่น ๆ จึงมีผลทำให้รายได้สุทธิครัวเรือนในภาคเกษตรต่ำ จากปัญหา “ดินและน้ำ” ซึ่งเป็นหัวใจของภาคการเกษตรและหัวใจ ก็มาจากการเพาะปลูกดั้งเดิมทำซ้ำหลายรอบในช่วง 10 ปี ส่งผลให้ดินเสื่อมโทรม กรมพัฒนาที่ดินมีพื้นที่ประสบปัญหาอยู่ 2.2 ล้านไร่ เป็น ดินเค็ม ก็จะทำให้ผลผลิตต่อไร่ ลดลง เช่น กาฬสินธ์ุ,ขอนแก่น และมหาสารคาม เป็นต้น

“นฤมล”เตรียมเทงบกว่า 1.5 ล้านล้าน เพิ่มรายได้คนอีสาน

 

"บางพื้นที่เป็นดินทรายก็จะเกิดปัญหาทำให้ดินไม่สามารถเก็บอุ้มน้ำไว้ไม่ได้สำหรับการเพาะปลูก นอกจากนั้นก็ยังมีการใช้สารเคมีจำนวนมาก เป็นตัวที่ทำให้ดินเสื่อมสภาพ ดังนั้นจึงมีโครงการที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้บรรจุอยู่ในแผนงบประมาณปี 2568 และปีต่อ ๆ ไป เพื่อที่จะเข้ามาแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน คาดว่าจะใช้งบประมาณในปี 2568 กว่า 668 ล้านบาท"

นอกจากปัญหาที่สำคัญไม่ต่างจากดิน ก็คือ “การขาดแคลนน้ำ” อยู่ในพื้นที่ฝนตกน้อย เมื่อเทียบภับภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย และฝนที่ตกส่วนใหญ่ไปตกอีสานตอนบน ส่วนอีสานตอนกลางและล่างลงมาฝนตกน้อยมาก เพราะฉะนั้นเกษตรกรที่ทำภาคเกษตรพึ่งพาน้ำฝนเป็นหลัก จึงไม่สามารถที่จะทำผลผลิตต่อไร่ได้มากเท่ากับภาคอื่น ๆ 

ปัจจุบันมีพื้นที่ชลประทานในภาคอีสาน 8.5 ล้านไร่ จากพื้นเกษตร 64.29 ล้านไร่  ดังนั้นหากเห็นความสำคัญของภาคนี้จำเป็นต้องทุ่มงบประมาณลงมาให้มากกว่านี้ แล้วเรื่องการขอใช้พื้นที่ก็มีปัญหามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมอีก

 

“นฤมล”เตรียมเทงบกว่า 1.5 ล้านล้าน เพิ่มรายได้คนอีสาน

 

"ภายใต้ข้อจำกัดที่มีก็ได้บรรจุในแผนพัฒนาแหล่งน้ำสำหรับพื้นที่ภาคอีสาน จำนวน 2,774 โครงการ งบประมาณ 1.54 ล้านล้านบาท หวังว่าอีก 12 ปี (2568-2580 )  จะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 14.4 ล้านไร่ นี่คือเป้าหมายของกระทรวงที่ต้องการให้เกษตรกรภาคอีสานยกระดับรายได้"  รัฐมนตรีเกษตรฯ  กล่าวย้ำ ในตอนท้าย