GISTDA เจาะลึก  ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ เครื่องมือสร้างความมั่นคงประเทศ

02 ก.ย. 2565 | 23:54 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2565 | 21:53 น.

รู้หรือไม่ว่า “อวกาศ” หรือ “Space” เป็นเรื่องใกล้ตัวที่วนอยู่รอบเรา และยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ

“การแอพพลายเทคโนโลยีจากอวกาศสู่ชุมชน...เรื่องนี้เหมือนไกลตัว แต่จริงๆ มันเป็นองค์ประกอบทางเศรษฐกิจ เด็กๆ ถ้าสนใจเรื่องพวกนี้ เส้นทางอาชีพมีรออยู่แล้ว”…“ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด” รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA อธิบาย


  GISTDA เจาะลึก  ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ เครื่องมือสร้างความมั่นคงประเทศ

ด้วยความสนใจในเรื่องอวกาศ ทำให้ “ดร.ดำรงฤทธิ์” เลือกที่เรียนต่อเรื่องอวกาศที่เยอรมัน และสวีเดน หลังจบวิศวกรไฟฟ้า และกลับมาทำงานเอกชนญี่ปุ่น ทำได้ไม่ถึงปีก็มาทำที่ GISTDA และได้ไปศึกษาเพิ่มเติมด้านดาวเทียมที่ฝรั่งเศสอีก 2 ปี

การทำงานที่ GISTDA เกือบ 20 ปี ดูเรื่องภารกิจกิจการอวกาศมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการทำดาวเทียม ควบคุมดาวเทียม รวมถึงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมอวกาศ จึงทำให้รู้ข้อมูลด้านอวกาศอย่างลึกซึ้ง และเข้าใจถึงความเชื่อมโยงในการนำฐานความรู้ด้านอวกาศมาสานต่อกับเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งกลุมธุรกิจโทรคมนาคมและการนำทาง คือส่วนที่ใช้ข้อมูลเหล่านี้ในการสร้างเศรษฐกิจมากที่สุด จากมูลค่า “เศรษฐกิจอวกาศ” รวมกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ที่ขยับขึ้นทุกปี

GISTDA เจาะลึก  ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ เครื่องมือสร้างความมั่นคงประเทศ

“ดร.ดำรงค์ฤทธิ์” อธิบาย ให้เข้าใจถึงเศรษฐกิจอวกาศแบบง่ายๆ ด้วยการยกตัวอย่างถึงโลจิสติกส์การเดินเรือ คนส่วนใหญ่ยังใช้ประสบการณ์ของกัปตัน คู่กับข้อมูลจากดาวเทียมพยากรณ์อากาศ ทั้งๆ ที่ GISTDA มีข้อมูลดาวเทียมที่มองเห็นได้เลยว่า เส้นทางนั้นจะมีคลื่นทะเลอย่างไร มีพายุไหม ทำให้สามารถนำมาวิเคราะห์และกำหนดเส้นทางเดินเรือได้ 


ซึ่งส่วนนี้คือ ข้อมูลด้าน Future Earth ที่ด็อกเตอร์ พยายามผลักดันให้เกิดการนำมาใช้และสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง
  GISTDA เจาะลึก  ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ เครื่องมือสร้างความมั่นคงประเทศ

Future Earth เป็นการนำดาวเทียมออกไปนอกโลก แล้วมองกลับมาว่า จะเกิดอะไรขึ้น โลกต้องการอะไร ซึ่งสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์เพื่อการสร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ ตอบโจทย์การดำรงชีวิตประจำวันได้ดีขึ้น และเป็นการทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน 
 

“บางคนทำเรื่องขยะอวกาศ แอพพลายเทคโนโลยีจากอวกาศสู่ชุมชน หรือ นำมาศึกษาวิเคราะห์ เพื่อแก้ปัญหาในอนาคต”
 

อย่างเรื่องน้ำท่วมกรุงเทพฯ ที่เกี่ยวกับปัญหาโลกร้อน ฝนจะตกหนักขึ้น แต่ตกช่วงสั้นๆ หากนำข้อมูลดาวเทียมที่มี ไปวิเคราะห์ จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาในระยะยาวและยั่งยืน ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปเรื่อยๆ หรือ ข่าวเรื่องอีก  30 ปี กรุงเทพฯ จะจมน้ำ ...จริงไหม ก็ต้องมาคุยกันและศึกษา แต่คนที่ศึกษาเรื่องนี้ กลับเป็นเนเธอร์แลนด์ เขามีข้อมูลการทรุดตัวของดิน การหายของแผ่นดิน มีข้อมูลย้อนหลังกว่า 20 ปี แต่ไทยไม่เคยทำ หรืออีกเรื่อง คือ คาร์บอนเครดิต ซึ่งการเก็บข้อมูลต้องใช้ข้อมูลจากอวกาศมากกว่า 50% 
 

“Future Earth สามารถลิงค์ได้ว่า อีก 30 ปีข้างหน้า หากเราจะสร้างโครงการคอนโดริมน้ำ มันจะเป็นอย่างไร เราจะเจอกับอะไร หรือ 100 ปี ที่ดินตรงนั้นไม่มีแล้ว เราจะต้องทำอย่างไร ณ เวลานี้” 
 

ด็อกเตอร์ ยังขยายความถึง เรื่องของ Micro-Climate หรือภูมิอากาศขนาดย่อม อาจจะฟังไม่ค่อยเข้าหูเท่าไหร่นัก Micro-Climate เป็นคำที่เอาไว้เรียกภูมิอากาศ ณ พื้นที่หนึ่งๆ ที่มีความจำเพาะ ไม่สามารถระบุพื้นที่หรือขอบเขตได้ชัดเจน แต่หากเฉพาะเจาะจงไปที่พื้นที่เกษตรกรรม ซึ่ง Future Earth ได้ตั้งตรีมเรื่องของ Micro-Climate Mega-Farm ที่เกษตรกรต้องศึกษาและปรับตัว เมื่อนำฐานข้อมูลด้านนี้เข้าไปจับ จะพบว่า เกษตรกรจะต้องทำการเกษตรอย่างไร เตรียมตัวอย่างไร เพื่อลดความเสี่ยง และสร้างให้เกิดผลผลิตที่ดีสุดได้
 

ทุกเรื่องเกี่ยวกับ ข้อมูลทางอวกาศ ที่สามารถนำมาวิเคราะห์ และเตือนภัย นำมาวางแผน เพื่ออนาคตได้ โดยเป้าหมายของ “ดร.ดำรงค์ฤทธิ์” คือ อยากให้ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทั่วไป เข้าใจถึงเรื่องราวเหล่านี้ และนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ทุุกวันนี้ จำนวนบุคลากรที่มีความรู้ด้านอวกาศยังมีน้อย แม้ GISTDA จะพยายามทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษา 7 แห่ง เพื่อพัฒนาบุคลากรเหล่านี้ให้เพิ่มขึ้น
 

รวมทั้ง ที่ อู่ฮั่น ประเทศจีน ภายใต้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่เป็นองค์ประธาน ในการพัฒนาหลักสูตรปริญญาโท ภูมิสนเทศ โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง GISTDA ม.บูรพา และทางอู่ฮั่น ที่ขณะนี้มีผู้ศึกษาจบมาแล้ว 4-5 รุ่น
 

“ดร.ดำรงค์ฤทธิ์” ย้ำว่า เรื่องของเศรษฐกิจอวกาศเป็นเรื่องสำคัญ ขณะนี้ภาครัฐพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. กิจการอวกาศ ซึ่งผ่านครม.แล้ว และหากสามารถผลักดันเศรษฐกิจอวกาศได้ชัดเจนมากขึ้น ก็จะมีการจัดการเรื่องกองทุนที่จะนำมาทำเรื่องอวกาศได้ ซึ่งจะสามารถขับเคลื่อนทำให้เกิด Space Sustainability สร้างเศรษฐกิจที่ยั่งยืนให้กับประเทศได้อีกทางหนึ่ง 

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,814 วันที่ 1 - 3 กันยายน พ.ศ. 2565