‘อินสไปร์ ไอวีเอฟ’ เล็ง 3-5 ปีเข้าตลาดฯ ขยายบริการ สู่ต่างประเทศ

26 พ.ย. 2565 | 03:02 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2565 | 10:33 น.

แม่ทัพ “อินสไปร์ ไอวีเอฟ” เผยธุรกิจคลินิก เพื่อการเจริญพันธุ์เริ่มฟื้น หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย อินเดียกลุ่มลูกค้าหลัก พร้อมบินเข้ารับบริการ ตั้งเป้าอีก 3-5 ปี นำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ลุยขยายสาขาต่างประเทศ 

“เกศินี กุลดิลก” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินสไปร์ ไอวีเอฟ จำกัด เจ้าของ คลินิกอินสไปร์ ไอวีเอฟ คลินิกเพื่อการเจริญพันธุ์และการวางแผนครอบครัว เล่าถึงธุรกิจคลินิครักษาผู้มีบุตรยาก ที่ใช้งบ 90 ล้านบาท เปิดบริการสาขาแรกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ชั้น 5 อาคารเพลินจิต เซ็นเตอร์ ทาวเวอร์โซน ปากซอยสุขุมวิท 2 เปิด และสามารถสร้างรายได้คุ้มทุนตั้งแต่ช่วง 2 ปีแรก โดยมีลูกค้าหลักกว่า 95% เป็นลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะ อินเดีย และจีน
 

 

ในช่วงโควิดที่มีการปิดประเทศ ทำให้ลูกค้าต่างชาติเดินทางเข้ามาใช้บริการไม่ได้ บริษัทฯ ต้องปรับตัว พร้อมทำการตลาดทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ เพื่อดึงและสร้างฐานลูกค้าในประเทศ โดยไม่แข่งขันเรื่องราคาเหมือนผู้ให้บริการรายอื่นๆ แต่เน้นการชูจุดแข็งอัตราความสำเร็จในการได้ลูกของผู้ใช้บริการ ที่มีถึง 70-80% ถือเป็นอันดับ 1 ใน 5 ของประเทศทันทีที่โควิดคลี่คลาย รัฐบาลหลายประเทศเริ่มเปิดให้ประชาชนเดินทางได้ ลูกค้าฝั่งอินเดียก็พร้อมเข้ารับบริการทันที เนื่องจากมาตรฐานทางการแพทย์ของไทย เป็นที่ยอมรับและเชื่อถือ

“เกศินี” เล่าว่า ตอนนี้สิ่งที่บริษัทให้ความสำคัญ คือ การทำตลาดออนไลน์และออฟไลน์ต่อเนื่อง ส่วนต่างประเทศ เช่น อินเดีย บริษัทเน้นการจัดสัมมนาให้ความรู้ พร้อมชูจุดแข็งนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และอัตราความสำเร็จของการได้บุตร รวมถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการคัดกรองโครโมโซม และการเลี้ยงตัวอ่อน ประกอบกับการให้บริการที่ซื่อสัตย์ และจริงใจ ทำหน้าที่เหมือนเป็นพาร์ทเนอร์ คอยประกบให้คำปรึกษากับลูกค้า
  ‘อินสไปร์ ไอวีเอฟ’ เล็ง 3-5 ปีเข้าตลาดฯ ขยายบริการ สู่ต่างประเทศ

ตลาดคลินิครักษาผู้มีบุตรยาก ถือเป็น Blue Ocean ที่ยังมีแนวโน้มการเติบโตสูง เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายประเทศเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่า ปี 2568 ผู้สูงอายุจะเพิ่มเป็น 25% ของประชากรทั้งหมด หรือมีจำนวนมากถึง 16 ล้านคน ซึ่งมีสาเหตุมาจากสังคมในปัจจุบันมีบุตรลดลง
 

นอกจากนี้ ข้อมูลจาก Allied Market Research ระบุว่า ในปี 2570 ตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยาก (fertility tourlist) ทั่วโลก จะมีมูลค่าอยู่ที่ 3.36 หมื่นล้านดอลลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1 ล้านล้านบาท เติบโตเฉลี่ยระหว่างปี 2562-2570 อยู่ที่ 14.2% ต่อปี โดยภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงสุด อยู่ที่ 5.62 พันล้านเหรียญสหรัฐ
 

สำหรับประเทศไทยคาดว่าตลาดท่องเที่ยวสำหรับผู้มีบุตรยากในปี 2570 จะมีมูลค่ากว่า 1.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6 หมื่นล้านบาท โดย Krungthai COMPASS วิเคราะห์เรื่อง “เกาะเทรนด์ธุรกิจ IVF หลังวิกฤติโควิด-19 ธุรกิจแห่งความหวังของผู้อยากมีบุตร” ระบุว่าตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยวิธีการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) จะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้งหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง โดยคาดว่า ภาพรวมตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยวิธี IVF ทั่วโลกจะมีมูลค่าแตะระดับ 2.31 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2570 คิดเป็นอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 16.4% เพิ่มขึ้นจากปี 2563 เกือบ 3 เท่า และไทยเป็นประเทศที่มีโอกาสในธุรกิจนี้สูง เนื่องจากการยอมรับในฝีมือแพทย์ไทย
 

“เกศินี” กล่าวว่า อินสไปร์ ไอวีเอฟ มีแผนที่จะรองรับการเติบโตของตลาด โดยในอีก 3-5 ปี จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อการลงทุนขยายตลาด เพิ่มสาขา และรุกสูงตลาด
ต่างประเทศต่อไป

 

หน้า 16 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,838 วันที่ 24 - 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565