จากเมืองขยายตัวพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนมากขึ้น บริษัทอสังหาริมทรัพย์ทุกค่ายต่างปรับตัว พัฒนาโครงการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
เช่นเดียวกับ “สถาพร เอสเตท” (SATHAPORN ESTATE) ประกาศรุกตลาดอสังหาริมทรัพย์อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งแนวราบและแนวสูง ในเมือง และนอกเมืองแนวรถไฟฟ้า โดยทิ้งภาพเดิมๆ ที่เคยรู้จักในชื่อ “บ้านสถาพรรังสิต” ภายใต้ บริษัท เฉลิมนคร จำกัดและบริษัทบ้านทรัพย์หิรัญ จำกัด บริษัทและแบรนด์เก่าแก่เกือบ 30 ปี
ที่เห็นชัดเจนและกลายเป็นภาพจำ “สุนทร สถาพร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้ “รีเฟรชแบรนด์” จัดพอร์ตการลงทุนใหม่ พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมโครงการแรก ภายใต้แบรนด์“เดอะ เชดด์ สาทร1” และยังมี โครงการ “อิเธอร์นิตี้ ทาวน์ พริมโรส วัชรพล” โครงการ ”ดิ อิเธอร์นิตี้ กรีนวู้ด รังสิต-วงแหวน ฯลฯ
ที่เป็นไฮไลต์โครงการเรือธง “เดอะ คราวน์ เรสซิเดนท์เซส” คอนโดมิเนียมหรูไฮไรส์ ทำเลใจกลางเมือง ย่านพระราม4-สาทร ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีในขณะนี้ โดยมุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาโครงการที่ทันสมัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตของคนรุ่นใหม่
ภายใต้กลยุทธ์สำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ นั่นคือ “Revitalize” ซึ่งหมายถึง การเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อรองรับการรุกธุรกิจอย่างมีศักยภาพ เริ่มตั้งแต่การพัฒนา Product ภายใต้ Brand ใหม่ที่ถูกออกแบบมาในแนวคิด “For The Nature Of Life” จึงพัฒนาเพื่อชีวิตอยู่คู่ธรรมชาติอย่างยั่งยืน ทำให้ผู้อยู่อาศัยอยู่แล้วมีความสุขอย่างยั่งยืน ไปพร้อมๆ กับสังคมรอบข้าง
“สุนทร” เล่าว่า ได้มุ่งมั่นศึกษา มาตั้งแต่ปี 2564 และวิเคราะห์ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่ม Mid to High ซึ่งเป็น Segment ที่บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนามาโดยตลอด โดยเป็นการศึกษาเพื่อสร้างสรรค์สิ่งที่ตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป นับเป็นสูตรความสำเร็จการพัฒนาที่อยู่อาศัยของ “สุนทร” ที่มองว่า ไม่ใช่เพียงแค่ยอดขายหรือรางวัลทางการตลาด แต่ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน สำหรับผู้อยู่อาศัย
วันนี้ “สุนทร” สวมหมวกอีกใบในตำแหน่ง นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ท่ามกลางภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยยังคงอยู่ในภาวะฟื้นตัวไม่เต็มที่หลังผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 เศรษฐกิจซบเซา และต้นทุนก่อสร้าง ขณะเดียวที่กลุ่มผู้ประกอบการบ้านจัดสรรขนาดกลางถึงเล็กกำลังเผชิญกับความท้าทายในการรักษากระแสเงินสด ขณะเดียวกัน ยังต้องแข่งขันกับบริษัทยักษ์ใหญ่ที่มีทั้งเงินทุนและระบบบริหารจัดการที่แข็งแรง
หนึ่งในองค์กรที่ยังสามารถทรงตัวและเติบโตท่ามกลางความผันผวนนี้ คือ “สถาพร เอสเตท”ซึ่งได้ช่วงชิงจังหวะเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรม เป็นโอกาสในการยกระดับแนวคิดการสร้างบ้านไทย ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่การปรับเปลี่ยนดีไซน์เท่านั้น แต่เป็นการปรับทั้งแนวคิดกระบวนการผลิต องค์ความรู้ภายในองค์กร และมุมมองต่อคุณภาพชีวิตของทุกภาคส่วนในระยะยาว
“บ้านไม่ได้เป็นแค่ที่อยู่อาศัยอีกต่อไป แต่มันคือตัวสะท้อนแนวคิดชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความยั่งยืนและคุณภาพชีวิต”
“สุนทร” สะท้อนแนวคิดที่ทำให้เกิดการขับเคลื่อนความยั่งยืนไปควบคู่กับเทคโนโลยี ที่ “สถาพร เอสเตท” ดำเนินการ คือความกล้าในการนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้จากภายนอกมาเชื่อมกับทรัพยากรภายในองค์กรอย่างต่อเนื่อง
ทั้งการร่วมพัฒนาโมเดลบ้านเย็นกับพันธมิตรออกแบบอย่าง A49 บริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านสถาปัตยกรรมยั่งยืน การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการออกแบบระบบถ่ายเทอากาศที่ลดภาระของเครื่องปรับอากาศลงได้จริงในระดับหนึ่ง
อีกด้านคือ การทำงานร่วมกับบริษัทเทคโนโลยีอย่าง พานาโซนิค ซึ่งนำเสนอระบบบ้านอัจฉริยะที่ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ความสะดวกสบาย แต่ยังสามารถช่วยจัดการพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดค่าใช้จ่ายระยะยาวให้ผู้บริโภค และสร้างภาพจำใหม่ให้กับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
อีกหนึ่งจุดแข็งในมุมมองของ “สุนทร” มองภาพชัดในยุคปัจจุบันที่ถูกแทรกแซงด้วยทุนจากต่างชาติและทุกบริษัทต้องปรับตัวในการทำ Digital Transformation คือ การยกระดับ “ทุนมนุษย์” ให้ตอบโจทย์การทำงานข้ามสายงาน และเข้าใจการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือมากกว่า จะมองเป็นภาระขององค์กร
บริษัทได้ลงทุนกับระบบการเรียนรู้ภายใน ปรับการบริหารงานเป็นแบบ Agile ลดขั้นตอนสายงานที่ซ้ำซ้อน และเปิดพื้นที่ให้พนักงานได้คิดเชิงนวัตกรรม เช่น โครงการประกวดแนวคิดพัฒนาบ้านประหยัดพลังงาน ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงกิจกรรมเชิงภาพลักษณ์ แต่เป็นการนำแนวคิดจริงไปต่อยอดในโครงการจริง รวมถึงการใช้ระบบ Big Data และ AI เพื่อบริหารจัดการหลังการขาย โดยเฉพาะในส่วนของนิติบุคคลที่เป็นส่วนสำคัญของการดูแลหลังการขายในมู่บ้านจัดสรร
“หากเราสู้จีนไม่ได้ในเรื่องต้นทุน ก็ต้องชนะด้วยคุณภาพและกระบวนการผลิตที่เร็วกว่า ฉลาดกว่า” สุนทรกล่าว พร้อมยกตัวอย่างว่า บริษัทได้นำ AI, Big Data มาใช้ในการบริหารจัดการนิติบุคคลและหมู่บ้านจัดสรร พร้อมส่งเสริมให้พนักงานทำงานข้ามสายงาน เพื่อสร้างทีมเวิร์กที่คล่องตัวและคิดได้รอบด้าน
ในบทบาทอีกด้านของผู้นำสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร “สุนทร” ได้ผลักดันแนวทางให้รัฐและธนาคารพาณิชย์พิจารณาโมเดล “โรงเรียนการเงิน” ซึ่งริเริ่มโดยธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.) เป็นแนวทางเสริมสร้างวินัยทางการเงินให้ประชาชน พร้อมเตรียมความพร้อมสำหรับการกู้ซื้อบ้านในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้ไม่ประจำ เช่น ฟรีแลนซ์ หรือผู้ค้ารายย่อย
แนวคิดนี้ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มฐานลูกค้าให้กับผู้ประกอบการ แต่ยังสร้างระบบเศรษฐกิจระดับฐานรากที่มั่นคงขึ้นในระยะยาว ซึ่งถือเป็นทางเลือกเชิงโครงสร้างที่สามารถแทนการลดภาษีชั่วคราวได้อย่างยั่งยืน ยังไม่รวมข้อเสนอภาครัฐการจัดระเบียบกฎหมายต่างๆให้เข้าที่เข้าทาง
แนวคิดของ “สุนทร” สะท้อนภาพของผู้นำที่ไม่ได้คิดเพียงเพื่อให้องค์กรอยู่รอดเท่านั้น แต่ต้องการวางระบบให้ทั้งอุตสาหกรรมสามารถไปต่อได้ในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปและต้องเผชิญกับหลากหลายวิกฤตในทุกปี โดยมีการพัฒนา “บ้านที่ดีต่อผู้อยู่ ดีต่อสิ่งแวดล้อม และดีต่อระบบเศรษฐกิจ” เป็นศูนย์กลาง