climatecenter

โลกร้อนปลุกไวรัสข้ามสายพันธุ์ใหม่ระบาดกว่า 15,000 ครั้งภายในปี 2070

    นักวิทย์เตือนนับถอยหลังสู่วิกฤตการณ์โรคระบาด โลกร้อนทำมนุษยชาติต้องเผชิญหน้ากับไวรัสร้ายข้ามสายพันธุ์ใหม่กว่า 15,000 สายพันธุ์ภายในปี 2570

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก ล่าสุด นักวิทยาศาสตร์เตือนว่า ภาวะโลกร้อน อาจเพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายของ "เชื้อไวรัสข้ามสายพันธุ์" จากสัตว์สู่มนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่การระบาดร้ายแรงในอนาคต

 

การศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ระบุว่า เมื่ออุณหภูมิโลกสูงขึ้น สัตว์หลายชนิดมีแนวโน้มที่จะอพยพไปยังสภาพแวดล้อมใหม่ โดยนำปรสิตและเชื้อโรคติดตัวไปด้วย ส่งผลให้เกิดการแพร่เชื้อไวรัสระหว่างสายพันธุ์ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน

 

นักวิจัยคาดการณ์ว่า อาจเกิดการแพร่กระจายของไวรัสข้ามสายพันธุ์ใหม่อย่างน้อย 15,000 ครั้งภายในปี 2070 หากอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นทะลุ 2 องศาเซลเซียส

 

แม้ว่าการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดต่างๆ อาจเกิดขึ้นได้ทั่วโลก แต่มีแนวโน้มจะพบมากในเขตร้อน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของโรคติดเชื้อส่วนใหญ่ที่สามารถแพร่จากสัตว์สู่คน เช่น ภูมิภาคแอฟริกาเขตร้อนและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีค้างคาวเป็นพาหะสำคัญที่มีโอกาสแพร่เชื้อสู่มนุษย์ได้สูง

 

นักวิทยาศาสตร์ย้ำว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในฮอตสปอตการแพร่กระจายของไวรัสข้ามสายพันธุ์อาจเกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากภาวะโลกร้อนกำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับการระบาดของโควิด-19 ที่มีแนวโน้มแพร่จากค้างคาวสู่สัตว์อื่นและต่อมาสู่มนุษย์

 

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคติดเชื้อจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจป้องกันได้หากมีมาตรการเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพเพื่อปกป้องประชากรสัตว์และมนุษย์

 

ท่ามกลางผลกระทบอื่นๆ มีข้อสังเกตุว่า โรคติดเชื้อถึง 375 โรคที่ส่งผลต่อมนุษย์ หรือ 58% อาจรุนแรงขึ้นเนื่องจากอันตรายจากสภาพอากาศ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วและเด็ดขาดเพื่อบรรเทาวิกฤตด้านสาธารณสุขที่กำลังจะเกิดขึ้น

 

องค์การอนามัยโลกได้ร่วมกับนักวิทยาศาสตร์หลายร้อยคนจากทั่วโลกรวบรวมรายงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโรคระบาดปี 2023 พร้อมเน้นย้ำถึงปัจจัยเสี่ยง 3 ประการ ที่อาจทำให้โรคติดเชื้อรุนแรงขึ้น ได้แก่...

  • อุณหภูมิที่สูงขึ้น
  • เหตุการณ์ทางภูมิอากาศที่รุนแรงบ่อยครั้ง
  • การอพยพย้ายถิ่นโดยอาศัยสภาพภูมิอากาศ

 

ทั้งนี้ ประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงกว่าจากภัยพิบัติด้านสภาพอากาศแต่มีศักยภาพในการปรับตัวและรับมือน้อยกว่า ชุมชนเปราะบางเหล่านี้จำเป็นต้องได้รับการลงทุนในระบบสาธารณสุขที่มีความยืดหยุ่นและมาตรการรองรับ แทนที่จะมองในมุมมืดถึง "ความหายนะของสภาพภูมิอากาศ" และหันมาเรียนรู้จากความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของโควิด-19

 

อ้างอิง: