climatecenter

งัด 5 มาตรการ รับมือน้ำท่วมกทม. มวลน้ำภาคเหนือถึงกรุงเทพ 2 ก.ย. นี้

    “วิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่ากทม.” เผย 5 มาตรการป้องกันน้ำท่วมกทม. รับมือมวลน้ำภาคเหนือ ที่จะมาถึงกทม. 2 ก.ย.นี้  เสริมแนวเขื่อน 80 กม. เตรียม 200 สถานีสูบน้ำ เปิดทาง 1,300 คลอง พร้อมเฝ้าระวัง 24 ชม.

กรุงเทพมหานครเร่งเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำเหนือหลากและน้ำฝน เพื่อ "ป้องกันน้ำท่วมกทม." หลังพบฝนตกหนักในภาคเหนือส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยคาดการณ์ว่ามวลน้ำจากจังหวัดสุโขทัยจะเข้าถึงกรุงเทพฯ ในวันที่ 2 กันยายน 2567

งัด 5 มาตรการ รับมือน้ำท่วมกทม. มวลน้ำภาคเหนือถึงกรุงเทพ 2 ก.ย. นี้

นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยถึง 5 มาตรการสำคัญในการรับมือน้ำท่วม ดังนี้

  1. เสริมแนวป้องกันริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ ยาว 80 กิโลเมตร สูงกว่าระดับน้ำท่วมปี 2554
  2. เตรียมสถานีสูบน้ำ 200 แห่ง พร้อมเจ้าหน้าที่และอุปกรณ์เฝ้าระวัง 24 ชั่วโมง
  3. เปิดทางระบายน้ำใน 1,300 คลอง
  4. ล้างท่อระบายน้ำรวมระยะทาง 4,300 กิโลเมตร
  5. ปิดจุดเสี่ยงน้ำท่วมกว่า 60 จุดทั่วกรุงเทพฯ

คาดน้ำจากสุโขทัยเข้า กทม. 2 ก.ย.นี้ 

นายวิศณุ สถานการณ์น้ำ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา อันได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสัก เปรียบเทียบ ณ วันและเวลาเดียวกัน (25 ส.ค. 66 กับ 25 ส.ค. 67) พบว่า ปีนี้ดีกว่าและยังสามารถรองรับน้ำได้เพิ่ม

ทั้งนี้ ต้องเฝ้าระวังและติดตามอย่างใกล้ชิดจากมวลน้ำที่มาจากแม่น้ำยม ซึ่งจะไม่ไหลเข้าเขื่อนหลักและระบายลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมวลน้ำไหลลงมาถึงจังหวัดสุโขทัย และคาดว่าจะมาถึงกรุงเทพมหานคร ใช้เวลาประมาณ 6 วัน (2 ก.ย. 67)

 

กรุงเทพฯ เตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม 2567 เสริมแนวป้องกันริมแม่น้ำ 80 กม. เตรียมสถานีสูบน้ำ 200 แห่ง เปิดทางระบายน้ำใน 1,300 คลอง ล้างท่อระบายน้ำ 4,300 กม. ปิดจุดเสี่ยงน้ำท่วม 60 จุด คาดการณ์: น้ำจากสุโขทัยจะเข้าถึง กทม. วันที่ 2 ก.ย. 2567 ติดตามสถานการณ์น้ำและฝนได้ที่: • Facebook และ X: กรุงเทพมหานคร, ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กทม. • เว็บไซต์: www.prbangkok.com, dds.bangkok.go.th • แจ้งเหตุ: Traffy Fondue, Facebook ศูนย์ประสานงานน้ำท่วม กทม. • สายด่วน: 1555, ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำ: 02-248-5115 ข้อมูล ณ วันที่ 27 ส.ค. 2567

 

โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังก่อนถึงกรุงเทพมหานครคือที่สถานีบางไทร ซึ่งอัตราการระบายน้ำที่สถานีบางไทร ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 800 ลบ.ม./วินาที โดยอัตราการระบายน้ำที่ต้องเฝ้าระวังอยู่ที่ 2,500 ลบ.ม./วินาที

 

เสริมคันกั้นน้ำริมเจ้าพระยายาว 80 กม. สูงกว่าน้ำท่วม54 

นายวิศณุ กล่าวว่า กทม. ได้เตรียมพร้อมการบริหารจัดการน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วมต่าง ๆ และตรวจสอบความแข็งแรงและจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วมริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ ความยาวประมาณ 80 กิโลเมตร ซึ่งหลังจากปี 54 เป็นต้นมา ได้เสริมแนวคันกั้นน้ำถาวรริมเจ้าพระยาสูงขึ้นตลอดแนวที่ระดับ 2.80-3.50 ม.รทก. และเรียงกระสอบทรายเป็นเขื่อนชั่วคราวในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) และบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำตามจุดต่าง ๆ

รวมทั้งตรวจสอบความพร้อมของสถานีสูบน้ำริมแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 96 สถานี และบ่อสูบน้ำตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่งในช่วงน้ำทะเลขึ้น พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังประจำจุด เครื่องสูบน้ำสำรอง เรือผลักดันน้ำ วัสดุอุปกรณ์ กระสอบทราย ตลอดจนเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการเร่งด่วนเคลื่อนที่ (BEST) และอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมปฏิบัติการและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ทันทีเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม ตลอด 24 ชั่วโมง

งัด 5 มาตรการ รับมือน้ำท่วมกทม. มวลน้ำภาคเหนือถึงกรุงเทพ 2 ก.ย. นี้

สำหรับชุมชนนอกคันกั้นน้ำแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 16 ชุมชน 731 ครัวเรือน ในพื้นที่ 7 เขต ซึ่งอาจจะได้รับผลกระทบและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม ได้สั่งการให้สำนักงานพื้นที่ ประกอบด้วย เขตดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และเขตคลองสาน ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนชุมชนและให้เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนหากเกิดปัญหาระดับน้ำขึ้นสูง นอกจากนี้ได้สั่งการสำนักงานเขตที่มีพื้นที่อยู่ตามแนวริมแม่น้ำเจ้าพระยาสำรวจพื้นที่บ้านเรือนของประชาชน จัดเตรียมกำลังเจ้าหน้าที่เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกรณีฉุกเฉินต่าง ๆ อย่างทันท่วงที


ภาพรวมปีนี้ กทม. รับมือสถานการณ์ฝนได้ดี ท่วมน้อย ลดเร็ว 

นายวิศณุ ระบุว่า ปริมาณฝนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปี 2567 พบว่า ในเดือนสิงหาคมมีปริมาณฝนอยู่ที่ 208.5 มิลลิเมตร มีค่าน้อยกว่าปี 2566 ซึ่งมีค่าอยู่ที่ 224 มิลลิเมตร และปริมาณฝนสะสมในปี 2567 อยู่ที่ 842.5 มิลลิเมตร มีค่าใกล้เคียงกับปี 2566 อยู่ที่ 811.50 มิลลิเมตร ทั้งนี้ จากสถานการณ์ฝนในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่ากรุงเทพมหานครมีความพร้อม ทั้งในด้านของอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ รวมไปถึงความพร้อมของประตูระบายน้ำและคันกั้นน้ำริมแม่น้ำในการรับมือกับสถานการณ์น้ำฝน น้ำเหนือและน้ำทะเลหนุนที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 

โดยการรับมือสถานการณ์ฝนของ กทม. ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด คือ การลดระดับน้ำรองรับสถานการณ์ฝน อาทิ พร่องน้ำในคลอง สร้างธนาคารน้ำ(water bank) แก้มลิง การเตรียมความพร้อมระบบระบายน้ำ โดยล้างทำความสะอาดและบำรุงรักษา อุโมงค์ระบายน้ำ ประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำ แล้วเสร็จ 100% ทุกจุด รวมถึงการเตรียมความพร้อมอุปกรณ์และเจ้าหน้าที่ ทำให้น้ำท่วมขังหลังฝนตกหนักในปีนี้ลดลงเร็ว

งัด 5 มาตรการ รับมือน้ำท่วมกทม. มวลน้ำภาคเหนือถึงกรุงเทพ 2 ก.ย. นี้


เปิดทุกช่องทาง กทม. ให้ติดตามสถานการณ์น้ำและฝนอย่างใกล้ชิด

ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา รวมถึงทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร สามารถติดตามสถานการณ์น้ำและฝน ได้ที่

  • Facebook และ Xกรุงเทพมหานคร, ศูนย์ป้องกันน้ำท่วม กรุงเทพมหานคร
  • เว็บไซต์ www.prbangkok.com http:/ และ /dds.bangkok.go.th/
  • แจ้งเหตุเดือดร้อนและขอรับความช่วยเหลือจาก กทม. ได้ที่ Traffy Fondue, Facebook ศูนย์ประสานงานน้ำท่วม กทม.
  • สายด่วน โทร. 1555 ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำ โทร.022485115