climatecenter

ไทยเตรียมพร้อมเป็นฮับซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต” อาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์

    "ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช" อธิบดีกรมลดโลกร้อน ย้ำไทยพร้อมดันตลาดสู่ผู้นำอาเซียน เตรียมเป็นฮับกลางซื้อขาย “คาร์บอนเครดิต” ผ่านตลาดหลักทรัพย์

รัฐบาลภายใต้การนำของ “แพทองธาร ชินวัตร” ได้เน้นย้ำความสำคัญของการสร้างความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในฐานะเสาหลักสำคัญในการพัฒนาประเทศ นโยบายที่ชัดเจนในการอนุรักษ์ทรัพยากร การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ควบคู่ไปกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

 

รัฐบาลได้ประกาศแผนฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอย่างจริงจัง รวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ถูกทำลายจากกิจกรรมของมนุษย์ อีกทั้งยังส่งเสริมให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรเพื่อสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้วางแผนจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะ PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย

ในขณะเดียวกัน "ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง" ก็ได้รับความสำคัญในการจัดการ รัฐบาลได้เตรียมแผนเพิ่มประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการน้ำทั้งระบบเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนและภาคอุตสาหกรรม รวมถึงการเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำและการกระจายน้ำให้เข้าถึงทุกพื้นที่ในประเทศ เพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

อีกหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ คือ "ความเป็นกลางทางคาร์บอน" (Carbon Neutrality) เพื่อให้ประเทศไทยเป็นผู้นำของอาเซียนในด้านการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะช่วยเปิดประตูบานใหญ่สู่การค้าโลกและช่วยสร้างข้อได้เปรียบให้ผู้ผลิตสินค้า และบริการในประเทศ ตลอดจนส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านการซื้อขาย "คาร์บอนเครดิต" (Carbon Credit) ของอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ไทย

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้ให้สัมภาษณ์กับ ฐานเศรษฐกิจ ว่าด้วยเรื่องการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขาย "คาร์บอนเครดิต" ในอาเซียนผ่านตลาดหลักทรัพย์ โดยระบุว่า การเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอาเซียนถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดตลาดคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ แต่ปัญหาสำคัญที่พบในตลาดคาร์บอนเครดิตทั่วโลกคือ ขาดสภาพคล่อง และการซื้อขายไม่ได้เกิดขึ้นจริงตามกลไกอุปสงค์และอุปทาน ซึ่งส่งผลให้ตลาดไม่สามารถขับเคลื่อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ประเทศไทยจึงเล็งเห็นความจำเป็นในการออกพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อสร้างความต้องการจริงในตลาด โดยจะเชื่อมโยงตลาดภาคบังคับกับตลาดคาร์บอนเครดิตโดยสมัครใจให้สอดคล้องกัน การดำเนินการนี้จะช่วยให้สามารถกำหนดความต้องการของคาร์บอนเครดิตแต่ละประเภทได้อย่างชัดเจน และเชื่อมโยงกับชุมชนในการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน

 

นอกจากนี้ ยังมีการหารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการเขียนบทบัญญัติให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักของประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสภาพคล่องที่เกิดจากการมีหลายตลาด โดยมีเป้าหมายที่จะให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพที่สุด

 

ทั้งนี้ประเทศไทยมีขนาดของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 372 ล้านตันต่อปี ซึ่งมากกว่าสิงคโปร์ที่มีเพียง 50 ล้านตันเท่านั้น เมื่อเทียบแล้วตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยมีศักยภาพในการเติบโตได้มากกว่า 5-6 เท่าของสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นตลาดที่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตค่อนข้างคึกคักในอาเซียน

 

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการผลักดันมาตรฐาน T-VER ของอบก. (TGO) ซึ่งเป็นมาตรฐานคาร์บอนเครดิตของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคอาเซียน การใช้มาตรฐานนี้จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต โดยปัจจุบัน T-VER กำลังจะได้รับการยอมรับจากองค์การการบินระหว่างประเทศ (ICAO) ภายใต้กลไกลดก๊าซชีวภาพในการบิน

 

จากการดำเนินงานดังกล่าว ประเทศไทยมั่นใจได้ว่าจะสามารถขับเคลื่อนการซื้อขายคาร์บอนเครดิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกลายเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอาเซียน