วันที่ 18-19 ธันวาคม 2567 วัดสระเกศราชวรมหาวิหารเป็นศูนย์กลางของการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการหัวข้อ “บทบาทพระพุทธศาสนา เพื่อพัฒนาสู่สังคมคาร์บอนต่ำและนำแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของหลายองค์กร ได้แก่ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น มูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ (สกพ.) กรุงเทพมหานคร สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และอื่นๆ เพื่อเน้นย้ำถึงอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในมิติของการปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม และการนำพุทธศาสนามาบูรณาการกับวิถีชีวิตเพื่อขับเคลื่อนสังคมไปสู่ความยั่งยืน โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งพระสงฆ์ สามเณร และบุคคลทั่วไป
โดยพิธีเปิดงานได้รับเกียรติจาก พระเดชพระคุณ พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร และกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งได้ให้โอวาทถึงความสำคัญของพุทธศาสนาในการปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมแก่สังคม โดยเน้นบทบาทของ “พลังบวร” ที่ประกอบด้วย วัด บ้าน และโรงเรียน ซึ่งถือเป็นโครงสร้างสำคัญของการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ
นายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “พลังบวร เพื่อสิ่งแวดล้อมดี สังคมดี สุขภาพดี” โดยเน้นถึงบทบาทของกรุงเทพมหานครในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม ฝุ่น PM2.5 และการกัดเซาะชายฝั่งที่เขตบางขุนเทียน พร้อมเรียกร้องความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะศาสนสถานที่สามารถเป็นต้นแบบในการลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์และสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับชุมชน
ช่วงเวทีเสวนาของการอบรมเชิงปฏิบัติการดังกล่าวมีการแลกเปลี่ยนมุมมองที่หลากหลายจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ อาทิ พระครูธรรมธรอานนท์ กนฺตวีโร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดทอง, รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม, พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ประธานกรรมการมูลนิธิ สกพ., รศ.ดร.จินตวัฒน์ ไชยชนะวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น, รศ.ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, และ ภญ.ผลิน เทพทัตต์ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือเยาวชนส่งเสริม มูลนิธิ สกพ.
พระครูธรรมธรอานนท์ กนฺตวีโร ได้กล่าวถึงบทบาทของพระสงฆ์ในฐานะผู้นำทางจิตวิญญาณที่สามารถสร้างแรงบันดาลใจในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม และเล่าถึงโครงการ “วัดไทยไร้ขยะ” ที่เน้นการคัดแยกขยะในงานบุญ เช่น กฐินและผ้าป่า โดยชี้ให้เห็นว่า ขยะจากงานบุญเหล่านี้ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แต่ยังสะท้อนพฤติกรรมของผู้คนในชุมชนที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการนำของเหลือใช้มาแปรรูปหรือรีไซเคิล โดยกล่าวว่า “การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพระสงฆ์เอง จะช่วยสร้างต้นแบบให้ชุมชนตระหนักถึงการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การแยกขยะที่เกิดขึ้นในงานบุญ ไปจนถึงการลดการใช้พลาสติกแบบครั้งเดียว”
รศ.นพ. สุริยเดว ทรีปาตี ได้กล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างคุณธรรมและการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเพื่อแก้ไขวิกฤตโลกร้อน พร้อมนำเสนอ “ดัชนีพฤติกรรมคุณธรรม” (Morality Behavior Index) ซึ่งเป็นเครื่องมือประเมินพฤติกรรมที่สามารถบ่งชี้ระดับคุณธรรมในชุมชน โดยได้ชี้ว่า ความรับผิดชอบในระดับปัจเจกบุคคลและจิตสำนึกที่เกิดจากการปลูกฝังในครอบครัวและโรงเรียน สามารถกลายเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำ
รศ.ดร. สุนิดา อรุณพิพัฒน์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เน้นย้ำถึงหลักการคิด “โมะไตไน” ซึ่งเป็นแนวคิดที่ฝังลึกในวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยคำว่า 勿体無い (mottainai) สื่อถึงความเสียดายและความเคารพต่อทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือสิ่งของที่สูญเปล่าในชีวิตประจำวัน โดยชี้ว่าแนวคิดนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่หลักจริยธรรม แต่ยังสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อส่วนรวมที่ปลูกฝังมาตั้งแต่วัยเด็กผ่านระบบการศึกษาในญี่ปุ่น ซึ่งช่วยสร้างวินัยและจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มแข็งในสังคมญี่ปุ่น และเน้นย้ำว่า “ประเทศไทยมีคุณธรรมที่เป็นรากฐาน เช่น ความพอเพียงและจิตอาสา แต่ยังขาดโครงสร้างสนับสนุนที่ชัดเจนเพื่อเชื่อมโยงคุณธรรมเหล่านี้กับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม” พร้อมกล่าวถึงความจำเป็นในการปลูกฝังจิตสำนึกในเยาวชนผ่านระบบการศึกษาและกิจกรรมที่สามารถทำให้เยาวชนมีบทบาทเชิงรุกในการจัดการสิ่งแวดล้อม
ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความคิดเห็นในมุมมองของการสร้างจิตสำนึกและวินัยในชุมชน กล่าวถึงความสำคัญของวัดในฐานะศูนย์กลางของชุมชนในการสร้างพื้นที่สำหรับการเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ การจัดตั้งธนาคารขยะ และการส่งเสริมกิจกรรมที่ช่วยลดปริมาณขยะ และเน้นว่า “การเปลี่ยนแปลงในชุมชนต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ เช่น การใช้ภาชนะส่วนตัวแทนพลาสติก หรือการคัดแยกขยะตั้งแต่ในครัวเรือน ซึ่งวัดสามารถเป็นพื้นที่ตัวอย่างสำหรับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้”
ด้าน ภญ.ผลิน เทพทัตต์ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือเยาวชนส่งเสริม มูลนิธิสกพ. กล่าวถึงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนในระดับชุมชน พร้อมทั้งสนับสนุนให้เยาวชนมีบทบาทในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ของตนเอง สุดท้าย วิทยากรในวงเสวนาได้เน้นย้ำถึงบทบาทสำคัญของพุทธศาสนาในการสร้างความตระหนักรู้และจิตสำนึกต่อปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยใช้วัดเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงกับชุมชนและภาครัฐ เพื่อสร้างสังคมที่ยั่งยืนและลดผลกระทบต่อโลกใบนี้อย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ยังได้มีการนำเสนอ “ย่ามลดโลกร้อน” ที่ผลิตจากผ้าบังสุกุลที่ไม่ใช้แล้ว โดยย่ามนี้ได้รับการออกแบบเพื่อลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างมีประสิทธิภาพ เทียบเท่ากับการลดการปล่อยคาร์บอนจากการขับรถ 22 กิโลเมตร ย่ามดังกล่าวเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้กับแนวคิดวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
อย่างไรก็ดี การอบรมครั้งนี้มุ่งสร้างแรงบันดาลใจให้กับพระสงฆ์และผู้เข้าร่วมในมิติของการเรียนรู้และการปฏิบัติจริง การเชื่อมโยงพุทธศาสนากับความยั่งยืนในครั้งนี้ไม่ได้หยุดเพียงแค่ในเวทีเสวนา แต่ยังสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างวัด ชุมชน และองค์กรที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยก้าวไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคตอย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง