climatecenter

สำรวจรายงานความโปร่งใสบทแรก "สภาวการณ์ไทย" ในการต่อสู้วิกฤตโลกร้อน

    เปิดบทแรก รายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 (BTR1) เผยข้อมูลสำคัญภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ และโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ตัวแปรสำคัญแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ

รายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 (Thailand’s First Biennial Transparency Report : BTR1) ของประเทศไทยถูกจัดทำขึ้นอย่างเป็นทางการโดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสาระสำคัญในบทแรกเน้นให้เห็นถึง "สภาวการณ์และโครงสร้างเชิงสถาบันของประเทศ" ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในบทแรกของรายงานฉบับนี้ ได้สะท้อนถึงปัจจัยทางกายภาพ พลังงาน ทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญสำหรับการการตัดสินใจเชิงนโยบายในอนาคตและดำเนินการเพื่อลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างยั่งยืน

ประเทศไทยมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 513,115 ตารางกิโลเมตร โดยภูมิศาสตร์ที่หลากหลาย ตั้งแต่ที่ราบสูงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปจนถึงพื้นที่ชายฝั่งทะเลในภาคใต้ ทำให้มีทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตาม สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันได้สร้างความท้าทาย เช่น การลดลงของพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่าพื้นที่ป่าลดลงจากในปี พ.ศ. 2556 เหลือเพียง 31.6% ในปี พ.ศ. 2565

 

สรุปสาระสำคัญรายงานความโปร่งใสฉบับที่ 1 บทที่ 1

อุณหภูมิและปริมาณน้ำฝน

ในปี พ.ศ. 2566 อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 33.25 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้น 1.25 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2494 ขณะที่อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 23.50 องศาเซลเซียส เพิ่มขึ้นในระดับเดียวกัน ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยในปี 2565 อยู่ที่ 2,011 มิลลิเมตร สูงกว่ามาตรฐานปกติ 389 มิลลิเมตร และในปีเดียวกันนี้ ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูงกว่ามาตรฐานปกติถึง 10 เดือน

 

พลังงาน

การใช้พลังงานขั้นสุดท้ายในปี พ.ศ. 2565 อยู่ที่ 81,948 ktoe โดยส่วนใหญ่เป็นพลังงานเชิงพาณิชย์คิดเป็น 88.3% อย่างไรก็ตาม การผลิตพลังงานลดลงอยู่ที่ 57,875 ktoe ลดลง 7.4% โดยพลังงานเชิงพาณิชย์มีสัดส่วน 58.1% พลังงานหมุนเวียน 30.1% พลังงานหมุนเวียนแบบเก่า 7.9% เชื้อเพลิงชีวภาพ 3.4% และแหล่งพลังงานอื่นๆ 0.1% ในขณะเดียวกัน การใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นถึง 11,524 ktoe หรือ 10.2% โดยพลังงานหลักที่ใช้ในการผลิตความร้อน ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะชุมชน และก๊าซชีวภาพ ซึ่งคิดเป็น 54.6% ของการใช้พลังงานทดแทนทั้งหมด

 

ทรัพยากรธรรมชาติ

ในช่วงปี พ.ศ. 2562-2565 ประเทศไทยมีพื้นที่รวม 320,696,893 ไร่ หรือ 513,115 ตารางกิโลเมตร โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เพื่อการเกษตรประมาณ 178 ล้านไร่ รองลงมาคือพื้นที่ป่าไม้ 104 ล้านไร่ พื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้าง 20 ล้านไร่ พื้นที่แหล่งน้ำ 10 ล้านไร่ และพื้นที่อื่นๆ ประมาณ 8.97 ล้านไร่ ด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีพื้นที่รวม 101,678 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุม 24 จังหวัดชายทะเล โดยความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในปี พ.ศ. 2565 เพิ่มขึ้น 1.43% จากปีที่ผ่านมา ขณะที่พื้นที่ป่าชายเลนคงสภาพเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

 

ทรัพยากรน้ำ

ประเทศไทยมี 22 ลุ่มน้ำและแหล่งน้ำใต้ดิน 27 แหล่ง แหล่งน้ำแบ่งได้เป็น 4 ประเภท ได้แก่ น้ำฝน น้ำผิวดิน อ่างเก็บน้ำ และน้ำใต้ดิน ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยในปี พ.ศ. 2565 ลดลง แต่ในทางกลับกัน ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางกลับเพิ่มขึ้น

 

ทรัพยากรแร่

การผลิตและการใช้แร่ในปี พ.ศ. 2565 ลดลง 10.68% และ 6.45% ตามลำดับเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2564 ส่วนใหญ่เป็นหินปูนสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้าง ด้านการส่งออกและนำเข้าแร่ลดลง 9.24% และ 4.98% ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าถ่านหินสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงและส่งออกแร่ยิปซัม

 

ป่าไม้และสัตว์ป่า

พื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2565 มีจำนวน 102,135,974.96 ไร่ หรือ 31.6% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างคงที่ โดยพื้นที่ป่าส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือ รองลงมาคือภาคตะวันตก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง

 

ความหลากหลายทางชีวภาพ

ในปี พ.ศ. 2563 ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทยถูกจำแนกออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ ระบบนิเวศ ชนิดพันธุ์พืช ชนิดพันธุ์สัตว์ และชนิดพันธุ์จุลินทรีย์ โดยในช่วงปี พ.ศ. 2565-2566 มีการค้นพบพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย ได้แก่ พืช 35 ชนิด สัตว์มีกระดูกสันหลัง 20 ชนิด สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง 38 ชนิด และจุลินทรีย์ 14 ชนิด

 

คุณภาพน้ำและอากาศ

ในปี พ.ศ. 2565 คุณภาพน้ำโดยรวมอยู่ในเกณฑ์พอใช้ 43% ดี 41% และต่ำ 16% สำหรับน้ำชายฝั่งมีคุณภาพดี 59% พอใช้ 31% และต่ำ 7% คุณภาพอากาศในปี 2565 ดีขึ้นเล็กน้อย ค่าเฉลี่ยของฝุ่นละออง PM10 และ PM2.5 ลดลงเฉลี่ย 5% เมื่อเทียบกับปี 2564

 

การจัดการของเสีย

ปริมาณขยะมูลฝอยในปี พ.ศ. 2565 เพิ่มขึ้น 2.9% อยู่ที่ 25.70 ล้านตัน ขยะพลาสติกมีปริมาณ 2.83 ล้านตัน หรือคิดเป็น 11% ของขยะมูลฝอยทั้งหมด ขยะอันตรายจากครัวเรือนเพิ่มขึ้น 1% อยู่ที่ 676,146 ตัน และขยะติดเชื้อเพิ่มขึ้น 22.68% อยู่ที่ 110,427 ตัน

 

เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

เศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ. 2565 เติบโต 2.5% เร่งขึ้นจาก 1.6% ในปี พ.ศ. 2564 โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) มีมูลค่ารวม 17,373 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เติบโตจากภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติและผู้มาเยี่ยมเยือนชาวไทยเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวต่างชาติอยู่ที่ 2,058 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อทริป

 

ข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้เพียงบ่งบอกถึงศักยภาพของประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงความจำเป็นในการปรับปรุงกลไกต่างๆ เพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจและการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

การจัดทำรายงานความโปร่งใสรายสองปีฉบับนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้กรอบความตกลงปารีส โดยข้อมูลจากรายงานจะถูกนำไปใช้ประเมินและติดตามความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย ซึ่งรวมถึงเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608

 

ที่มาข้อมูล: รายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 ของประเทศไทย (Thailand’s First Biennial Transparency Report : BTR1)