ประเทศไทยได้จัดทำ รายงานความโปร่งใสรายสองปีฉบับที่ 1 (Thailand’s First Biennial Transparency Report: BTR1) อย่างเป็นทางการ โดย กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของพันธกรณีที่ประเทศไทยต้องรายงานความก้าวหน้าในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามกรอบของความตกลงปารีส โดยมีเป้าหมายเพื่อแสดงความโปร่งใสในความพยายามและความสำเร็จของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนแสดงศักยภาพและแผนงานในอนาคตที่ชัดเจนเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมโลก
ในบทที่ 3 ของรายงานนี้ได้กล่าวถึง "ความก้าวหน้าในการดำเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation Progress in achieving NDC)" โดยระบุว่าประเทศไทยได้ยกระดับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกให้สอดคล้องกับพันธกิจระยะยาวในการบรรลุ ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emission) ภายในปี พ.ศ. 2608
เป้าหมายระยะสั้นของไทยคือการลดก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 30-40 จากกรณีปกติ (Business-as-Usual: BAU) ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยมีการจัดทำ แผนปฏิบัติการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ปี พ.ศ. 2564-2573 (NDC Action Plan on Mitigation 2021–2030) ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาใน 5 ประเด็นหลัก รวมทั้งสิ้น 17 แผนงาน คาดว่าจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้รวมทั้งสิ้น 184.8 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq)
ใน 5 สาขาที่มีศักยภาพการลดก๊าซเรือนกระจกนั้น สาขาพลังงาน มีบทบาทสำคัญที่สุด โดยสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 124.6 MtCO2eq (22.5%) ตามมาด้วย สาขาคมนาคมขนส่ง ที่มีศักยภาพลดได้ 45.6 MtCO2eq (8.2%) ขณะที่สาขาอื่นๆ เช่น เกษตรกรรม และ การจัดการของเสียชุมชน มีส่วนร่วมลดได้รวมกันราว 13.2 MtCO2eq
ผลการดำเนินงานในช่วงปี พ.ศ. 2564 -2565 สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรม โดยในปี ค.ศ. 2021 ประเทศไทยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 60.33 MtCO2eq จาก 21 มาตรการ และเพิ่มขึ้นเป็น 65.23 MtCO2eq จาก 26 มาตรการในปี พ.ศ. 2565
อีกหนึ่งความสำเร็จสำคัญคือ การถ่ายโอนก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (Internationally Transferred Mitigation Outcomes: ITMOs) โดยประเทศไทยได้ลงนามความร่วมมือกับสมาพันธรัฐสวิสในปี พ.ศ. 2566 เพื่อสนับสนุนโครงการนำร่อง Bangkok e-bus Program ซึ่งมีข้อตกลงในการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตรวม 500,000 tCO2eq ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยในปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยได้ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตแล้วจำนวน 1,916 tCO2eq
เมื่อเทียบความก้าวหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจกกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ พบว่า ประเทศไทยมีความก้าวหน้าคิดเป็น ร้อยละ 30.47 จากกรณีปกติ (BAU) ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อการบรรลุเป้าหมาย NDC
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จเหล่านี้ไม่ได้มาจากการดำเนินงานของภาครัฐเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังเกิดจากความร่วมมือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการสนับสนุนด้านการลงทุนและเทคโนโลยีที่ทันสมัย
รายงาน BTR1 นี้นอกจากจะแสดงความโปร่งใสแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยสะท้อนศักยภาพของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศ ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นว่าไทยสามารถเป็นผู้นำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการบรรลุเป้าหมาย Net Zero
สุดท้าย รายงานฉบับนี้ยังเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคงในเรื่องของการลดก๊าซเรือนกระจก และพร้อมเป็นต้นแบบให้กับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ที่มาข้อมูล: รายงานความโปร่งใสรายสองปี ฉบับที่ 1 ของประเทศไทย (Thailand’s First Biennial Transparency Report : BTR1)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง