environment

นักวิจัยชี้ สารทำลายชั้นโอโซนลดลงเร็วกว่าคาด ชั้นบรรยากาศกำลังฟื้นตัว

    นักวิจัยชี้ ความพยายามลด 'ไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน' สารทำลายโอโซนที่พบในเครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศคืบหน้า และอาจหมดไปภายในปี 2040

การป้องกัน "ชั้นโอโซน" จากการถูกทำลายโดยก๊าซและสารเคมีอันตรายเป็นหนึ่งในความพยายามด้านสิ่งแวดล้อมที่จำเป็นต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการฟื้นฟูสภาพชั้นบรรยากาศของโลกให้กลับมาดียังมีโอกาสเป็นไปได้ แม้ว่ายังต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษก่อนที่ชั้นโอโซนจะฟื้นตัวสู่ระดับเดิม

 

การศึกษาล่าสุดพบว่าระดับของ ไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) ซึ่งเป็นสารทำลายชั้นโอโซนที่พบใน เครื่องทำความเย็นและเครื่องปรับอากาศ พุ่งขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 2021 ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ถึง 5 ปี ก่อนจะค่อยๆ ลดลงอย่างรวดเร็วกว่าที่คาด เนื่องจากความพยายามระดับนานาชาติในการควบคุมการใช้สารเหล่านี้

 

"ถือเป็นความสำเร็จระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ เรากำลังเห็นว่าสิ่งต่างๆ เดินหน้าในทิศทางที่ถูกต้อง" ลุค เวสเทิร์น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริสตอลหัวหน้าการวิจัยนี้กล่าว โดยทีมวิจัยได้ศึกษาและตรวจสอบระดับมลพิษในชั้นบรรยากาศโดยใช้ข้อมูลจากการทดลองด้านบรรยากาศระดับสูง

 

ทั้งนี้โลกของเรามี "พิธีสารมอนทรีออล" ซึ่งมีการลงนามเมื่อปี 1987 เพื่อเป้าหมายยุติการใช้สารทำลายโอโซน โดยเฉพาะ คลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFCs) ที่พบในเครื่องทำความเย็นและสเปรย์ละอองลอย เนื่องจากเป็นสารที่ทำลายชั้นบรรยากาศที่ป้องกันรังสีอุลตราไวโอเลตจากดวงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

คลอโรฟลูออโรคาร์บอนถูกยุติการผลิตในปี 2010 ด้วยกฎระเบียบที่เข้มงวด แต่ ไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ที่เข้ามาแทนที่ก็ยังคงเป็นสารทำลายโอโซนที่มีผลกระทบรุนแรงต่อสภาพภูมิอากาศ เนื่องจากเป็นก๊าซเรือนกระจกที่แข็งแกร่ง แต่ปัจจุบันลดลงอย่างต่อเนื่องและอาจหมดไปภายในปี 2040

 

การลดลงของไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอนอย่างรวดเร็วเป็นผลมาจากมาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อควบคุม ยับยั้ง และรณรงค์ให้ลดการผลิตและการใช้สารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน อย่างเช่นพิธีสารมอนทรีออลที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงกฎหมายภายในประเทศที่เข้มงวดยิ่งขึ้น และการปรับตัวของอุตสาหกรรมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการห้ามใช้สารเหล่านี้

 

"ในแง่ของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม เป็นข่าวดีที่มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมสามารถสร้างผลลัพธ์เชิงบวกต่อโลกได้จริง หากมีการบังคับใช้และปฏิบัติตามอย่างเหมาะสมและจริงจัง" เวสเทิร์นกล่าว 

 

ทั้ง "คลอโรฟลูออโรคาร์บอน" และ "ไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน" ต่างก็เป็นก๊าซเรือนกระจกที่มีฤทธิ์รุนแรง การลดปริมาณลงของสารเหล่านี้ยังช่วยในการต่อสู้กับความร้อนของโลกอีกด้วย

 

สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอนสามารถอยู่ในชั้นบรรยากาศได้หลายร้อยปี ในขณะที่สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอนมีอายุการใช้งานประมาณ 20 ปี และถึงแม้ว่าจะไม่มีการผลิตอีกต่อไปแล้ว แต่การใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มาตั้งแต่ในอดีตยังคงส่งผลกระทบต่อโอโซนต่อไปอีกหลายปีต่อจากนี้

 

โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ประมาณการว่า จะต้องใช้เวลานานประมาณ 4 ทศวรรษก่อนที่ชั้นโอโซนจะฟื้นตัวสู่ระดับก่อนที่จะตรวจพบหลุมโอโซนครั้งแรกในปี 1980 แม้จะเห็นความคืบหน้าแล้วก็ตามแต่ยังต้องใช้ความพยายามอย่างต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตาม การฟื้นฟูชั้นโอโซนเป็นภารกิจระยะยาวที่ต้องอาศัยความร่วมมือและการปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ความสำเร็จเบื้องต้นนี้แสดงให้เห็นถึงพลังของการดำเนินการร่วมกันเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ซับซ้อน แต่ต้องไม่ละสายตาจากเป้าหมายสุดท้ายจนกว่าจะฟื้นสู่ภาวะปกติอย่างสมบูรณ์

 

อ้างอิง: