"มลพิษทางอากาศ" ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย เช่น ทำลายปอดเท่านั้น แต่ยังมีผลร้ายแรงต่อ "สุขภาพจิต" ของผู้คนด้วย ล่าสุดงานวิจัยชี้ว่า มลพิษทางอากาศจาก "ควันไฟป่า" ยังเป็นปัญหาร้ายแรงต่อสุขภาพสมองด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุภาคขนาดเล็กอย่างฝุ่น PM2.5 ที่สามารถเข้าถึงสมองผ่านทางเส้นประสาทรับกลิ่นและเส้นเลือดสมอง ส่งผลให้เกิดการอักเสบและความเครียดจากปฏิกิริยาทางออกซิเดชัน
จากการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันและเพนซิลเวเนีย พบว่าการสัมผัสควันไฟป่าเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคสมองเสื่อมและโรคพาร์กินสัน อีกทั้งการสูดดมควันไฟป่ายังมีผลเชิงลบต่อการรับรู้และการเรียนรู้ของวัยเรียน โดยพบว่าคะแนนสอบของนักเรียนที่ต้องเผชิญวันที่มีควันหนาทึบลดลงเฉลี่ย 0.6 คะแนน และมีโอกาสเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำลดลงเล็กน้อย นอกจากนี้ ยังประมาณการว่าการสัมผัสควันไฟป่าในปี 2016 ทำให้รายได้ในอนาคตของนักเรียนลดลงเกือบ 1.7 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 111 ดอลลาร์ต่อคน
นอกจากผลกระทบทางสรีรวิทยาแล้ว ไฟป่ายังส่งผลกระทบทางจิตใจอย่างรุนแรงเช่นกัน การเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมอย่างรวดเร็วและการสูญเสียทางใจ เช่น การสูญเสียบ้านหรือทรัพย์สิน สามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิต ความเครียด ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้าได้
ผลการศึกษาของ ดร.โจติ มิชรา จิตแพทย์จาก UC San Diego School of Medicine พบว่า ผู้ที่เผชิญกับความสูญเสียหรือบาดแผลทางใจระหว่างเหตุเพลิงไหม้ มีอัตราสูงของ PTSD ความวิตกกังวล และภาวะซึมเศร้า แม้แต่สมาชิกในชุมชนที่ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากไฟ ก็ยังรายงานว่ามีปัญหาทางระบบประสาทเพิ่มขึ้น และต้องต่อสู้กับภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล
ความกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอีกปัญหาสุขภาพจิตหนึ่งที่พบ และปัญหาอีกอย่างคือ การหยุดกิจกรรมกลางแจ้งและบนบกในช่วงฤดูร้อนเพื่อหลบภัยในบ้านก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตเช่นกัน เนื่องจากการขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมและกิจกรรมทางกาย
จากงานวิจัยพบว่า ควันไฟป่าที่มีฝุ่น PM2.5 เป็นส่วนประกอบนั้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีโอกาสเกิดโรคสมองเสื่อมใหม่สูงขึ้นถึง 21% เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของฝุ่น PM2.5 เพียง 1 ไมโครกรัมในอากาศที่หายใจเข้าไป
จากรายงานก่อนหน้า พบว่า อนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้จะเข้าไปทำให้ระดับอะไมลอยด์ในสมองเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้เซลล์สมองของเราไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ และยังทำให้เกิดการอักเสบกับความเสียหาย นำไปสู่โรคสมองเสื่อมในที่สุด ไม่เพียงเท่านั้น ยังก่อให้เกิดความเครียดและภาวะซึมเศร้าอีกด้วย
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า กลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ คนที่มีรายได้น้อยและคนที่มีฐานะทางสังคมต่ำ เนื่องจากเครื่องปรับอากาศ หรือเครื่องฟอกอากาศที่ทำให้อากาศในบ้านสะอาดขึ้นมีราคาสูงเกินกว่าคนกลุ่มนี้จะจ่ายไหว จึงต้องสัมผัสกับ PM2.5 เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง
"ปัจจัยทางสังคมที่กำหนดสุขภาพ เช่น รายได้และฐานะทางสังคมเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก คำแนะนำเพื่อหลีกเลี่ยงมลพิษทางอากาศเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่มีฐานะต่ำ ที่ควบคุมสภาพแวดล้อมของตนเองได้จำกัด" ดร. มาเรีย คาร์ริลโลจากสมาคมอัลไซเมอร์กล่าว
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า การลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากไฟป่า ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งของชุมชนเป็นอันดับแรก ซึ่งนอกจากการควบคุมมลพิษทางอากาศโดยตรง เช่น การใช้เครื่องฟอกอากาศและลดเวลาอยู่กลางแจ้งในช่วงเกิดไฟ ชุมชนควรจะจัดหาทรัพยากรเช่น ศูนย์นันทนาการในร่มให้ใช้ฟรี เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมและความเข้มแข็งของชุมชน
นอกจากนี้ การเสริมสร้างขีดความสามารถในการฟื้นตัวของชุมชน และการดูแลรักษาป่าไม้ที่มีประสิทธิภาพ ก็เป็นมาตรการสำคัญในการลดความรุนแรงของไฟป่า และผลกระทบที่ตามมาต่อสุขภาพจิตของผู้คน ในระยะยาว การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและไฟป่า จะเป็นมาตรการป้องกันที่สำคัญที่สุดในการรับมือกับผลกระทบทางสุขภาพจิตอันเนื่องมาจากไฟป่า
อ้างอิง:
ข่าวที่เกี่ยวข้อง