ฉลาม มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศทางทะเล ตั้งแต่แนวปะการังไปจนถึงมหาสมุทรเปิดโดยทำหน้าที่เป็นนักล่าชั้นสูงสุดที่ช่วยรักษาสุขภาพและความสมดุลของสายใยอาหารที่สลับซับซ้อนในมหาสมุทร ช่วยรักษาความหลากหลายของสายพันธุ์ ควบคุมขนาดประชากร รวมถึงคัดแยกสัตว์น้ำที่อ่อนแอออกไป
ในอีกทางหนึ่งยังมีส่วนช่วยกักเก็บคาร์บอนเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
ทว่าจำนวนประชากรปลาฉลามลดลงอย่างเนื่อง จาก การทำประมงเกินขนาด (Overfishing) และการจับสัตว์น้ำพลอยได้ (Bycatch) หรือปลาที่ถูกจับขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจจากการทำประมงเชิงพาณิชย์ซึ่งติดปลาฉลามที่อ่อนแอ และใกล้สูญพันธุ์ไปด้วย
ข้อมูลองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ระบุว่า ชนิดพันธุ์ปลาฉลามและกระเบนทั่วโลกราว 1 ใน 3 กำลังเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์จากการทำประมงเกินขนาด ด้านสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่า ฉลามในน่านน้ำไทยกว่าครึ่ง หรือ 47 ชนิด จาก 87 ชนิด มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์-ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง โดยสาเหตุหลักมาจากการถูกจับเป็นสัตว์น้ำพลอยได้
ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ผู้รณรงค์ยกเลิกการบริโภคฉลามมายาวนาน ให้สัมภาษณ์ ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาว่า ปริมาณการค้าฉลามที่เพิ่มขึ้นตามตลาดปลา-แพปลาในไทยมักเพิ่มขึ้นสูงในช่วงต้นปี โดยเฉพาะเมื่อใกล้เทศกาลตรุษจีน
สิ่งที่น่ากลัวคือ รณรงค์มา 20 ปีแล้ว แต่ประชากรในเมืองกลุ่มใหญ่ ก็ยังอยากลองทานหูฉลามอยู่... ตราบใดที่ตลาดยังต้องการ ก็มีการไปจับที่แหล่งอยู่ดี
ดร.เพชร ไม่อยากกล่าวโทษชาวประมง แต่ชี้ถึง "ช่องโหว่" ในกฎหมายไทยที่อนุญาตให้จำหน่ายฉลามเกือบทุกชนิดในฐานะ "สัตว์น้ำพลอยได้" เนื่องจากยังไม่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ยกเว้นฉลามหัวค้อนที่อยู่ระหว่างการขึ้นทะเบียน และฉลามวาฬที่เป็นสัตว์สงวน
ที่น่าตกใจคือ "ไทยเป็นประเทศเดียวในโลก" ที่ขอสงวนสิทธิการขึ้นทะเบียน-เลื่อนบัญชีชนิดพันธุ์ ฉลามครีบดำทุกชนิดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของไซเตสเป็นเวลา 7 ปี เพื่อเตรียมความพร้อม
ฉลามสะท้อนสุขภาพมหาสมุทร ทะเลที่ดีคือทะเลที่มีฉลาม มันเป็นตัวควบคุมสมดุล หากเราสูญเสียฉลามไป ระบบนิเวศน์ต่างๆ จะรวนไปหมด
- ดร.เพชร อธิบายผ่านบีบีซีไทย
ในความเป็นจริงนั้นประเทศไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่อการอนุรักษ์และการบริหารจัดการฉลาม พ.ศ. 2563-2567 แล้ว แต่การบังคับใช้ยังหละหลวม โดยยังพบการค้าฉลามในหลายจังหวัดทั่วไทย ทั้งระนอง ภูเก็ต สงขลา ปัตตานี และสมุทรสาคร เป็นต้น
ดร.เพชร ระบุด้วยว่า ทางการไทยยังบังคับใช้กฎหมายอย่างหละหลวม จึงยังเห็นภาพการค้าฉลามจนเกือบเหมือนปกติ โดยเฉพาะในช่วงเวลาใกล้ตรุษจีน
องค์กรไวลด์เอด เคยเปิดเผยผลสำรวจพบว่า แต่ละปีมีฉลามตาย 100 ล้านตัว ในจำนวนนี้ 73 ล้านตัวถูกฆ่า เพื่อนำครีบมาเป็นซุปหูฉลาม และไทยเองมีตลาดค้าครีบฉลามที่ใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก
เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ไวลด์เอด ได้เผยแพร่ผลการศึกษาดีเอ็นเอผลิตภัณฑ์หูฉลามจากตัวอย่าง 206 ชิ้น จากหลายจังหวัดพบว่า มาจากฉลามอย่างน้อย 15 ชนิดพันธุ์ อีกทั้งปลาฉลามส่วนใหญ่กว่า 62% ที่พบในหูฉลามที่ขายในไทยยังมาจากสายพันธุ์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ โดยเป็นฉลามที่มีสถานภาพถูกคุกคามตามบัญชีแดงของ IUCN ด้วย
ไม่เพียงแต่ครีบเท่านั้น ดร.เพชร ในฐานะที่ปรึกษาของไวลด์เอด ยังระบุว่า ได้พบเทรนด์ใหม่ในการใช้อวัยวะทุกส่วนของฉลามมาใช้ประโยชน์ อาทิ ฉลามตากแห้งเพื่อเป็นอาหารทานเล่นของหมา แมว นั่นหมายความว่า เกิดอุปสงค์ใหม่ต่อการจับฉลาม ไม่ว่าจะจับในฐานะสัตว์น้ำพลอยได้หรือไม่ก็ตาม
ดังนั้น เขาจึงเสนอให้ยกเลิกการบริโภคฉลามและหากไม่มีกฎหมายรองรับจริง สังคมก็ต้องประณามด้วย
อย่างไรก็ตาม จากตรวจสอบโดยใช้ DNA ครั้งนี้ ฉลาม 15 สายพันธุ์ที่พบในผลิตภัณฑ์ตัวอย่างจากตลาด ได้แก่ ปลาฉลามหัวค้อนใหญ่ (Sphyrna Mokarran), ปลาฉลามหัวค้อนสแกลลอป (Sphyrna Lewini) และฉลามสันทราย (Carcharhinus Plumbeus) น่าตกใจก็คือมากกว่าหนึ่งในสามของสายพันธุ์ปลาฉลามที่ระบุไม่เคยถูกบันทึกไว้ในน่านน้ำไทยมาก่อน
บ่งบอกถึงเครือข่ายการค้าระหว่างประเทศที่กว้างขวางและซับซ้อน ซึ่งป้อนเข้าสู่ความต้องการของผลิตภัณฑ์ปลาฉลามในท้องถิ่น โดยไม่สามารถติดตามตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) หรือหาแหล่งที่มาของห่วงโซ่อุปทานนี้ได้
ทีมวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้ ประกอบด้วย กรมประมงของไทย WildAid และนักวิจัยจากประเทศไทย โดยได้เผยแพร่ผลการวิจัยเมื่อปีที่แล้วใน Conservation Genetics โดยได้ชี้ให้เห็นถึงข้อบกพร่องในการตรวจสอบย้อนกลับในการค้าหูฉลามระหว่างประเทศ และเรียกร้องให้สาธารณชนปฏิเสธการบริโภคหูฉลาม และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ได้มาจากปลาฉลาม
สำหรับไทยเป็นหนึ่งในประเทศผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์ปลาฉลามอันดับต้นๆ ของโลก ตามรายงาน ประจำปี 2558 ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) โดยระหว่างปี 2555 ถึง 2559 ระบุว่า ไทยส่งสินค้าจากฉลามไปต่างประเทศ 22,466 เมตริกตัน ทำให้เป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลกในช่วงเวลาดังกล่าว
การค้นพบครั้งใหม่ชี้ให้เห็นว่า แม้ผู้บริโภคจะตระหนักรู้มากขึ้นถึงความเสี่ยงโดยนัยของการฆ่าฉลามต่อสุขภาพของระบบนิเวศทางทะเล แต่ไทยยังเป็นตลาดหลักสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มาจากฉลาม
ขอบคุณข้อมูล:
• https://www.seub.or.th/bloging/news/2024-28/
• https://www.bbc.com/thai/articles/ckrd72v8jz5o
• https://news.mongabay.com/2024/01/dna-probe-uncovers-threatened-shark-species-in-thailands-markets/
เครดิตภาพ: Nutch Prasopsin
ข่าวที่เกี่ยวข้อง