ตลาดคาร์บอนเครดิตในไทยไปถึงไหนแล้ว
ตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศไทยรับผิดชอบโดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. เป็นหลัก ซึ่ง อบก.ได้เริ่มพัฒนาตลาดภาคสมัครใจในปี 2555 อันประกอบด้วย
1) การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานต่างประเทศ (Verified Emission Reduction: VER)
2) การซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Project: T-VER)
นอกจากนี้ อบก. ยังริเริ่มการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจของประเทศไทยในระดับอุตสาหกรรม (Thailand Voluntary Emissions Trading Scheme: TVETS) ในปี 2558 ซึ่งมีอุตสาหกรรมนำร่อง 10 สาขา ได้แก่ ปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์ เหล็กและเหล็กกล้า เยื่อและกระดาษ อาหารและเครื่องดื่ม พลาสติก โรงกลั่นปิโตรเลียม แก้วและกระจก เซรามิก และสิ่งทอ
โครงการคาร์บอนเครดิตตามมาตรฐาน T-VER ของไทย
ปัจจุบันตลาดคาร์บอนของไทยที่มีพัฒนาการเด่นชัดที่สุดคือ การซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) ซึ่งมี อบก. เป็นผู้ให้การขึ้นทะเบียนโครงการและรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้จากโครงการ
ผู้สนใจสามารถพัฒนาโครงการลดก๊าซเรือนกระจกได้หลากหลายประเภท อาทิ การพัฒนาพลังงานทดแทน การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน การปลูกป่า การจัดการในภาคขนส่ง การจัดการของเสีย และการปรับปรุงในภาคเกษตรกรรม ซึ่งโครงการแต่ละประเภทจะมีรายละเอียดและมาตรฐานที่ใช้คำนวณคาร์บอนเครดิตที่แตกต่างกัน
ตัวอย่างเช่น โครงการปลูกต้นไม้ ปลูกป่า และอนุรักษ์หรือฟื้นฟูป่าจะมีระยะเวลาการคิดคาร์บอนเครดิต 10 ปี ส่วนโครงการทั่วไปอื่นๆ จะมีระยะเวลาคิดเครดิต 7 ปี
นอกจากผู้พัฒนาโครงการคาร์บอนเครดิตและ อบก. แล้ว ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในโครงการ T-VER คือผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ อบก. ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบความใช้ได้ (Validation) ของโครงการก่อนขึ้นทะเบียน และทวนสอบ (Verification) ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดหรือกักเก็บได้ ก่อนยื่นเอกสารขอรับรองคาร์บอนเครดิตกับ อบก.
นับตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองจาก อบก. มีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปี 2565 ที่ปริมาณเครดิตสูงถึง 4.7 MtCO2e จาก 59 โครงการ และ ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2566 ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองคิดรวมเป็น 16.1 MtCO2e จากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด 298 โครงการ
อย่างไรก็ตาม แม้แนวโน้มคาร์บอนเครดิตจะขยายตัวได้ดี แต่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ลดได้ในปี 2565 คิดเป็นเพียง 1.2% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยเท่านั้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง