เมื่อปริมาณคาร์บอนเครดิตได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนกับ อบก. แล้วก็จะสามารถนำไปซื้อขายผ่านตลาดคาร์บอนเครดิตได้ ซึ่งปัจจุบันรูปแบบการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในไทย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
ได้แก่ 1) การตกลงกันเองระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย (Over the Counter: OTC) ซึ่งสามารถถ่ายโอนเครดิตระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายผ่านการจัดทำสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิต และ 2) การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มหรือศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต (FTIX) ที่ทำหน้าที่เหมือนตลาดหลักทรัพย์ในการจับคู่ราคาซื้อและราคาขายที่ตรงกันโดยอัตโนมัติ
สำหรับภาพรวมการซื้อขายคาร์บอนเครดิตของไทยนั้น แม้จะยังมีปริมาณน้อยเมื่อเทียบกับปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ขึ้นทะเบียนได้จากโครงการ T-VER ต่างๆ โดยในปี 2565 มีคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรอง 4.7 MtCO2e แต่ปริมาณการซื้อขายอยู่ที่ราว 1.2 MtCO2e หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER เติบโตอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับช่วงแรกของการดำเนินงาน โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมในช่วงปี 2559-2565 ถึง 144% และ 131% ตามลำดับ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปี 2565 ที่มีปริมาณและมูลค่าการซื้อขายสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากในปีดังกล่าวกระแสความตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมแพร่หลายและเด่นชัดขึ้น จากการประชุม COP26 และการประกาศเป้าหมายความยั่งยืนที่ท้าทายขึ้นของไทย
รวมถึงภาคธุรกิจที่ได้ตั้งเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission ระดับองค์กรมากขึ้น จึงส่งผลให้เกิดความต้องการซื้อคาร์บอนเครดิตจำนวนมาก เพื่อกักตุนปริมาณคาร์บอนเครดิตในช่วงที่ราคาซื้อขายยังไม่ขยายตัวสูง
ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 ปริมาณและมูลค่าการซื้อขายคาร์บอนเครดิตลดลงจากปีก่อนหน้า แต่ปริมาณการซื้อขายยังคงสูงกว่าปริมาณฯ ของปี 2564 ทั้งปีถึงกว่าสองเท่า สะท้อนว่าปริมาณการซื้อขายเริ่มเป็นไปตามสภาวะอุปสงค์ และอุปทานปกติ
ทั้งนี้ ปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังขึ้นอยู่กับรอบการพิจารณารับรองการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์และการทำกิจกรรมชดเชยคาร์บอนขององค์กรโดย อบก. ด้วย เมื่อสิ้นสุดรอบการรับรองดังกล่าว จะทำให้องค์กรรู้ปริมาณคาร์บอนที่ต้องชดเชยในช่วงเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการคาร์บอนเครดิตเพิ่มขึ้นได้ในช่วงปลายปี 2566
ในมิติราคา ในปี 2565 ราคาเฉลี่ยของคาร์บอนเครดิตของไทยอยู่ที่ 108 บาท/tCO2e ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2564 กว่า 3 เท่า แต่ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก โดยรายงาน State and Trends in Carbon Pricing 2023 ของธนาคารโลก ระบุว่า คาร์บอนเครดิตที่มาจากการดูดกลับโดยธรรมชาติหรือเทคโนโลยีต่างๆ มีราคาเฉลี่ยสูงถึง 500-700 บาท/tCO2e ส่วนเครดิตจากโครงการพลังงานทดแทนมีราคาเฉลี่ย 170-350 บาท/tCO2e
นอกจากนี้ ราคาคาร์บอนเครดิตในไทยยังต่ำกว่ามากเมื่อเทียบกับตลาดคาร์บอนภาคบังคับ เช่น ในสหภาพยุโรป ที่ราคาซื้อขายสิทธิในการปล่อยคาร์บอนสูงถึง 3,500 บาท/tCO2e ภายใต้ EU ETS โดยสาเหตุหนึ่งที่ราคาคาร์บอนเครดิตในไทยยังต่ำ เนื่องจากเป็นกลไกภาคสมัครใจซึ่งต่างจากหลายๆ ประเทศที่มีกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับร่วมกับตลาดคาร์บอนเครดิตด้วย
คาร์บอนเครดิตจากโครงการแต่ละประเภทมีราคาซื้อขายแตกต่างกัน โดยประเภทโครงการที่ขายคาร์บอนเครดิตได้ราคาดีที่สุดในไทยคือ การปลูกป่า (ราคาสูงสุดถึง 2,000 บาท/tCO2e ในปี 2565) เนื่องจากเป็นโครงการที่ลงทุนสูง แต่สามารถให้เครดิตในระยะยาวได้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มความต้องการคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้ของโลก
อย่างไรก็ตาม เครดิตจากโครงการปลูกป่ายังมีการซื้อขายไม่มาก เมื่อเทียบกับโครงการพลังงานหมุนเวียน อาทิ พลังงานชีวมวล ชีวภาพ และแสงอาทิตย์ เนื่องจากโครงการปลูกป่าใช้เวลานานกว่าเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต ทั้งนี้ในปี 2566 (ม.ค. - ส.ค.) มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตจากภาคป่าไม้แล้ว 208,030 tCO2e ซึ่งมากเป็นอันดับสองรองจากโครงการพลังงานชีวมวล
ที่น่าสนใจคือ ราคาเครดิตจากป่าไม้เฉลี่ยคือ 173 บาท/tCO2e ในขณะที่ราคาของชีวมวลอยู่ที่เพียง 36 บาท/tCO2e เท่านั้น นอกจากนี้ โครงการที่ขายคาร์บอนเครดิตได้ราคาสูงในปี 2566 คือการทำปุ๋ยหมัก พลังงานชีวภาพ และพลังงานลม ซึ่งล้วนมีราคาขายเฉลี่ยเกิน 200 บาท/tCO2e
นอกจากประเภทโครงการแล้ว ราคาของคาร์บอนเครดิตยังขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ อาทิ 1) ผู้ให้การรับรองเครดิต ซึ่งราคาซื้อขายแตกต่างกันตามแต่ละมาตรฐาน 2) อายุของเครดิต ซึ่งเครดิตที่ได้รับรองใหม่ๆ จะขายได้ราคาสูงกว่าเพราะเป็นที่ต้องการมากกว่า รวมถึง 3) ประโยชน์ร่วมของโครงการ เช่น การสร้างพื้นที่สีเขียวและการลดมลพิษ ซึ่งจะตอบสนองความพึงพอใจของผู้ซื้อที่แตกต่างกันไป
สำหรับผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตในประเทศไทย ข้อมูลสถิติการรับรองกิจกรรมชดเชยคาร์บอนของ อบก. พบว่าผู้ซื้ออาจเป็นองค์กรหรือบุคคลทั่วไปก็ได้ โดยคาร์บอนเครดิตสามารถนำไปชดเชยคาร์บอนได้ 4 ประเภท
ได้แก่ การปล่อยคาร์บอนขององค์กร สินค้าหรือบริการ การจัดประชุมหรืองานอีเว้นท์ และระดับบุคคล ทั้งนี้ในบรรดาการชดเชยทั้งหมด องค์กรทั้งภาคเอกชนและภาครัฐเข้าร่วมกิจกรรมชดเชยคาร์บอนและเป็นผู้ซื้อคาร์บอนเครดิตมากที่สุดรวมกันกว่า 1.2 MtCO2e จากองค์กร 164 แห่ง ตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา หรือโดยเฉลี่ยแล้ว 1 องค์กรซื้อคาร์บอนเครดิต 7,582 tCO2e
หน่วยงานที่ซื้อคาร์บอนเครดิตมากอยู่ในภาคการผลิต การเงินการธนาคาร บริการขนส่ง และอสังหาริมทรัพย์ โดยบางองค์กรซื้อในปริมาณมากและซื้อเป็นประจำเมื่ออายุการรับรองสิ้นสุดลง เช่น ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารแห่งประเทศไทย และบีทีเอส กรุ๊ป
ในขณะที่ธุรกิจภาคการผลิตที่ซื้อคาร์บอนเครดิตในปริมาณมาก ได้แก่ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด และบริษัท ไลอ้อน (ประเทศไทย) จำกัด (ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภค) นอกจากนี้ ธุรกิจบริการขนส่งก็เป็นผู้ซื้อเครดิตหลายราย เช่น บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) บริษัท พรีเชียส ชิพปิ้ง จำกัด (มหาชน) และ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
อีกหนึ่งแหล่งความต้องการคาร์บอนเครดิตที่น่าสนใจคือการซื้อเพื่อชดเชยการปล่อยคาร์บอนของงานอีเว้นท์ ที่มีปริมาณการชดเชยเป็นอันดับสองรองจากระดับองค์กร โดยกิจกรรมที่มีการชดเชยสูง เช่น งาน Mobile Expo ของบริษัท เวฟ บีซีจี จำกัด งาน International Petroleum Technology Conference 2023 ของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) รวมถึงงานเกษตรแฟร์ ปี 2566 ที่ซื้อคาร์บอนเครดิตสูงถึง 1,995 tCO2e
นอกจากนี้ บริษัทบางแห่งยังเลือกชดเชยการปล่อยคาร์บอนจากผลิตภัณฑ์ของตนด้วย โดยผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณการชดเชยมาก ได้แก่ ไข่ไก่สดปลอดสารของซีพีเอฟ รวมถึงผลิตภัณฑ์และบริการสื่อการตลาดของบริษัท สแครทช์ เฟิร์สท์ จำกัด
อย่างไรก็ดี การชดเชยของผลิตภัณฑ์รวมแล้วมีปริมาณการซื้อคาร์บอนเครดิตน้อยที่สุด เช่นเดียวกับการชดเชยระดับบุคคล ที่มีปริมาณการซื้อคาร์บอนเครดิตต่อคนโดยเฉลี่ยต่ำที่สุดที่ 16 tCO2e/คน ซึ่ง “คนไทยหัวใจไร้คาร์บอน” เหล่านี้มักมาจากหน่วยงานในภาคพลังงาน มหาวิทยาลัย รวมถึง อบก. เองด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง