greener-living

4 แนวทางพัฒนาอสังหาฯ รับมือโลกร้อน ช่วยลดต้นทุนระยะยาว

    แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น แนะ 4 แนวทางพัฒนาอสังหาฯ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ชี้พร้อมปรับตัวก่อนกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้ จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว

ในขณะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาคธุรกิจต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ถูกเรียกร้องให้มีบทบาทสำคัญในการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทยที่กำลังอยู่ระหว่างเตรียมออกกฎหมายใหม่เกี่ยวกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้

นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด บริษัทวิจัยและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือ บริษัท แอล.พี.เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึง 4 แนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อตอบสนองเทรนด์ของผู้บริโภคในปัจจุบัน และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2065

โดย 4 แนวทางในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ประกอบด้วย

  1. การปรับตัวในขั้นตอนการก่อสร้างและออกแบบโดยใช้ Passive Design การจัดวางรูปแบบอาคารโดยคำนึงถึงสภาพแวดล้อม ทิศทางของแสง และ ลม โดยกำหนดการวางช่องเปิดของอาคาร เพื่อให้แสงและลมธรรมชาติ เข้าสู่อาคารเพื่อลดการใช้พลังงานและการถ่ายเทอากาศที่ดีเพื่อลดการสะสมความร้อนในอาคาร
  2. การใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงหรือลดความร้อน ซึ่งอาจจะมาจากผลิตภัณฑ์ที่มาจากการผลิตที่ไม่สร้างก๊าซเรือนกระจก หรือสร้างน้อยกว่าผลิตภัณฑ์ปกติอื่นๆ หรือจะเป็นการเลือกใช้วัสดุปิดผิวหรือสีที่มีคุณสมบัติในการสะท้อนแสงหรือ ความร้อนเพื่อลดความร้อนที่สะสมบนผิวอาคาร
  3. การปลูกต้นไม้เพื่อช่วยกรองแสงและสร้างร่มเงา อาจเป็นวิธีที่ดูพื้นฐานมากที่สุด แต่หากมีการออกแบบหรือวางตำแหน่งที่สมควร นอกจากจะช่วยปลูกต้นไม้ทดแทนแล้ว ยังจะช่วยเรื่องของการเป็นตัวกรองแสงธรรมชาติในการรับแสงอาทิตย์กับอาคาร ทั้งยังสร้างร่มเงาให้กับพื้นที่โดยรอบของอาคารทำให้ลดการสะสมความร้อนบนผิวของวัตถุ
  4. การใช้โซล่าเซลล์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว แม้จะมีค่าใช้จายในการลงทุนติดตั้งเพิ่ม ทำให้ต้นทุนค่าก่อสร้างมากขึ้น แต่ในระยะยาว จะเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาวสำหรับผู้อยู่อาศัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นายประพันธ์ศักดิ์กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในปี 2568 หรือ 2569 โดยสาระสำคัญของกฎหมาย คือ แนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคธุรกิจ เพื่อกระตุ้นให้ภาคธุรกิจให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจพร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

โดยมีการจัดเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจกที่สูง สำหรับองค์กรที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาก และจะลดลงเมื่อองค์กรสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ ซึ่งครอบคลุมไปถึงห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของธุรกิจด้วย

ประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ  

"การปรับตัวก่อนที่กฎหมายจะมีผลบังคับใช้จึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในระยะยาว" นายประพันธ์ศักดิ์กล่าว

พร้อมยกตัวอย่างว่า หากกระบวนการก่อสร้างบ้าน 1 หลังสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 5-7 tCO2eq เหลือ 3-4 tCO2eq ต่อปี ก็จะช่วยลดภาระภาษีที่ต้องจ่ายได้

การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่เพียงแต่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการเท่านั้น แต่ยังเป็นการตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการอยู่อาศัยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

การปรับตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์จึงเป็นก้าวสำคัญในการสร้างความยั่งยืนให้กับทั้งธุรกิจและสังคมโดยรวม ซึ่งจะเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ต่อไปในอนาคต