คอลัมน์ Circular Economy ชีวิตดี เริ่มที่เรา
โดย กรีนเดย์
หนึ่งในนโยบายที่สำคัญ เป็นการปรับเปลี่ยนการใช้พลังงานภาคขนส่งเป็นพลังงานไฟฟ้าสีเขียว ด้วยเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV) ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี พ.ศ. 2573
โดยมีเป้าหมายการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์นั่งและรถกระบะ 440,000 คัน รถจักรยานยนต์ 650,000 คัน รถบัสและรถบรรทุก 33,000 คัน รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการส่งเสริมสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสาธารณะแบบ Fast charge จำนวน 12,000 หัวจ่าย และสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่สำหรับรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าจำนวน 1,450 สถานี
ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ศึกษาจัดทำแผนการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าพบว่า ในปี 2573 ประเทศไทยควรจะมีการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Fast Charge ในหัวเมืองใหญ่ จำนวน 8,227 เครื่อง และการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าในเขตพื้นที่ทางหลวง (Highway) จำนวน 5,024 เครื่อง นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้งเครื่องสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั่วประเทศอีก 8,291 เครื่อง
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย รายงานว่า ปัจจุบันมีเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจจำนวน 14 ราย ให้บริการสถานีชาร์จไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศไทย(Thailand Charging Consortium) โดยข้อมูลสิ้นปี 2566 มีจำนวน 2,658 แห่ง หรือ 9,694 หัวจ่าย อยู่ทั่วประเทศ เป็น Fast Charge (DC Charging) 4,533 หัวจ่าย และ Normal Charge (AC Charging) 5,161 หัวจ่าย
ขณะที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) รายงานว่า ช่วงเดือนมกราคม - มิถุนายน 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 51,911 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.60 % โดยรวมยอดสะสมถึงเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ 183,221 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 144.31 %
ส่วนยานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 71,906 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน 55.84% มียอดสะสมรวมทั้งสิ้น 414,894 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 35.30 % และมียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (PHEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 4,896 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันกับปีก่อน 21.94 % โดยมียอดสะสมรวมอยู่ที่ 58,774 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.41 %
ด้วยจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้เกิดคำถามว่าสถานีชาร์จที่มีอยู่ในปัจจุบันเพียงพอและสะดวกมากพอที่จะรองรับ EV ที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตหรือไม่
เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สะท้อนให้เห็นว่า ปัจจุบันจำนวนหัวจ่ายของสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีกว่า 10,000 หัวจ่าย และคาดว่าในอนาคตจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องและบรรลุเป้าหมายได้ไวกว่าที่รัฐฯได้ประกาศไว้
อย่างไรก็ตามหากมองจำนวนหัวจ่ายและจำนวนรถที่มีอยู่ ถือว่ายังเพียงพอ รองรับลูกค้าในช่วงวันปกติได้ แต่กรณีที่เป็นวันหยุดยาว วันหยุดเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ ที่มีการเดินทางกันเป็นจำนวนมาก ตรงนี้ก็อาจจะไม่เพียงพอและไม่ทันกับความต้องการของลูกค้าได้
“ข้อมูลจากการวิจัยในช่วงที่ผ่านมา เคยสำรวจและพบว่าคนไทยส่วนใหญ่ 75-80 % จะชาร์จไฟฟ้าจากบ้าน และอีก 15 % จะชาร์จตามสถานีทั่วไป ตามห้าง-ศูนย์การค้า และอีก 5 %จะชาร์จระหว่างการเดินทาง ซึ่งสัดส่วนในปัจจุบันก็อาจจะมีปรับเปลี่ยนบ้าง”
ขณะที่ผู้ประกอบการรายหนึ่ง มองว่าจำนวนโครงสร้างพื้นฐานอย่างสถานีชาร์จในปัจจุบันยังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามผู้จำหน่ายแต่ละรายจะมีจุดชาร์จทุกโชว์รูมเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า
นอกจากนั้นแล้วผู้ผลิตและผู้จำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ายังเดินหน้าที่จะสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยต่อเนื่องทั้งนี้เพื่อให้การใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของคนไทยมีความคลอบคลุมและครบวงจร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง