net-zero

“กฟผ.” ต่อยอดสถานีชาร์จ EV ปักเป้า 520 แห่งปี 68 มุ่ง “Net Zero”

    การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหนึ่งในองค์กรที่มุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด เพื่อนำพาประเทศไทยสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี พ.ศ. 2593 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ.2608

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของกลยุทธ์สำคัญของ กฟผ. ที่ช่วยขับเคลื่อนไทยไปสู่พลังงานสะอาดก็คือ การสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นสถานีชาร์จ EV ภายใต้ชื่อ EleX by EGAT ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2563

 

“กฟผ.” ต่อยอดสถานีชาร์จ EV ปักเป้า 520 แห่งปี 68 มุ่ง “Net Zero”

 

อย่างไรก็ดี กฟผ. ยังมีการบริหารจัดการสถานีด้วยระบบบริหารจัดการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า BackEN EV ที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน เพื่อต่อยอด และเพิ่มมูลค่าให้กับธุรกิจ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 66

ตั้งเป้าสถานีชาร์จ EV 520 แห่งปี 68

นางณิศรา ธัมมะปาละ ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน กฟผ. ระบุว่า ปัจจุบัน กฟผ. มีสถานีชาร์จ EV อยู่ 211 แห่งที่ดำเนินการเอง และมีสถานีชาร์จอีก 88 แห่งที่เป็นรูปแบบของผู้ประกอบการเข้ามาลงทุน หรือ BackEN EV โดยตั้งเป้าสถานีชาร์จ Elex by EGAT ให้ได้ 250 แห่ง และ BackEN EV ให้ได้ 110 แห่งภายในสิ้นปี 67 ซึ่งจะทำให้ กฟผ. มีสถานีชาร์จ EV ทั้ง 2 รูปแบบทั้งหมด 360 แห่ง

ส่วนปี 68 กฟผ. ตั้งเป้าเพิ่ม Elex by EGAT ให้ได้อีก 50-60 แห่ง ส่วน BackEN EV จะเพิ่มให้ได้อีก 100 แห่ง ซึ่งจะทำให้ กฟผ. มีสถานีขาร์จ EV ทั้งหมดประมาณ 520 แห่งในปี 68

 

“กฟผ.” ต่อยอดสถานีชาร์จ EV ปักเป้า 520 แห่งปี 68 มุ่ง “Net Zero”

 

"การดำเนินการของ กฟผ. มีจุดเริ่มต้นมาจากการทำตามนโยบายของภาครัฐที่ต้องการให้ กฟผ. เป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมอีวี (EV System) ในไทยให้แข็งแกร่ง จากเดิมที่ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์สันดาปในภูมิภาค โดยภาครัฐเล็งเห็นว่าอีวี กำลังจะเข้ามามีบทบาท จึงมีการเตรียมการเพื่อรองรับ"

อย่างไรก็ตาม การที่จะทำให้ไทยเปลี่ยนผ่านจากการเป็นแหล่งผลิตรถยนต์สันดาปไปสู่รถอีวี จะต้องทำให้มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการใช้รถอีวี และทำให้ผู้บริโภคในประเทศต้องการที่จะเปลี่ยนมาใช้รถอีวี เพื่อต่อยอดให้ไทยเป็นผู้ประกอบการรถอีวีของภูมิภาค กฟผ. จึงเข้ามามีบาทบาทในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว

สร้างโอกาสผู้ประกอบการ

จากแนวโนโยบายดังกล่าว อีกทั้ง กฟผ. เล็งเห็นว่าผู้ประกอบการมีความสนใจที่จะลงทุนอีวีเป็นจำนวนมาก จึงมีรูปแบบการให้บริการที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น TOTAL SOLUTION ที่มีตั้งแต่การออกแบบ แนะนำรูปแบบการติดตั้ง แนะนำการลงทุน และการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อนำมาใช้สำหรับการให้บริการสถานีชาร์จ EV เรียกว่ารองรับทั้งส่วนของผู้ลงทุนสถานี และผู้ใช้งานอีวี โดยมีการพัฒนาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง

นางณิศรา ระบุอีกว่า ปัจจุบัน กฟผ. มีแพ็คเกจสำหรับผู้ที่สนใจลงทุน 3 ขนาด แบ่งเป็น S ,M และ L เพื่อให้ผู้สนใจลงทุนได้เลือกให้เหมาะสมกับสถานที่และรูปแบบธุรกิจ ทั้งขนาดของเครื่องชาร์จ เวลาในการใช้บริการในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการต่อยอด และช่วยสร้างโอกาสในการทำธุรกิจให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น

 

“กฟผ.” ต่อยอดสถานีชาร์จ EV ปักเป้า 520 แห่งปี 68 มุ่ง “Net Zero”

 

สำหรับแพคเกจ S นั้น ขนาดของเครื่องชาร์จที่แนะนำคือ AC 22kW จำนวน 2 เครื่อง โดยมีเวลาในการใช้บริการในพื้นที่ประมาณ 4-6 ชั่วโมง ซึ่งรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสม ได้แก่ โรงแรม ,อาคารสำนักงาน ,คอนโด และพิพิธภัณฑ์

ส่วนแพคเกจ M ขนาดของของเครื่องชาร์จที่แนะนำคือ DC 30 – 60 kW 1 เครื่อง มี 1-2 หัวชาร์จต่อเครื่อง โดยมีเวลาในการใช้บริการในพื้นที่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง ซึ่งรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสม ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า ,ร้านอาหาร และค่าเฟ่

 

“กฟผ.” ต่อยอดสถานีชาร์จ EV ปักเป้า 520 แห่งปี 68 มุ่ง “Net Zero”

 

ขณะที่แพคเกจ L ขนาดของของเครื่องชาร์จที่แนะนำคือ DC 120kW 1 เครื่อง จำนวน 2 หัวชาร์จต่อเครื่อง โดยมีเวลาในการใช้บริการในพื้นที่ประมาณ 30-45 นาที ซึ่งรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสม ได้แก่ ปั๊มน้ำมัน ,จุดพักรถ และพื้นที่ติดถนนหลัก

“งบประมาณในการลงทุนเริ่มต้นจะอยู่ทีประมาณ 3 แสนบาทถึง 1.4 ล้านบาท โดยมีระยะเวลาในการคุ้มทุนประมาณ 4 ปี หรือไม่เกิน 5 ปี”