net-zero

WHA ดันกำลังผลิตไฟฟ้าสีเขียว 600 MW รับลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์

    WHA Group เร่งขับเคลื่อน Net Zero ชี้เป็นโอกาสทางธุรกิจ รองรับนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะกลุ่ม Data Center ที่ต้องการพลังงานสะอาด พร้อมทุ่มลงทุนต่อเนื่อง ดันกำลังผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเป็น 600 เมกะวัตต์ ในปี 2569

กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) WHA Group ดำเนินงานใน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก ได้แก่ โลจิสติกส์ นิคมอุตสาหกรรม สาธารณูปโภคและพลังงาน และโซลูชันดิจิทัลถือเป็นอีกบริษัทที่วางเป้าหมายที่ชัดเจนในการเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน มุ่งเน้นการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างระบบเศรษฐกิจที่คำนึงถึงทรัพยากรในระยะยาว โดยวางเป้าหมายบรรลุปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2593 หลังจากได้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนไปเมื่อปี 2564 สามารถช่วยลดการปล่อยเรือนกระจกทางอ้อมลงได้ถึง 51,491 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

สำหรับการดำเนินงานระยะสั้น WHA Group มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกใน Scope 1 และ Scope 2 ให้ได้ 37% ภายในปี 2572 และเป็น 42% ในปี 2573 พร้อมขยายการใช้พลังงานหมุนเวียนในทุกกลุ่มธุรกิจ

นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวว่า จากการดำเนินงานเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกำหนดเป้าหมายดังกล่าวไว้ นอกจากสนับสนุนการบรรลุปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ของประเทศ ภายในปี 2608 แล้ว ยังเป็นโอกาสการเติบโตของกลุ่มบริษัท จากการเข้ามาของกลุ่มนักลงทุน ที่บริษัทแม่มีนโยบายในการบรรลุปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ดาต้า เซ็นเตอร์ขนาดใหญ่ ยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน เป็นต้น ซึ่งมีความต้องการใช้พลังงานหมุนเวียนหรือไฟฟ้าสีเขียวเป็นส่วนใหญ่

 “จากความสนใจของนักลงทุนดังกล่าว คาดว่าถึงสิ้นปี 2567 บริษัท จะสามารถขายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมในไทยและเวียดนามได้ราว 2,500 ไร่ 9 เดือนแรกของ ปี 2567 บริษัทฯ มียอดขายที่ดินรวม 1,791 ไร่ (ไทย 1,695 ไร่/ เวียดนาม 96 ไร่) และยอดเซ็น MOU คงค้างรวม 904 ไร่ (ไทย 872 ไร่ / เวียดนาม 31 ไร่) โดยในปีหน้ามีแผนที่จะลงทุนพัฒนานิคมอุตสาหกรรมในไทยเพิ่มอีกราว 4 พันไร่ เพื่อรองรับนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามา”

ทั้งนี้ ยอมรับว่า ที่ผ่านมาพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมของบริษัท มีกลุ่มดาต้า เซ็นเตอร์ขนาดใหญ่กว่า 10 ราย ที่มีความต้องการพื้นที่ขนาด 100 ไร่ขึ้นไป สนใจจะเข้ามาลงทุน หลังจากที่บริษัทได้ลงนามในสัญญาซื้อขายที่ดินให้กับ Google บริษัทเทคโนโลยีระดับโลก ที่มีแผนสร้าง Data Center และ Cloud Region เมื่อช่วงไตรมาส 3 ที่ผ่านมา

WHA ดันกำลังผลิตไฟฟ้าสีเขียว 600 MW รับลงทุนดาต้าเซ็นเตอร์

นางสาวจรีพร กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการลงทุนในช่วง 5 ปี (2567-2571) บริษัทยังไม่มีการปรับใหม่โดยยังเป็นไปตามกรอบเม็ดเงินลงทุนเดิมราว 78,700 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มโลจิสติกส์ 21,000 ล้านบาท นิคมอุตสาหกรรม 33,000 ล้านบาท สาธารณูปโภคและพลังงาน 21,200 ล้านบาท และโซลูชันดิจิทัล 3,500 ล้านบาท ซึ่งในปี 2567 นี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ราว 15,000 ล้านบาท

ขณะที่การลงทุนเพื่อจัดหาพลังงานหมุนเวียนหรือไฟฟ้าสีเขียว เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero และรองรับนักลงทุนที่จะเข้ามานั้น จะยังมีการลงทุนต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าในปี 2569 จะมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ 600 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังผลิตอยูที่ 416 มกะวัตต์ เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ 394 เมกะวัตต์ พลังงานนํ้า 19 เมกะวัตต์ พลังานขยะ 3 เมกะวัตต์ ซึ่งมีการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 169 เมกะวัตต์ อยู่ระหว่างการก่อสร้าง 122 เมกัวัตต์ และอยู่ระหว่างการพัฒนา 125 เมกะวัตต์

อีกทั้งสิ้นปี 2567 นี้ บริษัท จะมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ Solar Rooftop ที่ลงนามสัญญารวม 283 เมกะวัตต์ อีกด้วย

“ที่ผ่านมากลุ่ม Data Center และ Cloud Region กว่า 10 รายมีความสนใจที่จะเข้ามาลงทุน และต้องการไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งทางบริษัทยืนยันสามารถตอบสนองได้ทั้งจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ FiT สำหรับปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง ที่ปัจจุบันมีอยู่ราว 125 เมกะวัตต์ ที่มีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในช่วงปี 2572-2573

อีกทั้งในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพีฉบับใหม่ ที่อยู่ระหว่างรอการประกาศออกมา ก็เปิดโอกาสให้เอกชนซื้อขายไฟฟ้าพลังงานสะอาด และพลังงานทดแทนได้โดยตรงจากผู้ผลิตไฟฟ้า หรือ Direct PPA ราว 2,000 เมกะวัตต์ บริษัทเองก็มีศักยภาพที่จะดำเนินในส่วนนี้ได้อีกด้วย”

 ส่วนการลงทุนขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในประเทศ ยังมีการเติบโตอีกมาก ตามร่างแผนพีดีพีฉบับใหม่ ที่จะมีกำลังผลิตกว่า 3 หมื่นเมกะวัตต์ จากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม ซึ่งบริษัทมีความสนใจที่จะข้าไปลงทุนจากการยื่นประมูลโครงการต่าง ๆ