ในการยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลก นานาประเทศจึงหันมาให้ความสำคัญกับการใช้พลังงานหมุนเวียน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุในการเกิดภาวะโลกร้อน โดยเฉพาะการพึ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์
เอลวา หวัง ผู้อำนวยการกลุ่มประจำเอเชียใต้ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเอเชียกลางของทรินา โซลาร์ เอเชียแปซิฟิก ได้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มของเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์ที่จะมาในปี 2568 หลัก ๆ มีอยู่ 5 เทรนด์ ได้แก่
1.แผงโซลาร์เซลล์ประสิทธิภาพสูง เทคโนโลยีโซลาร์ TOPCon จะยังคงเป็นตัวเลือกระดับแนวหน้าในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์อย่างน้อยในอีก 5 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้เพราะมีคุณสมบัติที่โดดเด่นในการเติมช่องว่างของตลาดด้วยประสิทธิภาพที่สูงกว่าและให้คุณค่าแก่ลูกค้าได้มากกว่า โดยมีค่าประสิทธิภาพรวมที่ติดกลุ่มสูงสุดที่ 25.9% และยังมีอัตราการเสื่อมสภาพในระดับตํ่าด้วย นอกจากนี้ยังมีความสามารถในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ทั้งสองด้าน (bifacial) ทำให้ผลิตพลังงานได้มากขึ้น
2.ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีแบตเตอรี่ เช่น การเปลี่ยนจากแบตเตอรี่ NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) มาเป็นแบตเตอรี่ LFP (Lithium Iron Phosphate) ซึ่งให้ประสิทธิภาพที่สูงขึ้นด้วยต้นทุนที่ตํ่าลงที่ผสานการทำงานร่วมกับ AI และแมชีนเลิร์นนิง
ระบบที่ทันสมัยเหล่านี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรี่ได้อย่างชัดเจนผ่านการเพิ่มประสิทธิภาพของรอบการชาร์จและการคายประจุ และยังสามารถทำการบำรุงรักษาเชิงพยากรณ์ได้อีกด้วย ซึ่งเมื่อนวัตกรรมเหล่านี้เริ่มคงที่ แบตเตอรี่ LFP ก็จะกลายเป็นระบบกักเก็บพลังงานที่เอื้ออำนวยแก่การนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายและให้ความยั่งยืนได้มากยิ่งขึ้นต่อไป
3.ระบบโซลาร์เซลล์ไฮบริด ที่โรงไฟฟ้าหรือผู้ใช้พลังงานรายใหญ่สามารถติดตั้งฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ ชนิดติดตั้งบนพื้นดินควบคู่ไปกับชนิดลอยนํ้า หรือผสานโรงไฟฟ้าพลังนํ้าเข้ากับฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดลอยนํ้า แล้วใช้งานร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน โดยระบบเหล่านี้สามารถเพิ่มและจัดการประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าให้สูงสุด ทำให้มีการใช้ที่ดินอย่างคุ้มค่าและช่วยลดต้นทุนได้
4.อะกริวอลทาอิกส์ (Agrivoltaics) หรือการใช้โซลาร์เซลล์ที่ได้ประโยชน์สองทาง หมายถึง การทำการเกษตรควบคู่กับโซลาร์ฟาร์ม เช่น การปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ หรือการสร้างแหล่งที่อยู่ให้แมลงผสมเกสร เอาไว้ใต้หรือใกล้กับแผงโซลาร์เซลล์ ซึ่งการทำการเกษตรร่วมกับการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ก็เป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จมาแล้วในหลายพื้นที่ เช่น โซลาร์ฟาร์มในไร่มันฝรั่งที่ประเทศญี่ปุ่น ฟาร์มแกะที่ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในนิวซีแลนด์ การทำประมงควบคู่กับโซลาร์ฟาร์มในจีน รวมถึงโซลาร์ฟาร์มในเขตทะเลทรายที่ช่วยกักเก็บความชุ่มชื้นในดิน
5.การประยุกต์ใช้แผงโซลาร์เซลล์เชิงสร้างสรรค์ : ปัจจุบันเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์แบบโค้งหรือชนิดฟิล์มบาง (Thin-Film) ทำให้สามารถดัด ม้วน หรือออกแบบแผงให้มีรูปทรงโค้งได้ จึงเปิดโอกาสให้วิศวกรและศิลปินสามารถพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ทั้งในด้านประโยชน์ใช้สอยและความสวยงาม แผงโซลาร์เซลล์ที่ยืดหยุ่นซึ่งทำจากวัสดุ PV หรือแผ่นฟิล์มบางนั้นมีนํ้าหนักเบาและใช้งานได้หลากหลาย เช่น สามารถนำไปติดตั้งบนหลังคา ยานพาหนะ หรือแจ๊คเก็ตที่สวมใส่กับร่างกายแม้ว่าเทคโนโลยีนี้จะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น แต่ก็ถือเป็นแนวทางที่ช่วยขยายขอบเขตจินตนาการและทำให้พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าถึงได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง