sustainability

"เครือซีพี" จับมือหน่วยงานภาครัฐ เดินหน้าโมเดลคืนป่าต้นน้ำภาคเหนือ

    "เครือซีพี" จับมือกับหน่วยงานภาครัฐ ชูโมเดลคืนป่าต้นน้ำภาคเหนือปีที่ 2 ปรับเปลี่ยนสู่เกษตรผสมผสาน เพิ่มอาชีพทางเลือกให้เกษตรกร

นางสาวพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ ร่วมกับ องค์การบริหารส่วน จ.น่าน อำเภอท่าวังผา อุทยานแห่งชาตินันทบุรี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช สํานักงานเกษตรและสหกรณ์ จ.น่าน กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร จ.น่าน สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.น่าน โครงการสถานีพัฒนาเกษตรที่สูงตามแนวพระราชดำริ จัดพิธีมอบเกียรติบัตรในโครงการ “คืนป่า แลกอาชีพทางเลือก” ประจำปี 2567 

\"เครือซีพี\" จับมือหน่วยงานภาครัฐ เดินหน้าโมเดลคืนป่าต้นน้ำภาคเหนือ

เพื่อส่งเสริมให้เกษตรบ้านสบขุ่น จ.น่าน ร่วมคืนพื้นที่ทำกินที่อยู่ห่างไกลให้กับภาครัฐ เพื่อปรับเปลี่ยนสภาพให้เป็นป่าถาวร และปรับเปลี่ยนสู่วิถีการเกษตรแบบผสมผสาน มุ่งฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่านอย่างยั่งยืน โดยมี นายกฤชเพชร เพชรบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน เป็นประธาน พร้อมด้วย นางสาวพิไลลักษณ์ พิชัยวัตต์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเกษตรกร ร่วมงาน ณ ชุมชนบ้านสบขุ่น อ.ท่าวังผา จ.น่าน

“เครือซีพี มุ่งมั่นผนึกกำลังทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านความยั่งยืน ภายใต้โครงการ “สบขุ่นโมเดล” อย่างต่อเนื่อง ในการพลิกฟื้นผืนป่าและพัฒนาคุณภาพชีวิตสู่ชุมชนที่ยั่งยืน การมอบเกียรติบัตรเพื่อสร้างความภาคภูมิใจให้แก่เกษตรกร ในโครงการ “คืนป่า แลกอาชีพ” ซึ่งร่วมคืนพื้นที่ทำกินที่อยู่ห่างไกลให้กับทางภาครัฐ เพื่อปรับเปลี่ยนสภาพเป็นผืนป่าถาวร และปรับเปลี่ยนจากวิถีการเกษตรแบบเชิงเดี่ยวที่ใช้พื้นที่มาก เป็นการเกษตรแบบผสมผสานที่ใช้พื้นที่น้อยแต่มีมูลทางเศรษฐกิจสูง ทำให้เกิดการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ป่าต้นน้ำน่าน คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลและยั่งยืน”

\"เครือซีพี\" จับมือหน่วยงานภาครัฐ เดินหน้าโมเดลคืนป่าต้นน้ำภาคเหนือ

โดยการพิจารณาผู้เข้าร่วมโครงการ “คืนป่า แลกอาชีพ” ต้องเป็นพื้นที่ทำกินของเกษตรกรที่ไม่ทับซ้อนพื้นที่ทำกินของเกษตรกรรายอื่น ไม่ทับซ้อนพื้นที่หน่วยงานภาครัฐ และเมื่อเข้าร่วมโครงการแล้วต้องไม่กลับไปทำกินในพื้นที่ดังกล่าวอีก ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 76 ราย ได้พื้นที่ป่าคืนแล้ว 2,925 ไร่ และเกษตรกรได้รับทุนสนับสนุนการประกอบอาชีพกว่า 1.4 ล้านบาท โดยพื้นที่ได้รับมาทั้งหมดจะมอบให้ชุมชนบ้านสบขุ่นเป็นผู้ดูแลรักษา กำหนดกฎกติกาของชุมชนขึ้นมาดูแล เพื่อนำไปสู่การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำน่านอย่างยั่งยืน

นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน กล่าวว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ของ จ.น่าน เป็นพื้นที่ป่าไม้ ในรอบหลายปีที่ผ่านมามีปัญหาภูเขาหัวโล้น ทำให้หลายภาคส่วนตระหนักถึงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าต้นน้ำน่าน โดยเฉพาะพลังของเกษตรกรชุมชนบ้านสบขุ่น ที่ช่วยกันอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้ให้กลับมาสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี ผ่าน “โครงการสบขุ่นโมเดล ต้นแบบการฟื้นฟูป่า” ถือเป็นการส่งต่อคุณค่าความเป็นชุมชนสร้างป่าสร้างรายได้สู่สังคม 

\"เครือซีพี\" จับมือหน่วยงานภาครัฐ เดินหน้าโมเดลคืนป่าต้นน้ำภาคเหนือ

สำหรับการผนึกกำลังของภาคเอกชนอย่างเครือซีพี และหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคส่วนต่าง ๆ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนโครงการฯ ทั้งในมิติด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจชุมชน และการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้าน ที่มุ่งเน้นส่งเสริมการปรับเปลี่ยนอาชีพของชาวบ้านและเกษตรกร ให้มีโอกาสลดพื้นที่การทำเกษตรพืชเชิงเดี่ยว และคืนพื้นที่บางส่วนให้กลับไปเป็นผืนป่าถาวร ตามแนวทางการปลูกป่าแบบไม่ปลูก สู่การฟื้นฟูสภาพป่าด้วยวัฏจักรธรรมชาติต่อไป