sustainability

โรงกษาปณ์อังกฤษเปลี่ยน “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” เป็น “ทองคำ”

    โรงกษาปณ์อังกฤษแก้ปัญหาให้กลายเป็นขุมทรัพย์ เปลี่ยน “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” เป็น “ทองคำ” กู้คืนจากขยะได้มากกว่า 99%

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" กลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ท้าทายโลก จากรายงานล่าสุดของสหประชาชาติ พบว่าในปี 2022 มีการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 62 ล้านตัน และคาดการณ์ว่าในปี 2030 จำนวนนี้จะเพิ่มขึ้นอีกประมาณหนึ่งในสาม ที่น่าตกใจยิ่งกว่าคือ หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์อาจเพิ่มขึ้นเป็น 74 ล้านตันภายในปี 2030 ซึ่งเทียบเท่ากับน้ำหนักของเรือสำราญ 350 ลำ

 

แต่ในวิกฤตนี้ สหราชอาณาจักรได้มองเห็นโอกาส โรงกษาปณ์หลวงแห่งสหราชอาณาจักร (Royal Mint) ผู้ผลิตเหรียญกษาปณ์ที่มีประวัติยาวนานกว่าพันปี ได้ริเริ่มโครงการที่จะเปลี่ยน "ขยะ" เหล่านี้ให้กลายเป็น "ทองคำ" โดยได้ลงนามข้อตกลงกับบริษัทสตาร์ทอัพเทคโนโลยีสะอาดของแคนาดา Excir เพื่อนำเทคโนโลยีแรกของโลกมาใช้ในสหราชอาณาจักร

เทคโนโลยีที่ได้รับการรับรองของ Excir ซึ่งอิงจากเคมีเชิงปฏิวัติ สามารถกู้ทองคำได้มากกว่า 99% จากขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่สะสมอยู่ในแผงวงจรของแล็ปท็อปและโทรศัพท์มือถือที่ถูกทิ้ง โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่วินาที นับเป็นการนำเสนอโซลูชั่นใหม่ให้กับปัญหาขยะที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก

 

เปลี่ยนขยะเป็นขุมทรัพย์

กระบวนการแปรรูปเริ่มต้นด้วยการนำชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าสู่โรงงาน ความร้อนจะถูกใช้เพื่อแยกส่วนประกอบต่างๆ เช่น คอยล์ ตัวเก็บประจุ พิน และทรานซิสเตอร์ ออกจากกัน ชิ้นส่วนเหล่านี้จะถูกลำเลียงไปตามสายพาน โดยชิ้นส่วนที่มีทองคำจะถูกส่งไปยังโรงงานเคมีเพื่อการประมวลผลต่อไป

ในขั้นตอนต่อไป ชิ้นส่วนที่มีทองคำจะถูกนำไปแช่ในสารละลายเคมีพิเศษ ซึ่งจะแยกทองคำออกมาในรูปของเหลว หลังจากผ่านกระบวนการกรอง เราจะได้ผงทองคำบริสุทธิ์ ซึ่งเมื่อนำไปให้ความร้อนในเตาเผาก็จะกลายเป็นก้อนทองคำ การใช้เทคโนโลยีครั้งแรกที่โรงกษาปณ์สามารถผลิตทองคำที่มีความบริสุทธิ์ 999.9 ได้แล้ว

โรงกษาปณ์อังกฤษเปลี่ยน “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” เป็น “ทองคำ”

 

อิงกา โดอัค หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของโรงกษาปณ์หลวง กล่าวว่า "สิ่งที่เรากำลังทำอยู่นี้ เป็นการขุดเหมืองในเมือง เรากำลังนำขยะที่สังคมสร้างขึ้น มาแปลงให้เป็นทองคำ และเริ่มมองเห็นคุณค่าของทรัพยากรที่มีจำกัดนั้น"

 

เลตัน จอห์น ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการของโรงกษาปณ์หลวง ได้เน้นย้ำถึงข้อได้เปรียบของเทคโนโลยีใหม่นี้ เมื่อเทียบกับวิธีการดั้งเดิมที่ใช้พลังงานสูงและสารเคมีที่เป็นพิษ เขากล่าวว่า "สารเคมีที่เราเอามาใช้ มันถูกใช้ในอุณหภูมิห้อง ด้วยพลังงานต่ำมาก สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ และดึงทองคำออกมาได้อย่างรวดเร็ว" ถือเป็นการปฏิวัติกระบวนการรีไซเคิลที่ไม่เพียงแต่มีประสิทธิภาพ แต่ยังเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

 

รายงานขยะอิเล็กทรอนิกส์ของสหประชาชาติประจำปี 2024 ระบุว่า สหราชอาณาจักรเป็นผู้ผลิตขยะเทคโนโลยีต่อจำนวนประชากรมากที่สุดเป็นอันดับสอง รองจากนอร์เวย์เท่านั้น ด้วยความตระหนักถึงปัญหานี้ โรงกษาปณ์หลวงจึงตั้งเป้าที่จะจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้ได้มากกว่า 4,000 ตันต่อปี

โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์ 4,000 ตัน สามารถสร้างทองคำได้มากถึง 450 กิโลกรัม ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 27 ล้านปอนด์ หรือประมาณ 1,219 ล้านบาท

ปัจจุบันมีขยะอิเล็กทรอนิกส์เพียงไม่ถึง 20% ที่ถูกรีไซเคิล นั่นหมายความว่า โลหะมีค่าต่างๆ เช่น ทองคำ เงิน ทองแดง แพลเลเดียม และอื่นๆ ที่มีมูลค่ารวมกว่า 57,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่า GDP ของหลายประเทศทั่วโลก กำลังถูกทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

 

แอนน์ เจสโซปป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของโรงกษาปณ์หลวง กล่าวว่า "ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญของ The Royal Mint ในขณะที่เราสร้างสรรค์สิ่งใหม่เพื่ออนาคตในฐานะแหล่งผลิตโลหะมีค่าในสหราชอาณาจักร ศักยภาพของเทคโนโลยีนี้มีมหาศาล โดยลดผลกระทบของขยะอิเล็กทรอนิกส์ รักษาสินค้ามีค่า และสร้างทักษะใหม่ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน"

 

นอกจากการรีไซเคิลทองคำแล้ว โรงกษาปณ์หลวงยังกำลังศึกษาวิธีจัดการกับวัสดุอื่นๆ ที่ได้จากแผงวงจร เช่น อะลูมิเนียม ทองแดง ดีบุก และเหล็ก รวมถึงการนำแผงวงจรที่ถูกบดแล้วไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นการต่อยอดแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างครบวงจร เมื่อขยายขนาดเต็มที่ กระบวนการนี้ก็มีโอกาสที่จะนำแพลเลเดียม เงิน และทองแดงกลับมาใช้ใหม่ได้

 

ส่วนทองคำที่ได้จากการรีไซเคิล ได้ถูกนำไปผลิตเป็นเครื่องประดับในคอลเล็กชัน 886 ซึ่งประกอบด้วยจี้ สร้อยข้อมือ และแหวนตราสัญลักษณ์ ในราคาตั้งแต่ 1,525-2,995 ปอนด์ หรือประมาณ 68,756-135,032 บาท นอกจากนี้ ยังมีเครื่องประดับเงินที่ผลิตจากโลหะรีไซเคิลจากฟิล์มเอกซเรย์ ซึ่งมีราคาเริ่มต้นที่ 225 ปอนด์ หรือราว 10,146 บาท

 

อ้างอิง: