sustainability

"Leftover Love : จากเศษอาหารสู่โอกาส" - โลกใหม่ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

    "Leftover Love : จากเศษอาหารสู่โอกาส" - โลกใหม่ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดย ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ประธานคณะผู้บริหาร ด้านความยั่งยืนองค์กร และการพัฒนากลยุทธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์

820 ล้านคน คือ จำนวนประชากรทั่วโลกที่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ในจำนวนนี้มีมากกว่า 691 ล้านคนเผชิญกับความหิวโหย คาดว่าปีนี้จะมีประชากรเพิ่มขึ้น 122 ล้านคนที่พบเจอกับความอดอยาก ขณะที่หลายครัวเรือนยังกินอิ่ม และมีเศษอาหารถูกทิ้งขว้างมากกว่า 254 กิโลกรัม ต่อคน ต่อปี 

อาหารมากกว่า 30 % จากทั่วโลก ถูกองค์การอาหาร และการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO นิยามว่า “สาบสูญ” ระหว่างทาง ข้อมูลจากกรมปศุสัตว์ ระบุว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตออกมา หรือราว 1.3 ล้านตัน เป็นอาหารที่ยังกินได้ หรือนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ทว่าถูกทำลายในรูปแบบ “อาหารส่วนเกิน” และ “เศษอาหาร”

ข้อมูลจาก FAO ชี้ว่า ไทยเองสร้างขยะอาหารมากกว่า 17 ล้านตันต่อปี คาบเกี่ยวตลอดห่วงโซ่อาหาร ขณะที่กรมควบคุมมลพิษระบุว่า ไทยนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์น้อยมาก เฉพาะกทม. สามารถรีไซเคิลขยะอาหารได้เพียงร้อยละ 2 เท่านั้น
 

“อาหารขยะ” ที่ล้นเกิน ขณะทั่วโลกยังเผชิญความหิวโหย สถานการณ์นี้น่าเป็นห่วงยิ่ง

การพิจารณาวิกฤตินี้  อาจต้องเริ่มที่ การทำความเข้าใจนิยาม 2 ศัพท์ที่สำคัญ คือหนึ่ง “ขยะอาหาร” หรือ “Food Waste” ที่มักเกิดขึ้นในช่วงสุดท้ายของห่วงโซ่อาหารของการค้าปลีก และการบริโภค เช่น ข้าวที่เรารับประทานเหลือ ผักประดับจานเหลือทิ้ง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ เป็น “อาหารส่วนเกิน” หรือ “Food Surplus” ที่ผลิตมากเกินความต้องการ และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีก ส่วนศัพท์ที่สอง คือ “การสูญเสียอาหาร” หรือ “Food Loss” เป็นอาหาร หรือเศษอาหารที่ถูกคัดทิ้งในช่วงกระบวนการผลิต ตั้งแต่การเก็บเกี่ยว การขนส่ง ไปจนถึงการแปรรูป เช่น สินค้าทางการเกษตรที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นต้น

สองนิยามศัพท์นี้ เป็นเสมือนไฟฉายส่องทางให้เรามองเห็น “ต้นเหตุ” ที่ลึกออกไป ปัญหา “ขยะอาหาร” จึงเป็นเรื่องใหญ่ ที่ผูกพันตั้งแต่ประชาชนทั่วไปในฐานะผู้บริโภค พ่อค้าแม่ค้า ภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้กำกับนโยบาย เช่นเดียวกับหนทางแก้ปัญหาที่ต้องอาศัยการปรับวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคล ตลอดจนกฎเกณฑ์ของประเทศ

จะว่าไปแล้ววิกฤตินี้เป็นเรื่องใหญ่ จนทำให้สหประชาชาติ หรือ UN ตั้งโจทย์ให้ทั่วโลกลด “ขยะอาหาร” ให้เหลือ “ครึ่งหนึ่ง” ในปีพ.ศ. 2573 หรืออีก 7 ปีข้างหน้า โดยกำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ SDG วาระนี้ประเทศไทยได้ตอบรับเอาไว้ใน “พิมพ์เขียว” แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ระยะที่ 1 (ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2565-2570) ควบรวมปัญหาการลดขยะตั้งแต่ต้นทาง และปลายทาง ให้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 25 กลุ่มประชาคมโลกอย่างสหภาพยุโรปก็เอาจริงเอาจังกับการ “บริจาคอาหารส่วนเกิน” ถึงขั้นออกเป็นมาตรการบังคับใช้ และให้แรงจูงใจทางภาษี

มิติของการขาดสารอาหาร และความหิวโหย จึงเป็นความท้าท้ายสำคัญ
โจทย์ใหญ่จึงอยู่ที่ว่าเราจะสร้างสมดุล เพื่อให้อาหารถึงมือผู้ต้องการ
“ไม่สูญหาย”และ“สูญเปล่า” ได้อย่างไร ?

สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาวิกฤติ “ขยะอาหาร” ผมขอเสนอบันได  4 ขั้นเป็นใบเบิกทาง โดยเน้นที่บทบาทของภาคเอกชน ผ่านการทำงานร่วมกับภาครัฐ และภาคประชาชน  ดังนี้

1. “การกำกับดูแล” ภาครัฐจำเป็นต้องมีมาตรการควบคุม ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ โดยกำหนดคุณภาพของการผลิต เพื่อลดการสูญเสียทุกขั้นตอน ตลอดจนกำหนดคุณภาพการจัดการขยะอาหารของครัวเรือน โดยอาจให้แรงจูงใจผ่านภาษี (Incentive) ดังที่กรมปศุสัตว์ ระบุว่า ประชาชนฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกาสามารถยื่นขอคืนภาษี หลังการบริจาคอาหารให้กับองค์กร หรือสถานสงเคราะห์ได้ โดยนับเป็นมาตรการที่สร้างแรงจูงใจ และการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค ขณะที่อาหารก็ถึงมือผู้ขาดแคลนอย่างแท้จริง

2. “การส่งเสริมเทคโนโลยี” เริ่มที่ภาคเอกชน ซึ่งจำเป็นต้องมีนวัตกรรมติดตามคุณภาพ เพื่อลดการสูญเสียทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเก็บเกี่ยว รับซื้อจนถึงการจัดส่งออก ขณะที่ภาคประชาชน และเอกชน สามารถทำงานร่วมกัน อาทิ มีแอปพลิเคชันช่วยให้ผู้บริโภค และร้านค้าแลกเปลี่ยนอาหารเหลือใช้กันได้ เป็นต้น โดยในสหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ได้จัดทำแพทฟอร์ม เป็นฐานมูลชี้เป้าพื้นที่ที่ก่อให้เกิดขยะส่วนเกิน และจำนวนขยะอาหาร ตามข้อมูลของกรมปศุสัตว์ ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการบริจาคให้ “คล่องตัว” และ “ทั่วถึง” มากขึ้น

3. การสร้างพันธมิตร โดยภาคเอกชน ต้องทำงานร่วมกับภาคประชาสังคม ในฐานะ Third Party ในโครงการลดขยะอาหาร ซึ่งถือเป็นการสร้างความแข็งแกร่งในระบบการช่วยเหลือทางสังคม เช่น การจัดตั้งธนาคารอาหาร ที่รับบริจาคอาหารที่ยังไม่หมดอายุ และแจกจ่ายให้กับผู้ที่ต้องการ เป็นต้น โดยอาจออกเป็นข้อบังคับ ดังที่ออสเตรเลียกำหนดให้ใครก็ตามที่ผลิตอาหารส่วนเกิน ต้องทำการบริจาคอาหารให้ผู้ที่ขาดแคลน

4. การสร้างจิตสำนึก ที่ผมขอเรียกว่า "Goodbye Waste, Hello Taste กินให้หมด ลดขยะ” เราอาจเริ่มที่การปลูกฝังผ่านระบบการศึกษา ติดตั้งองค์ความรู้ให้เห็นความไม่สมดุลของ “อาหารเหลือ” และ “การขาดอาหาร” ภาคเอกชนเองก็อาจทำงานร่วมกับชุมชน เช่น การจัดเวิร์กชอปสอนวิธีการเก็บรักษา และแปรรูปอาหาร (Food Preservation) หรือการแบ่งปันสูตรอาหารที่ใช้วัตถุดิบเหลือใช้ การสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืน เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า ภาคเอกชนมีบทบาทอย่างมากในกระบวนการแก้ปัญหานี้!

เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี (CP) และบริษัทในเครือ พวกเรายังเดินหน้าลดปริมาณขยะอาหารภายในธุรกิจของเราให้เป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2573 ในฐานะที่เครือซีพีเป็นหนึ่งในสมาชิกขององค์กรผู้นำด้านความยั่งยืนโลก  (UN Global Compact Lead) จากสหประชาชาติ ซึ่งสอดคล้องวิสัยทัศน์ของคุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือซีพี ผ่านเป้าหมายแนวทางการลดของเสียในปี 2573 ภายใต้ “เศรษฐกิจแบบหมุนเวียน” หรือ “Circular Economy” อาทิ การบริจาคอาหารส่วนเกินให้กับกลุ่มเปราะบางทางสังคมให้ได้ 25,000 ตัน การผลิตปุ๋ยจากขยะอาหารให้ได้ 12,000 ตัน เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับสังคม

 

\"Leftover Love : จากเศษอาหารสู่โอกาส\" - โลกใหม่ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

 

“กินได้ไม่ทิ้งกัน” x “ไม่เทรวม” คือ หนึ่งในโครงการที่บมจ. ซีพี แอ็กซ์ตร้า หรือโลตัส ธุรกิจภายใต้เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพี โดยโลตัส โก เฟรช  (Lotus’s go fresh) 350 สาขา ได้ประสานพันธมิตรกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) มอบอาหารที่จำหน่ายไม่หมด แต่ยังสามารถ “ทานได้ อิ่มได้อย่างปลอดภัย” (Edible Surplus Food) กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายรักษาความสะอาดของกทม. ขณะที่โลตัส โก เฟรช เองก็ดำเนินมาตรการแยกประเภทขยะอาหาร เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป (Upcycling) อาทิ การทำปุ๋ยบำรุงต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ เป็นต้น โดยได้มอบอาหาร และวัตถุดิบให้เจ้าหน้ากรุงเทพมหานครรวมแล้วกว่า 36 ตัน

ในทางกลยุทธ์ โลตัสได้ ได้วางกระบวนการลดการสูญเสียขยะอาหาร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ เริ่มจากการวางแผนรับซื้อ โดยให้เกษตรกรปลูกผักตามปริมาณที่ลูกค้าต้องการ ลดการสูญเสียระหว่างขนส่งโดยใช้รถควบคุมอุณหภูมิ ขณะที่กลางน้ำ สนับสนุนให้ผู้บริโภคซื้อสิ้นค้าลดราคา หรือสินค้าป้ายเหลือง แทนการทิ้งเป็นขยะอาหาร ส่วนที่รับประทานไม่ได้แล้ว ก็บริจาคให้กับมูลนิธิต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ สุดท้ายที่ปลายน้ำ ได้จับมือพันธมิตรหน่วยงานภาครัฐ และภาคประชาสังคมสร้างการตระหนักรู้เพื่อลดขยะอาหาร

สำหรับภาพรวมของเครือซีพี เราได้ขับเคลื่อน “ธนาคารอาหารแห่งชาติ” เพื่อยุติความหิวโหย และทำงานร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร (Third Party) เช่น มูลนิธิ สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนส์ ประเทศไทย เป็นต้น

โดยผลการดำเนินงานของเราในปี 2566 เครือซีพีได้บริจาคอาหารกว่า 8.8 ล้านมื้อให้กับเด็ก เยาวชน ผู้ยากไร้ และผู้ที่อยู่ในสถานการณ์เสี่ยงกว่า 10 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 84.6 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มีตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 52.2 นับเป็นความเอาจริงเอาจังในการสร้างโอกาสการเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย และมีคุณค่าทางโภชนาการ

ในฐานะบทบาทเอกชน “การลดขยะอาหาร” จึงไม่ใช่เพียงมาตรการเพียงเพื่อการปกป้อง และแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ทว่ายังเป็นการช่วยเหลือผู้ขาดแคลน ต่อชีวิตผู้เผชิญความหิวโหย นำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความก้าวหน้าด้านสิทธิมนุษยชน การแก้ปัญหาจึงต้องเท่าทันสถานการณ์ สามารถคลี่คลายความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และสร้างจิตสำนึกเพื่อป้องกันระยะยาว

โลกที่สมดุล จึงไม่ใช่เพียง “ลดขยะอาหาร”
ทว่า ยังต้องโอบรับเพื่อนร่วมโลก ไม่ให้เผชิญความอดอยาก หิวโหย 
เป็นโลกใหม่ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง...