sustainability

สวทช. พัฒนา AI เชื่อมผู้ให้-ผู้รับบริจาค มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน

    สวทช. พัฒนา AI เชื่อมโยง ‘ผู้ให้’ กับ ‘ผู้รับบริจาคอาหาร’ มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน ช่วยส่งต่ออาหารไปแล้วกว่า 9.8 ล้านกิโลกรัมหรือคิดเป็น 41.3 ล้านมื้ออาหาร โดยส่งมอบให้แก่ชุมชนมากกว่า 3,750 แห่ง ช่วยลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการฝังกลบได้เกือบ 25,000 ตัน

ประเทศไทยมีอาหารส่วนเกินมากถึงเกือบ 4 ล้านตันต่อปี ขณะที่มีประชากรรายได้น้อยและผู้ประสบปัญหาการเข้าถึงอาหารคุณภาพมากถึง 3.8 ล้านคน ตั้งแต่ปี 2559 มูลนิธิ SOS Thailand หรือ Scholars of Sustenance Foundation, Thailand ได้ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้ต้องการบริจาคอาหารกับผู้ต้องการรับบริจาคอาหาร เพื่อช่วยบรรเทาความหิวโหยและแก้ไขปัญหาอาหารส่วนเกิน ซึ่งเป็นตัวการสำคัญของปัญหาโลกร้อน

สวทช. พัฒนา AI เชื่อมผู้ให้-ผู้รับบริจาค มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน

ปัจจุบันมูลนิธิได้ช่วยส่งต่ออาหารไปแล้วกว่า 9.8 ล้านกิโลกรัมหรือคิดเป็น 41.3 ล้านมื้ออาหาร โดยส่งมอบให้แก่ชุมชนมากกว่า 3,750 แห่ง ช่วยลดการสร้างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการฝังกลบได้เกือบ 25,000 ตัน (ตามการรายงานของ SOS Thailand)

ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ SOS Thailand ดำเนินงานได้สะดวกและรวดเร็ว มีความพร้อมที่จะขยายการดำเนินงานไปยังพื้นที่อื่น ๆ ที่ยังคงต้องการความช่วยเหลือมากยิ่งขึ้น กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้พัฒนาแพลตฟอร์ม AI ช่วยแนะนำการจับคู่ความต้องการระหว่างผู้บริจาคกับผู้ขอรับบริจาคอาหารแบบอัตโนมัติ เพื่อช่วยลดภาระและเวลาการทำงานให้แก่เจ้าหน้าที่ โดยการวิจัยและพัฒนานี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)

สวทช. พัฒนา AI เชื่อมผู้ให้-ผู้รับบริจาค มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน

ดร.นันทพร รติสุนทร นักวิจัยทีมวิจัยการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ กลุ่มวิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ เนคเทค สวทช. เล่าว่า ทีมวิจัยได้นำประสบการณ์ความเชี่ยวชาญเรื่องการออกแบบและพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลอัจฉริยะที่ได้จากการพัฒนาระบบ Thai School Lunch หรือระบบแนะนำสำรับอาหารกลางวันสำหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติที่เปิดให้บริการแก่สถานศึกษาทั่วประเทศไทย มาต่อยอดพัฒนาสู่แพลตฟอร์มจับคู่ความต้องการระหว่างผู้บริจาคกับผู้ขอรับบริจาคอาหารแบบอัตโนมัติ

สวทช. พัฒนา AI เชื่อมผู้ให้-ผู้รับบริจาค มุ่งลดความสูญเปล่าอาหารส่วนเกิน

กลไกหลักคือเมื่อผู้บริจาค เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารขนาดใหญ่ ยื่นความประสงค์บริจาคอาหารผ่าน Cloud Food Bank หรือช่องทางรับบริจาคต่าง ๆ ของ SOS Thailand ระบบจะเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ประเภทอาหาร ปริมาณอาหาร ปริมาณความต้องการอาหาร (คำนวณจากจำนวนผู้ต้องการอาหารจากแต่ละชุมชน) รวมถึงข้อจำกัดด้านการขนส่งของ SOS Thailand โดยอัตโนมัติ จากนั้น AI จะวิเคราะห์และแนะนำตัวเลือกการจัดสรรอาหารบริจาค พร้อมตารางเส้นทางรับส่งอาหาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตัดสินใจบริหารจัดการอาหารบริจาคแต่ละวันได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

ปัจจุบันทีมวิจัยพัฒนาแพลตฟอร์มนี้เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนทดสอบใช้งานร่วมกับมูลนิธิ SOS Thailand ซึ่งคาดว่าจะพร้อมใช้งานเต็มรูปแบบภายในสิ้นปีนี้ ระบบนี้จะช่วยสนับสนุนให้ทีม SOS Thailand ขยายผลการดำเนินงานไปยังนอกพื้นที่บริการหลัก 5 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ ภูเก็ต ประจวบคีรีขันธ์ เชียงใหม่ และนครราชสีมาได้ง่ายยิ่งขึ้น (การขยายผลมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาหลายด้าน แพลตฟอร์มที่ทีมวิจัยช่วยพัฒนาเป็นเพียงปัจจัยสนับสนุนหนึ่งเท่านั้น)

นอกจากนี้ทีมวิจัยยังมีแผนพัฒนาต่อยอดแพลตฟอร์ม AI นี้ให้เป็นเครื่องมือบริหารจัดการอาหารบริจาคไปยังกลุ่มคนเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ โดยจะร่วมกับโครงการ BKK Food Bank ของกรุงเทพมหานคร ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรอาหารบริจาคทั้งอาหารสดและอาหารแห้ง

ดร.นันทพร เล่าต่อว่า นอกจากเทคโนโลยีข้างต้น ทีมวิจัยยังได้พัฒนาระบบสร้างแคมเพนบริจาคอาหาร ซึ่งจะเปิดรับบริจาคอาหารจากทั้งจากผู้ประกอบการรายใหญ่ รายย่อย รวมถึงประชาชนทั่วไปในพื้นที่ที่มีความต้องการอาหารแบบเฉพาะกิจ เพื่อให้ได้ปริมาณอาหารประเภทที่ต้องการมากเพียงพอสำหรับจัดส่งให้แก่ผู้ที่มีความต้องการอาหารเหล่านั้นอย่างเร่งด่วน เช่น ผู้ประสบภัยธรรมชาติ

“ในขั้นตอนถัดไปของการดำเนินงาน ทีมวิจัยยังมีแผนที่จะพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการขยายการดำเนินงานของ SOS Thailand ให้ครอบคลุมไปยังพื้นที่เมืองรอง ภายใต้แผนการจัดตั้ง National Food Bank และในอนาคตจะพัฒนาแพลตฟอร์มนี้ให้มุ่งเน้นการจัดสรรอาหารบริจาคตามหลักโภชนาการที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย เพื่อสร้างเสริมสุขภาวะให้แก่ผู้รับบริจาคอาหารในแต่ละพื้นที่ และยังเป็นการส่งเสริมการเพิ่มขีดความสามารถในการจัดการอาหารส่วนเกินอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

“การพัฒนาและการใช้งานระบบ Cloud Food Bank รวมถึงแพลตฟอร์ม AI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการอาหารส่วนเกิน จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ทั้งค่าอุปกรณ์โครงสร้างพื้นฐาน ค่าเช่าพื้นที่คลาวด์ ค่าสาธารณูปโภค ค่าซ่อมบำรุง และค่าบริหารจัดการ

ดังนั้น SOS Thailand จึงมีความจำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปเพื่อให้ดำเนินภารกิจต่อไปได้ในระยะยาว และยังเป็นหนึ่งในกลไกสนับสนุนให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 2 การขจัดความหิวโหย และเป้าหมายที่ 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน”