sustainability

SCBX ปักธงภายในปี 68 ปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน 1.5 แสนล้าน

    "ยรรยง ไทยเจริญ" เผย SCBX ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจบน "ความยั่งยืน" ชี้ climate change เป็นหัวข้อที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และเป็นความท้าทายระดับโลก พร้อมตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนในปี 66-68 สูงกว่า 1.5 แสนล้านบาท

ดร.ยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจ Wealth และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กล่าวในหัวข้อ Financial for Sustainability ในงาน Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business ว่า เราเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการดำเนินธุรกิจบนความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง

และแน่นอนว่าบริบทของความยั่งยืนก็จะเปลี่ยนไปตามความท้าทายของสังคมโลก เศรษฐกิจโลก ในปัจจุบันมองว่าโจทย์หลักๆ ในเรื่องของ ESG ถือว่าเป็นกลยุทธ์หลักของธนาคาร ซึ่งเราจะต้องนำพาทั้งธนาคารและลูกค้าให้เดินไปด้วยกัน ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) เป็นหัวข้อที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และยังคงเป็นความท้าทายระดับโลก

โดยธนาคารได้วางเป้าหมายที่ท้าทายบนพื้นฐานของเป้าหมายต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และการใช้หัวใจของการเงินในการสร้างแรงจูงใจให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลง สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยยังขาดไปคือเรื่องของการตระหนักรู้ ทำให้การเปลี่ยนแปลงจึงยังไม่เกิดขึ้นอย่างที่คาดหวัง

SCBX เป็นกลุ่มบริษัททางการเงินแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่ให้คำสัญญาที่จะทำให้เกิด Net Zero ของ SBTI  ( The Science Based Targets initiative) ซึ่งภาคอุตสาหกรรมหลักๆ ของโลกเกือบ 9,000 แห่งจะทำตามมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่สามารถวัดได้ ตรวจสอบได้ และสอดคล้องกับการที่จะช่วยทําให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส

ดังนั้น ภายใต้คำสัญญานี้จึงเกิดการประกาศขึ้น เราทำ Net Zero สโคป 1,2 จะต้องทำให้ได้ในปี 2030 แต่ที่สำคัญ คือ สโคป 3 เพราะต้องทำให้พอร์ตสินเชื่อเป็น Net Zero ภายในปี 2050 จากตัวเลขการปล่อยคาร์บอนของบริษัทปีละ 70,000 ตัน แต่พอร์ทสินเชื่อของไทยพาณิชย์ปีที่แล้วสูงถึง 6.7 ล้านตัน

หมายความว่าการปล่อยคาร์บอนของ SCBX จริงๆ นั้นมีเพียงแค่ 1% เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือการพาลูกค้าให้เดินไปสู่เป้าหมาย Net Zero ให้ได้ จึงเป็นความท้าทายและโอกาสสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น พอร์ตทางด้านพลังงาน ในการปล่อยคาร์บอน 6.7 ล้านตัน พอร์ตพลังงานไฟฟ้ามีส่วนในการปล่อยแล้วกว่าครึ่งหนึ่งราว 3.4 ล้านตัน เพราะฉะนั้นหากอยากจะทำให้พอร์ตกรีนขึ้น ทางธนาคารก็ต้องเลือกปล่อยสินเชื่อไปยังบริษัทที่ผลิต 'พลังงานหมุนเวียน' มากขึ้น และเลือกปล่อยสินเชื่อให้แก่บริษัทที่ใช้พลังงานฟอสซิลน้อยลง

พร้อมกันนี้ ธนาคารได้ปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนในปี 66-68 ไปแล้วรวมกว่า 1.5 แสนล้านบาท และคาดว่าภายในสิ้นปี 67 นี้ จะปล่อยสินเชื่อไปแล้วไม่ต่ำกว่า 1.3 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เพราะลูกค้ารายใหญ่มีการตระหนักรู้และปรับเปลี่ยนตนเอง

อีกทั้งยังเป็นเพราะลูกค้ารายใหญ่มีการตกลงกับทางธนาคาร หากลูกค้าสามารถบรรลุเป้าหมายในเรื่อง ESG จะมีเรื่องการลดดอกเบี้ยให้ ในลักษณะของอินเซนทีฟ ส่วนในบริษัทระดับลูกค้ารายย่อย (SMEs) จะต้องตอบโจทย์ไม่เฉพาะแค่เรื่องขาดเงินทุน แต่ยังต้องสนับสนุนทั้งเรื่องเทคโนโลยี และความรู้ด้วย