TPP หรือ TRANS-PACIFIC PARTNERSHIP เดิมมีสมาชิก 12 ประเทศ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น THE COMPREHENSIVE AND PROGRESSIVE AGREEMENT FOR TRANS-PACIFIC PARTNERSHIP ย่อเป็น CPTPP มีสมาชิกเหลือ 11 ประเทศโดยไม่มีประเทศสหรัฐอเมริกา เนื้อหาความตกลงส่วนใหญ่ยังคงไว้เหมือนเดิมแต่ได้ตัดออกประมาณ 20 เรื่องซึ่งเดิมเป็นความต้องการของทีมเจรจาจากสหรัฐฯ เช่น เรื่องสิทธิบัตรยา การให้สิทธิบัตรใหม่กับยาเก่าที่สามารถรักษาโรคใหม่ ยาที่สกัดจากพืช การขยายระยะเวลาปกป้องสิทธิบัตรอันเกิดจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียน การปกป้องข้อมูลการใช้ยา หรือ DATA EXCLUSIVITY ลิขสิทธิ์ที่ขยายเวลาจาก 50 ปีให้ยาวนานถึง 70 ปี การไม่อนุญาตให้รัฐต่อรองควบคุมราคายาที่มีสิทธิบัตรที่เข้ามาขายในประเทศ
นอกจากนี้ ยังลดความเข้มข้นของ ISDS หรือ INVESTOR-STATE DISPUTE SETTLEMENT ที่อนุญาตให้เอกชนฟ้องรัฐได้ โดยเนื้อหาถูกเปลี่ยนแปลงให้อำนาจแก่รัฐมากขึ้น เอกชนไม่อาจฟ้องร้องรัฐได้หากเกิดความเสียหายจากมาตรการของรัฐอันเกี่ยวกับสุขภาพอนามัยของประชาชน เกี่ยวกับการศึกษา และการให้บริการต่าง ๆ โดยรัฐ การฟ้องร้องของเอกชนต่อรัฐเกี่ยวกับบุหรี่ทำไม่ได้ อีกทั้งการลงทุนระหว่างเอกชนร่วมกับรัฐไม่ให้ใช้ข้อบทใน ISDS มาฟ้องร้องรัฐ ทำให้เห็นว่าความกังวลที่หลายคนเคยมีเกี่ยวกับการเข้าร่วม TPP ได้ถูกกำจัดออกไปหมดแล้ว
สหรัฐฯมีจีดีพีมากกว่าประเทศที่เหลืออีก 11 ประเทศรวมกัน ทำให้ความตกลงนี้ส่งผลกระทบหรือผลประโยชน์น้อยในเชิงเศรษฐกิจเมื่อไม่มีสหรัฐฯ ร่วมอยู่ จากเดิมเศรษฐกิจโดยรวม 12 ประเทศคิดเป็น 36% ของเศรษฐกิจโลก ปัจจุบัน 11 ประเทศเหลือเพียง 13.4% (รูปที่ 1) แต่มีการศึกษายืนยันว่าประเทศสมาชิก 11 ประเทศก็ยังจะได้ประโยชน์แม้จะน้อยกว่าเดิมก็ตาม โดยประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียน 4 ประเทศจะได้ประโยชน์สูงสุด ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ บรูไน และเวียดนาม ตามลำดับ มากกว่าประเทศสมาชิกอื่นๆ (รูปที่ 2) หากไทยร่วมด้วย ก็น่าจะได้ประโยชน์ในทำนองเดียวกัน
ทุกประเทศยังหวังให้สหรัฐฯกลับเข้ามา และยังเชิญชวนให้ประเทศอื่นๆ อย่างอังกฤษ เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย หรือแม้แต่จีนเข้ามาร่วมด้วย แต่จีนมี RCEP ซึ่งหากเปรียบเทียบแล้ว 16 ประเทศใน RCEP มีเศรษฐกิจรวมกันประมาณ 30% ของเศรษฐกิจโลก ประกอบด้วยประชากรโลกมากกว่า 3.5 พันล้านคน ซึ่งการเจรจาก็ใกล้จะเสร็จในปีนี้ ใน RCEPมี 7 ประเทศใน CPTPP รวมอยู่ อันได้แก่ออสเตรเลีย บรูไน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ นิวซีแลนด์ และเวียดนาม ในความตกลง RCEP ไม่มีข้อบทที่เข้มงวดเกี่ยวกับการยกมาตรฐานกฎหมายแรงงานให้มีมาตรฐานสูง กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทำให้ถูกมองว่าเป็นความตกลงที่ไม่ได้มาตรฐานสูงเท่ากับ CPTPP
พิธีลงนามของทุกประเทศสมาชิกจะจัดที่ประเทศชิลีวันที่ 8 มีนาคม 2018 จากนั้นทุกประเทศจะดำเนินการเพื่อให้ความตกลงผ่านการรับรองโดย สภาผู้แทนฯ ของแต่ละประเทศ เมื่อแล้วเสร็จ ทุกประเทศประกาศรับรอง ก็จะมีผลบังคับใช้ คาดว่าราวกลางปีนี้ ภาษีนำเข้าสินค้า 95% จะกลายเป็นศูนย์ทันที ในความตกลงมีการลดมาตรการกีดกันทางการค้าต่างๆ ส่งเสริมการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเสรีการค้าบริการด้านการขนส่ง การศึกษา การกระจายสินค้าในประเทศสมาชิก ให้ทุกประเทศเข้าถึงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของแต่ละประเทศ เพิ่มความโปร่งใส ลดการทุจริตคอร์รัปชัน ของรัฐบาลได้ ประเทศไทยจึงควรเข้าร่วม CPTPP เพราะจะทำให้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะลดลงได้มากกว่าพ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯที่ได้ประกาศออกมา อันมีช่องโหว่ให้ทุจริตได้อย่างถูกกฎหมาย ฟ้องร้องเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,345 วันที่ 4 - 7 มีนาคม พ.ศ. 2561