เดี้ยงเป็นแถว!!! ตรวจชีพจรภาคผลิต

06 ต.ค. 2562 | 01:27 น.
อัปเดตล่าสุด :06 ต.ค. 2562 | 10:05 น.

 

เดี้ยงเป็นแถว!!!

ตรวจชีพจรภาคผลิต

     จากพิษเทรดวอร์จีน-สหรัฐสะเทือนถึงเศรษฐกิจโลก และเมื่อวกกลับมาสำรวจภาคการผลิตไทยที่หลายอุตสาหกรรมต้องพึ่งพาการส่งออก นอกจากคำสั่งซื้อร่วงกราวรูดแล้ว บางบริษัทส่งสัญญาณลดคน เริ่มต้นมาตั้งแต่อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ก่อนหน้านี้หลายค่ายออกมาเปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์ เป็นการภายใน

     ปัจจุบันในอุตสาหกรรมยายนต์ใช้แรงงานในระบบทั้งสิ้นราว 700,000 คน(รวมพนักงานประจำและพนักงานเอาต์ซอร์ซ)        ที่เห็นกันชัดๆ ไล่เรียงมาตั้งแต่รถยนต์ค่ายมิตซูบิชิ ปฎิบัติการภายในแบบเงียบๆ ประกาศโครงการเออร์ลี่ รีไทล์   ไปตั้งแต่เดือนพฤษภาคม  ให้พนักงานยื่นเจตจำนงเข้ามาภายใน สิ้นเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา  สำหรับค่ายนี้เฉพาะโรงงาน 2 แห่งในนิคมอุตสาหกรรมโซนภาคตะวันออก มีพนักงานกว่า 1,400 คน ให้เงินชดเชยตามกฏหมายแรงงาน พิจารณาจากอายุงาน และจากอายุพนักงาน

     ตามมาติดๆ ค่ายเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือ จีเอ็ม  ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติอเมริกัน เริ่มเดินแผนลดคนงานในสายการผลิตที่โรงงานจังหวัดระยองอีกครั้ง เป็นการปรับตัวตามสถานการณ์ หลังยอดขายปิกอัพในประเทศลดลง ยอดขาย 7 เดือนของปี 2562 (ม.ค.-ก.ค.) เชฟโรเลตทำได้ 9,221 คัน ลดลง 10.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว โดยรถยนต์รุ่นหลักอย่าง “โคโลราโด” ตัวเลขการขายตกไปถึง 25.8% การส่งออกซบเซา  จำเป็นต้องเลิกจ้างพนักงานประจำและพนักงานชั่วคราวกว่า 300 อัตรา   

     แทบจะเกือบทุกค่ายรถยนต์ที่มีแผนปรับลดต้นทุนโดยเลือกพิจารณาโครงการเออรี่ รีไทล์ เป็นส่วนใหญ่!!!

     ถัดมาเริ่มปรากฏผลกระทบคือกลุ่มผู้ผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์  ซึ่งกลุ่มนี้มีแรงงานในระบบมากกว่า 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นซัพพอตอินดัสตรี้ผลิตเพื่อส่งออกทั้งทางตรงและทางอ้อม ปรากฏเป็นข่าวเมื่อเร็วๆนี้ บริษัท เอเพ็กเซอร์คิต(ไทยแลนด์) จำกัด  ประกอบกิจการผลิตแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์  ในนิคมอุตสาหกรรมสมุทรสาคร ต.บางกระเจ้า อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร มีลูกจ้างประมาณ 2,977 คน และแห่งที่ 2 ในนิคมอุตสาหกรรมสินสาคร ต.โคกขาม อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร มีลูกจ้างประมาณ 3,208 คน

เดี้ยงเป็นแถว!!!  ตรวจชีพจรภาคผลิต

     ทั้งสองแห่งประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และผลกระทบปัญหาการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ทำให้ประเทศคู่ค้ามีผลกระทบต่อยอดสั่งซื้อ บริษัทฯ จึงต้องใช้มาตรการลดจำนวนการผลิตในที่สุดและเลิกจ้างลูกจ้างโรงงานในนิคมสินสาครทันที ตั้งแต่วันที่ 20 กันยายนที่ผ่านมา

           ล่าสุดผู้ประกอบการจากกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ให้ข้อมูลกับ “ฐานเศรษฐกิจว่า”ยังมีบริษัทสัญชาติญี่ปุ่นบางแห่งกำลังเผชิญปัญหาเดียวกันจากพิษเทรดวอร์จีน-สหรัฐฯ และค่าเงินบาทแข็งค่าในขณะนี้ ลามมาถึงไทยที่คำสั่งซื้อร่วงจนกระทบผลประกอบการ บางบริษัทยอดขายหายวับจนน่าตกใจ  และเพื่อรักษาเส้นเลือดใหญ่เอาไว้ ก็ต้องออกมาประกาศโครงการเออร์ลี่รีไทร์ โดยเฉพาะบริษัทในเครือ เอ็นโอเค ประเทศญี่ปุ่น(NOK)เป็นบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ญี่ปุ่น  ที่ก่อนหน้านั้นเข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทย มีโรงงานตั้งอยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดระยอง   ผลิตชิ้นส่วนป้อนบริษัท ผลิตฮาร์ด ดีสก์ ไดร์ฟ  และป้อนชิ้นส่วนให้กับมือถือค่ายต่างๆ โรงงานทั้ง  2 แห่งเคยมีพนักงานกว่า 10,000 คน  ทยอยปรับลดคนจนขณะนี้เหลือพนักงานรวมราว  6,000 คน   หลังจากที่บริษัทประสบปัญหาสภาพคล่อง ทำให้ยอดขายที่เคยทำได้สูงกว่า  30,000 ล้านบาทต่อปี ปัจจุบันร่วงลงมาเหลือเพียง 50%

ด้านบริษัท แพนดอร่า โพรดักชั่น จำกัด ผู้ผลิตเครื่องประดับอัญมณีชื่อดังแบรนด์ “แพนดอร่า”(Pandora)สัญชาติเดนมาร์ก ก่อนหน้านี้ก็ออกมาประกาศเลิกจ้างจำนวน 2,000-3,000 จากที่มีพนักงานราว 14,000 คนไปก่อนหน้านี้เช่นกัน

     สอดคล้องกับที่นายวิสูตร พันธวุฒิอานนท์ นายกสมาคมผู้ประกอบการกิจการรับเหมาแรงงานเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าขณะนี้หลายบริษัทประสบปัญหาด้านยอดขาย หลังการค้าโลกต่างเผชิญปัญหาเดียวกัน  และผู้ประกอบการหันมาใช้แรงงานเอาต์ซอร์ซมากขึ้นเพื่อเป็นการบริหารความเสี่ยง

     ปัจจุบันมีแรงงานเอาต์ซอร์ซในระบบราว 1 ล้านคนถูกใช้ไปทั้งหมดแล้ว เนื่องจากหลายบริษัทลดความเสี่ยงด้านต้นทุน ไม่จ้างพนักงานประจำ   และถ้ามาดูรายกลุ่มอุตสาหกรรมจะพบว่า อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเอาต์ซอร์ซมากจะมาจากกลุ่มอะไหล่และชิ้นส่วนยานยนต์  เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อัญมณีและกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร   โดยลูกค้าจะใช้แรงงานเอาต์ซอร์ซ สัดส่วน 40% และ60% เป็นพนักงานประจำขึ้นอยู่กับธุรกิจ

เดี้ยงเป็นแถว!!!  ตรวจชีพจรภาคผลิต

     สำหรับประทศไทย ความจริงแล้วผลกระทบที่ตกมาถึงแรงงานในขณะนี้ ต้นตอ ปัญหาไม่ได้มาจากพิษเทรดวอร์จีน-สหรัฐฯเพียงอย่างเดียว  ถ้าพิจารณาให้ดีไทยถูกเวียดนามปาดหน้าในการดึงทุนทางตรง หรือเอฟดีไอเข้าประเทศอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ปีมานี้  เนื่องจากเวียดนามมีค่าแรงถูกกว่าไทยเท่าตัว หลายอุตสาหกรรมจึงมุ่งหน้าไปตอกเสาเข็มในเวียดนาม  นอกจากนี้ธุรกิจปรับตัวนำเทคโนโลยี เครื่องจักรที่ทันสมัยเข้ามาใช้ทดแทนแรงงานจากคนมากขึ้น  รวมถึงฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ (Hard Disk Drive : HDD) จานแม่เหล็กหัวอ่านถูกพัฒนามาเป็น Solid State Drive หรือ SSD ที่มีความทันสมัย ประหยัดไฟ คล่องตัว และสะดวกในการใช้งานมากกว่า ทำให้ตลาดเริ่มขานรับมากขึ้น

     วันนี้ถ้าไทยไม่รีบปรับตัวยกระดับฝีมือแรงงาน.......ก็น่าเป็นห่วงในสภาวะที่ผลิตออกมาขายไม่ได้ ลดไขมันลงแล้ว บริหารจัดการต้นทุนทุกทางแล้ว แต่ยังไม่สำเร็จ ประคองธุรกิจอยู่ต่อไปไม่ได้ จากที่นอนให้น้ำเกลือ ก็ต้องเข้าห้องไอซียู ชีพจรภาคผลิตบางอุตสาหกรรมอ่อนแรง สุดท้ายก็ต้องขึ้นเมรุ !!!

คอลัมน์ : Let Me Think
โดย       : TATA007