ธปท.รุกลดเสี่ยงโควิด-19 ป้องกันก่อน‘เอ็นพีแอล’ลาม

25 มิ.ย. 2563 | 00:30 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3586 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 25-27 มิ.ย.63

 

          นับเป็นปฏิบัติการ “เชิงรุก” ระลอกล่าสุด เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกประกาศ 2 ฉบับ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา 

          ประกาศแรกแจ้งสถาบันการเงิน ให้ส่งรายงานแผนการดำรงกองทุนในระยะข้างหน้า 1-3 ปีข้างหน้า ว่ามีแผนบริหารจัดการเพื่อรองรับ “ฉากอนาคต” ไว้อย่างไร รวมทั้งขอให้แบงก์งดจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลและงดการซื้อหุ้นคืน

          ประกาศที่สองคือ มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยจากสถานการณ์โควิด-19 ระยะที่ 2 ให้ลดเพดานอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบางประเภทลง เพื่อลดภาระลูกหนี้ เพิ่มทางเลือกการชำระหนี้ พร้อมกับส่งเสริมให้ปรับโครงสร้างหนี้ใหม่ให้เหมาะสมกับศักยภาพการชำระหนี้ใหม่

          มาตรการระยะ 2 นี้ ต่อเนื่องจากระยะแรกที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ 1 มี.ค. 2563 ขณะเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังระบาดรุนแรง จึงออกมาตรการให้เลื่อนการชำระเงินต้น-ดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อประเภทต่างๆ ออกไปเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดในปลายเดือนมิถุนายนนี้แล้ว

          นับแต่มีวิกฤตการณ์โควิด-19 แบงก์ชาติออกมาตรการรับมือมาต่อเนื่อง นอกจากมาตรการอุ้มลูกหนี้รายย่อย ระยะที่ 1 ดังกล่าวแล้ว ยังมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 0.75 % ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ตามด้วย 4 มาตรการดูแลเสถียรภาพตลาดเงิน คือ พักหนี้เอสเอ็มอี 6 เดือน ซอฟต์โลนเอสเอ็มอี 5 แสนล้านบาท ตั้งกองทุน 4 ล้านอุ้มหุ้นกู้ครบกำหนดชำระ ลดอัตรานำจ่ายกองทุนฟื้นฟูฯครึ่งหนึ่งยาว 2 ปี เป็นต้น

          สัญญาณจากแบงก์ชาติดังกล่าวหนีไม่พ้นที่ตลาดบางส่วนจะถูกมองว่า เศรษฐกิจมีความเสี่ยงมากกว่าที่คาด และเทขายหุ้นกลุ่มแบงก์จนฉุดดัชนีตลาดให้ลดลงทันทีที่เปิดทำการ ซึ่งผู้บริหารแบงก์ชาติรับว่าเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน เนื่องจากผลของไวรัสโควิด-19 ยังคาดการณ์ไม่ได้

          มาตรการแบงก์ชาติในการรับมือสถานการณ์โควิด-19 จึงมุ่งเน้นมาตรการป้องกัน (Pre-emptive) ไว้ล่วงหน้ามาตั้งแต่ต้น ส่งเสริมให้กลไกทางเศรษฐกิจต่างๆ เข้มแข็งในระยะยาว มีภูมิคุ้มกันความเสี่ยงในอนาคต มากกว่ารอให้ปัญหาสะสมจนถึงเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งอาจเกิดความเสียหายหนักดังเช่นอดีต

          อีกทั้งการออกมาตรการแต่เนิ่นๆ เป็น “กรอบ-ทิศทาง” ให้สถาบันการเงินสามารถปรับตัวได้อย่างพร้อมเพรียง โดยหากปล่อยให้ปรับตัวกันเองแล้ว ในกรณี “งดจ่ายปันผล-งดซื้อหุ้นคืน” อาจไม่มีรายใดกล้าทำก่อน เพราะกระทบความเชื่อมั่นของลูกค้า หรือผู้ถือหุ้นไม่ชอบใจ ทั้งที่จะทำให้กิจการเข้มแข็งในระยะยาว

          จากนี้ไปอยู่ที่บรรดาแบงก์พาณิชย์-สถาบันการเงินทั้งหลาย ที่ต้องรุกในการทำงานร่วมกับลูกหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระใหม่หลังโควิด-19 ป้องกันสึนามิหนี้เน่า เพื่อให้ “เรา” ก้าวข้ามโควิด-19 ไปด้วยกัน