thansettakij
ไฟป่าไซบีเรีย “รีเทิร์น”

ไฟป่าไซบีเรีย “รีเทิร์น”

02 ส.ค. 2563 | 00:14 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ก.ย. 2563 | 01:53 น.

คอลัมน์หลังกล้องไซบีเรีย : เรื่อง: ยลรดี ธุววงศ์, ภาพ : Julia Petrenko / Greenpeace

 

          เมื่อช่วงนี้ของปีที่แล้ว ภาพข่าวไฟป่าครั้งใหญ่ในภูมิภาคไซบีเรียกลายเป็นพาดหัวข่าวอย่างใหญ่โตบนหน้าสื่อทั่วโลกไม่เว้นแต่สื่อไทย เนื่องจากครั้งนั้นมีพื้นที่ป่ามากกว่า 20 ล้านไร่เสียหาย หรือคิดเป็นพื้นที่ที่ใหญ่กว่าเบลเยียมทั้งประเทศ เจ้าหน้าที่รัสเซียต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ควบคุมไฟป่าครั้งประวัติศาสตร์ บางพื้นที่ถึงกับต้องประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อพยพคนออกจากพื้นที่

          ปีนี้ แม้ว่าคนไทยอาจค่อยไม่เห็นข่าวลงบนหน้าสื่อครึกโครมเช่นเคย อาจเป็นเพราะโลกกำลังสนใจเรื่องการแพร่ระบาดที่ทุกคนได้รับผลกระทบโดยตรงหรือเหตุการณ์ไม่ร้ายแรงเท่าครั้งที่ผ่านมา ทว่าไฟป่ากำลังเริ่มลุกโหมขึ้นมาอีกครั้งในมุมต่างๆ ของผืนป่าไซบีเรีย เจ้าหน้าที่ของรัสเซียกำลังร่วมแรงร่วมใจทำงานเพื่อควบคุมเพลิงให้ได้อีกครั้ง

          หากจะกล่าวให้ถูก ไฟป่าในภูมิภาคที่ขึ้นชื่อว่าหนาวเย็นที่สุดในโลกนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าร้อน และในปีนี้ถือว่าฤดูไฟป่าในภูมิภาคเริ่มขึ้นเร็วกว่าปกติ และ “โลกร้อน” คือตัวร้ายของเหตุการณ์นี้

ไฟป่าไซบีเรีย “รีเทิร์น”
    

          นักวิชาการเชื่อว่า สาเหตุที่คลื่นความร้อนและไฟป่าในไซบีเรียเริ่มรุนแรงขึ้นมาได้เช่นนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะโลกร้อนที่เกิดจากฝีมือของมนุษย์ นอกจากจะส่งผลต่อความรุนแรงของสถาการณ์ไฟป่าแล้ว ยังทำให้อุณหภูมิในบริเวณอาร์คติกเซอร์เคิล (Arctic Circle) หรือวงกลมละติจูดเส้นที่อยู่เหนือที่สุดของแผนที่โลกเพิ่มสูงขึ้น

          Verkhoyansk คือเมืองอันห่างไกลในอาร์คติกเซอร์เคิลซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่จำนวนไม่มากที่มีผู้คนไปตั้งถิ่นที่อยู่อาศัย เมืองแห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องความหนาวเหน็บ อากาศในช่วงฤดูหนาวปกติอยู่ที่ราว -40 องศาและบางครั้งอาจลงไปมากถึง -60 องศาเลยทีเดียว ทว่าความเปลี่ยนแปลงของโลกส่งผลให้อากาศในเมืองทำลายสถิติอุณภูมิสูงที่สุดของภูมิภาคอาร์คติกที่ 38 องศาเซลเซียสในฤดูร้อนนี้

          หากฤดูร้อนไม่มาเยือนเร็วจนเกินไป หิมะจะสามารถปกคลุมพื้นผิวดินของป่าได้เป็นเวลานาน เมื่อถ้าอากาศไม่ร้อนจนเกินไป หิมะปุยสีขาวจะค่อยๆ ละลายอย่างช้าๆ เพิ่มความชุ่มชื้นให้หน้าดิน และหากดินมีความชื้นสูง ไฟก็จะไม่ติดขึ้นมาโดยง่าย แต่หากดินแห้งเพลิงป่าที่ติดขึ้นมาจะยิ่งลุกลามไปได้อย่างรวดเร็ว ควบคุมยาก และเป็นอันตรายต่อระบบนิเวศน์ในพื้นที่นั้นอย่างรุนแรง

          ในอีกแง่ ไฟป่าไซบีเรียยังทำให้ชั้นดินเยือกแข็งคงตัวในไซบีเรียละลายไปจำนวนมาก ซึ่งมีส่วนทำให้ฤดูหนาวที่ผ่านมา แดนหมีขาวอุ่นกว่าปกติ ฤดูร้อนก็ร้อนผิดธรรมชาติอย่างรู้สึกได้ นี่ไม่ใช่แค่ปรากฏการณ์เพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่จะกลายมาเป็นการเปลี่ยนแปลงถาวรในระยะยาวที่อาจทำให้อากาศในบริเวณอาร์กติกพุ่งสูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยโลกถึง 2 เท่า

ไฟป่าไซบีเรีย “รีเทิร์น”

ไฟป่าไซบีเรีย “รีเทิร์น”

 

          ปัจจุบัน อาร์กติกเป็นหนึ่งในภูมิภาคที่อุณหภูมิพุ่งขึ้นสูงขึ้นเร็วที่สุดในโลก โดยเฉลี่ยแล้ว โลกของเราร้อนขึ้นราว 1 องศานับตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรม แต่ในพื้นที่เหนือละติจูดเส้นบนสุดของโลก ความร้อนเพิ่มขึ้นมากกว่านั้นเกือบ 2 เท่า แถมในบางพื้นที่เพิ่มขึ้นสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกราว 4 เท่า

          ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2563 อุณหภูมิเฉลี่ยของรัสเซียขึ้นมาสูงที่สุดในรอบ 130 ปี ตั้งแต่ศูนย์อุทกอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติ (Hydrometeorological Center of Russia) เริ่มเก็บสถิติในปี 1891 ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา ร้อนขึ้นกว่าปกติราว 10-11 องศา ทำให้ชาวมอสโกปีนี้ไม่ได้ฉลองวันปีใหม่ท่ามกลางหิมะอย่างเช่นเคย ส่วนในไซบีเรีย ครึ่งปีแรก อุณหภูมิเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยราว 5 องศา

          ก่อนการแพร่ระบาดของ COVID-19 กระแสการลดโลกร้อนกำลังเป็นประเด็นร้อนระดับโลกที่ผู้คนให้ความสนใจ หลายคนอาจมองว่า การล็อกดาวน์จะมีผลดีต่อภาวะโลกร้อนเพราะการล็อกดาวน์ช่วยหยุดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศได้ในปริมาณที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่อย่าลืมว่า เพื่อควบคุมโรคและความสะอาด เรากลับสร้างขยะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง 

          น่าเป็นห่วงว่าเมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเคลื่อนไหวอีกครั้งก๊าซเรือนกระจกอาจกลับขึ้นมารุนแรงอีกหรือมากกว่าเดิมเพราะผู้คนอาจออกไปใช้ชีวิตและทำกิจกรรมชดเชยในช่วงที่ขาดหายไปกับโรคระบาด ทวีความรุนแรงของสภาวะโลกร้อนเกินกว่าที่เราจะกลับมาตั้งรับได้ทัน



** พบกับ คอลัมน์ “หลังกล้องไซบีเรีย” ทุกวันอาทิตย์ ทุกช่องทางออนไลน์ของ “ฐานเศรษฐกิจ" **
Bio นักเขียน : “ยลรดี ธุววงศ์” อดีตนักข่าวที่ผ่านสนามข่าวทั้งในและต่างประเทศ จากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ และ Spring News ปัจจุบันเป็นนิสิตปริญญาโทอยู่ในส่วนที่หนาวเย็นที่สุดของประเทศรัสเซีย