ตามหาคนหาย ใน ‘ศบค.’

16 ม.ค. 2564 | 03:00 น.

คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,644 หน้า 10 วันที่ 14 - 16 มกราคม 2564

“เราเองเป็นข้าราชการ ในเมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งก็ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และในหน้าที่มีความหลากหลายเหลือเกินจนบางครั้งไม่สามารถโฟกัสในสิ่งต่างๆ ที่เป็นสิ่งเดียวได้ และผมมาจากสายการแพทย์ สิ่งที่ต้องมาเรียนรู้ และเรียนรู้หนักที่สุดด้านกฎหมาย ความมั่นคง โรคระบาดวิทยา ซึ่งไม่ได้เป็นความรู้ทางสายงานของตัวเอง เพราะผมเป็นจิตแพทย์ ก็ได้พยายามทำดีที่สุด มีข้อบกพร่องแน่นอน”

 

โค้ดคำพูดดังกล่าว เป็นของ “หมอทวีศิลป์ วิษณุโยธิน” ที่ใช้เวลาช่วงหนึ่งในการแถลงข่าวเมื่อ 8 มกราคมที่ผ่านมา เปิดใจหลังทัวร์ลงปมแถลงโทษและความผิดหากไม่ โหลดแอปฯหมอชนะ ที่พยายามสื่อถึง “ความหนัก” ในภารกิจ ทั้งงานหลัก คือ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ที่แทบจะแบ่งเวลาไปทำไม่ได้ และงานพิเศษ คือ โฆษกศบค. 

 

สำหรับผม เป็นคนหนึ่งที่ดูโฆษกศบค.แถลงทุกวัน ตั้งแต่การระบาดระลอกแรกจนถึงทุกวันนี้ กลายเป็นแฟนตัวยงในเฟซบุ๊กของ NBT และศูนย์ข้อมูลโควิด ต้องบอกว่าน่าเห็นใจหมอทวีศิลป์ เพราะงานหลัก “ผู้ตรวจราชการกระทรวง” ทำได้ไม่เต็มที่ นั่นหมายถึง KPI ในการแต่งตั้งโยกย้ายความเจริญเติบโตในอนาคต แถมภารกิจเฉพาะกิจ คือ โฆษกศบค. ก็ดูดพลัง ดูดเวลาชีวิตมากกว่าการระบาดระลอกแรกอย่างเห็นได้ชัดเจนปลีกตัวไปทำงานหลักลำบาก

 

ตามหาคนหาย ใน ‘ศบค.’

 

 

หากเทียบกับระบาดระลอกแรก กับ รอบนี้ ดูเหมือนว่า หนังหน้าไฟ เป้าใหญ่ของศบค. กลายเป็นหมอทวีศิลป์เพียงคนเดียว 

 

เพราะถ้าจำได้ในการระบาดระลอกแรก หมอทวีศิลป์ แถลงสถานการณ์ + มติการประชุมจากวงประชุมศบค. แต่เมื่อต้องลงรายละเอียดในแต่ละด้าน เช่น ด้านความมั่นคง จะมี พล.อ.พรพิพัฒน์ เบญญศรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด “พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา” เลขาธิการ สมช. ในขณะนั้น แถลงเสริมให้ข้อมูลแน่นขึ้น 

หรืองานด้านตำรวจ มี พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย โฆษกตำรวจ ก่อนที่จะขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในปัจจุบันงานด้านมหาดไทย มีนายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย มาช่วยแถลง

 

ส่วนงานด้านเกี่ยวกับการควบคุมสินค้า หน้ากากอนามัย ก็เคยมีปลัดกระทรวงพาณิชย์ ด้านแอปพลิเคชั่น ระบบแทร็กกิ้งต่างๆ จะมีตัวแทนจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและ สังคม งานด้านแรงงาน ระบบประกันสังคม มาตรการเยียวยาต่างๆ ก็จะมีหน่วยงานต่างๆ สลับสับเปลี่ยนกันมาต่อคิวที่โพเดี้ยม ช่วยหมอทวีศิลป์แถลง

 

จนกลายเป็นว่า ระบาดระบอกใหม่ จำนวนกลุ่มเสี่ยง ผู้ติดเชื้อมีมากขึ้น แต่กลับพบว่า คนที่จะมาช่วยแบ่งเบาทีมโฆษก ศบค. หายไป นับตั้งแต่มีการแต่งตั้ง โยกย้าย สลับเก้าอี้ของข้าราชการตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 เป็นต้นมา

รวมทั้งเมื่อวันที่ 7 ม.ค. ศบค.ชุดเล็ก เปิดตึกสันติไมตรีทำเนียบรัฐบาล นำโดยพล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาสมช.นั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมกับองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน และสื่อมวลชนกว่า 30 สำนัก วันนั้นมีหลายข้อเสนอจากสื่อมวลชนที่แนะนำอย่างตรงไปตรงมา เพราะล้วนแล้วแต่มีความคิดไม่ต่างกันคือ ต้องการเห็น การฟื้นความเชื่อมั่น ความศรัทธาในการสื่อสาร ของศบค.ชุดที่คุมระบาดระลอกแรกสำเร็จ กลับมาใช้โมเดลการสื่อสารแบบที่เคยใช้มาแล้วอีกครั้ง ให้เป็น single message 

 

ผมเชื่อบางเรื่องทีมโฆษกศบค. ปรับได้-ทำได้ แก้ได้ บางเรื่องที่ใหญ่เกินไปนก็ต้องอาศัย พลังของ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค. ช่วยจี้ ช่วยกระตุกและจัดการ ไม่เช่นนั้น ทุกเรื่องจะกองให้ “หมอทวีศิลป์” แบกภาระอยู่แบบนี้