ต้องชดใช้ค่าเสียหาย เพราะไม่แจ้งผล ‘เบี้ยคนชรา’

15 พ.ค. 2564 | 22:00 น.

ต้องชดใช้ค่าเสียหาย เพราะไม่แจ้งผล ‘เบี้ยคนชรา’ : คอลัมน์อุทาหรณ์จากคดีปกครอง  โดย... นายปกครอง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,679 หน้า 5 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม 2564

“600 บาท” เงินจำนวนนี้อาจดูไม่มากสำหรับบางคน แต่เชื่อไหม... มีผู้สูงอายุวัยเลยเกษียณจำนวนไม่น้อยที่อาศัยเงินดังกล่าวในการยังชีพ โดยเงินนี้จะได้รับราวทุกวันที่ 10 ของแต่ละเดือน ใช่แล้วครับ ... เรากำลังพูดถึง “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” หรือ “เบี้ยยังชีพคนชรา” นั่นเอง 

ก่อนอื่นขออธิบายสักเล็กน้อยครับว่า เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็คือ สวัสดิการที่รัฐจัดสรรไว้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป ในการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายการดำรง ชีวิตในแต่ละเดือน ซึ่งในแต่ละปีจะมีการเปิดให้ผู้สูงอายุที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด ไปลงทะเบียนรับเบี้ยยังชีพดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนดไว้

เกริ่นมาพอสมควร ...ท่านผู้อ่านก็คงพอทราบกันแล้วครับว่า อุทาหรณ์จากคดีปกครองฉบับนี้ น่าจะเป็นเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” แต่จะเป็นประเด็นพิพาทอะไรนั้น ... โปรดติดตามครับ

เรื่องนี้เริ่มจาก ... ผู้ฟ้องคดีซึ่งเกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2497 และมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ในวันที่ 20 ธันวาคม 2557 โดยเทศบาลได้ออกประกาศเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้สูงอายุ และคนพิการเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2557 ให้ผู้ที่อายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ (ผู้ที่เกิดก่อนวันที่ 1 ตุลาคม 2498) ยื่นคำขอลงทะเบียนเพื่อขอรับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้ที่สำนักงานเทศบาล ระหว่างวันที่ 1 ถึง 30 พฤศจิกายน 2557 ในวันและเวลาราชการ หรือ ลงทะเบียนได้ที่หน่วยบริการในพื้นที่ชุมชนตามวัน เวลา และสถานที่ที่ได้กำหนดไว้

ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าได้ไปลงทะเบียนเพื่อขอรับสิทธิดังกล่าวในช่วงเดือนตุลาคม 2557 แต่กลับไม่มีรายชื่อเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงิน ผู้ฟ้องคดีจึงยื่นคำร้องขอให้เทศบาลเพิ่มชื่อตนเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่แจ้งว่าผู้ฟ้องคดีไปลงทะเบียนไม่ถูกต้องกับระยะเวลาที่เปิดให้ลงทะเบียน ผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเป็นคำชี้แจงที่ไม่ชัดเจน จึงได้ร้องเรียนต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาดำเนินการ โดยกระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือแจ้งให้จังหวัดตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนดังกล่าว

 

ต้องชดใช้ค่าเสียหาย เพราะไม่แจ้งผล ‘เบี้ยคนชรา’

 

ต่อมาเทศบาลได้มีหนังสือรายงานผลต่อผู้ว่าราชการจังหวัด และชี้แจงต่อผู้ฟ้องคดี ตามลำดับว่า เทศบาลได้ดำเนินการรับลงทะเบียนผู้มีสิทธิรับเงินระหว่างวันที่ 1 ถึง 30 พฤศจิกายน 2557 มิได้เปิดรับลงทะเบียนในเดือนตุลาคม 2557 แต่อย่างใด ผู้ฟ้องคดีจึงมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดโต้แย้งคำชี้แจงดังกล่าว ส่วนเทศบาลก็ได้มีหนังสือหารือกรณีของผู้ฟ้องคดีไปยังท้องถิ่นจังหวัด ซึ่งท้องถิ่นจังหวัดได้มีหนังสือแจ้งให้เทศบาลตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดี หากเป็นผู้มีคุณสมบัติได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็ให้ประกาศรายชื่อเพิ่มเติมไว้ก่อน และปรับปรุงข้อมูลรวมทั้งตรวจสอบจำนวนผู้มีสิทธิที่ถูกต้องรายงานกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเพื่อจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมต่อไป 

เทศบาลได้ทำการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ฟ้องคดีและเห็นว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติ จึงได้เพิ่มชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 ตามประกาศของเทศบาล โดยมีหนังสือแจ้งให้ท้องถิ่นจังหวัดทราบ แต่ไม่ได้แจ้ง ให้ผู้ฟ้องคดีทราบผล! 

เป็นเหตุให้ผู้ฟ้องคดีไม่ทราบเรื่องและนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้น เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2558 ซึ่งในวันไต่สวนของศาลปกครองชั้นต้น ผู้ฟ้องคดีจึงได้ทราบว่าเทศบาล (ผู้ถูกฟ้องคดี) ได้ดำเนินการเพิ่มชื่อของผู้ฟ้องคดีเรียบร้อยแล้ว  

 

ปัญหาที่น่าสนใจสำหรับคดีนี้คือ การที่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่แจ้งผลการดำเนินการตามเรื่องที่มีการร้องเรียน ถือเป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีหรือไม่ หากกระทำละเมิดต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีหรือไม่ เพียงใด?

ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยความว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ไปลงทะเบียนเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตามเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศของเทศบาล ประกอบกับผู้ฟ้องคดีไม่สามารถนำบัตรรับลงทะเบียนมาแสดงแก่เจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบได้ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงเห็นว่า ผู้ฟ้องคดีไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 

แต่ต่อมา... ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีการหารือและดำเนินการเพิ่มชื่อผู้ฟ้องคดีเป็นผู้ที่มีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 แล้ว ผู้ฟ้องคดีย่อมมีสิทธิได้รับเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุตั้งแต่เดือนตุลาคม 2558 เป็นต้นไป การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีจึงมิได้เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ และไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อผู้ฟ้องคดีตามมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ 

 

อย่างไรก็ตาม แต่ในส่วนที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องและเพิ่มเติมคำฟ้องโดยอ้างว่า ได้รับความเสียหายเนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในการร้องเรียนร้องทุกข์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายแห่ง รวมทั้งการฟ้องคดีต่อศาลปกครอง ทำให้มีค่าใช้จ่ายเป็นค่าพาหนะเดินทาง ค่าอาหารและเครื่องดื่ม ค่าขาดรายได้ ค่าเอกสารต่างๆ และอื่นๆ นั้น ศาลเห็นว่ากรณีที่ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องต่อผู้ถูกฟ้องคดี หากผู้ถูกฟ้องคดีได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้วเสร็จ ผู้ถูกฟ้องคดีควรที่จะแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบผลการพิจารณาดังกล่าวด้วย เมื่อผู้ฟ้องคดีไม่ทราบผล เป็นเหตุให้ยังคงต้องดำเนินการร้องเรียนต่อหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งฟ้องคดีต่อศาล จึงเห็นควรกำหนดค่าเสียหายเป็นค่าใช้จ่าย จำนวน 5,000 บาท ให้แก่ผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ. 469/2563)

คดีดังกล่าว ถือเป็นบรรทัดฐานการปฏิบัติราชการที่ดีแก่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการเรื่องใดๆ หากมีกรณีร้องเรียนหรือร้องทุกข์เกี่ยวกับสิทธิของประชาชนตามกฎหมาย เจ้าหน้าที่ควรจะต้องแจ้งผลการพิจารณาให้แก่ผู้ร้องทราบ เพราะหากไม่แจ้งผลการพิจารณา และต่อมาเป็นเหตุให้ผู้ร้องยังคงต้องมีการร้องเรียนไปยังหน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป รวมทั้งนำคดีมาฟ้องต่อศาล หน่วยงานดังกล่าวอาจต้องชดใช้ค่าเสียหายในส่วนที่ผู้ร้องมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าว 

(ปรึกษาคดีปกครองได้ที่... สายด่วนศาลปกครอง 1355)