100 ปีของการเดินทางไกล ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (2)

02 ก.ค. 2564 | 23:30 น.

100 ปีของการเดินทางไกล ของพรรคคอมมิวนิสต์จีน(2) : คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย...ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,693 วันที่ 4 - 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ต้นปี 1997 เติ้ง เสี่ยวผิงถึงแก่อสัญกรรม ไม่ทันได้อยู่เห็นการคืนฮ่องกงจากอังกฤษกลับสู่อ้อมอกของแผ่นดินแม่ในวันที่ 1 กรกฎาคม ภายหลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของต่างชาติราว 150 ปี หรือแม้กระทั่งการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกในวันที่ 11 ธันวาคม 2001 ที่มีส่วนสำคัญให้เศรษฐกิจจีนได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้าในวงกว้าง

 

โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกที่เคยเป็นจุดอ่อนในอดีตได้รับการปรับปรุงอย่างไม่หยุดหย่อนจนก้าวไปอยู่ในระดับชั้นแนวหน้าของโลกในเวลาต่อมา ขณะเดียวกัน ก็ทำให้จีนกลายเป็นประเทศที่สั่งสมเทคโนโลยีและประสบการณ์ด้านการก่อสร้างมากที่สุดในห้วงหลายสิบปีหลังนี้

 

จีนลงทุนซื้อเทคโนโลยีรถไฟแม่เหล็กไฟฟ้า (Maglev) จากซีเมนของเยอรมนี และเปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในปี 2003 ในเส้นทางระหว่างสนามบินนานาชาติผู่ตง-ตัวเมืองผู่ตงด้วยความเร็ว 430 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และในราว 15 ปีต่อมา จีนก็เรียนรู้และพัฒนารถไฟแม่เหล็กไฟฟ้าของจีนเองที่สามารถทำความเร็วถึง 620 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และจะเปิดใช้ในเส้นทางปักกิ่ง-เซี่ยงไฮ้ในไม่กี่วันข้างหน้า 

 

ขณะที่การลงทุนในธุรกิจช่องทางจัดจำหน่ายสมัยใหม่ของกิจการข้ามชาติรายใหญ่ของโลก ก็ทำให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาการด้านลอจิสติกส์อย่างรวดเร็ว แตกไลน์ และขยับสู่ด้านออนไลน์ จนกระจายตัวในวงกว้างและสลับซับซ้อนยิ่งในปัจจุบัน ต้นทุนด้านลอจิสติกส์ที่ลดลงนี้เองก็ยังมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานการครองชีพของชาวจีนอย่างถ้วนหน้า

                                     100 ปีของการเดินทางไกลของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

ขณะเดียวกัน เมื่อระบบอินเตอร์เน็ตเริ่มถูกใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้นในจีน พรรคคอมมิวนิสต์จีนก็เล็งเห็นถึงปัญหาใหญ่ที่อาจจะเกิดขึ้นจากการบ่อนทำลายเศรษฐกิจและสังคมจีน จึงกำหนดใช้ระบบการกรองข้อมูลออนไลน์ภายในและเข้าออกประเทศที่ชื่อว่า “Great Firewall of China” ในปี 2003 ซึ่งก็เป็นเสมือนการสร้าง Single Gateway ที่บ้านเราพูดถึงกัน 

 

ราว 5 ปีหลังจากนั้น จีนก็กลายเป็นประเทศที่มีจำนวน Netizen มากที่สุดในโลก Firewall จึงนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในการบริหารจัดการข้อมูลในยุคดิจิตัล และลดปัญหาการแทรกแซงจากผู้ไม่หวังดี ทำให้จีนมีความมั่นคงทางไซเบอร์สูงจนหลายประเทศในโลกแอบอิจฉา 

 

ขณะเดียวกัน จีนก็เป็นเจ้าภาพงานใหญ่ระดับโลกอย่างต่อเนื่อง วันที่ 8 สิงหาคม 2008 (8/8/2008) จีนก็ถือเป็นฤกษ์ดีเมื่อจีนทำพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนอย่างยิ่งใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านั้นไม่นาน สี จิ้นผิง ก็ถูกดึงเข้าไปรับตำแหน่งในปักกิ่ง และได้รับมอบหมายให้ร่วมรับผิดชอบการเตรียมจัดงานนี้ด้วยเช่นกัน 

 

สองปีต่อมา เซี่ยงไฮ้ก็เป็นเจ้าภาพจัดนิทรรศการโลก (2010 Shanghai World Expo) ที่ใหญ่สุดในประวัติศาสตร์โลก ทั้งในเชิงขนาดพื้นที่จัดงานที่ครอบคลุมสองฝั่งแม่น้ำหวงผู่ และจำนวนผู้เข้าเยี่ยมงานที่รวมเกือบ 100 ล้านคนตลอด 6 เดือนของการจัดงานนี้

 

ในปีเดียวกันนั้นเอง โลกก็ตื่นตะลึงกับการพุ่งทะยานทางเศรษฐกิจของจีนในเวทีโลก แรงขับเคลื่อนจากการเป็นโรงงานของโลกที่จีนมีสัดส่วนถึงราวครึ่งหนึ่งของกำลัง

 

การผลิตโลก และแรงสนับสนุนของภาคการต่างประเทศ โดยเฉพาะการเกินดุลการค้า และการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมหาศาลในช่วงหลายปีต่อเนื่อง ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนเติบใหญ่อย่างก้าวกระโดด จนก้าวแซงหน้าญี่ปุ่นขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากสหรัฐฯ 

 

ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2012 สี จิ้นผิงได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีน และก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี และประธานกรรมาธิการกลางทหาร รวมทั้งยังนั่งเป็นประธาน Supra-Ministerial Committees กระชับอำนาจในด้านเสถียรภาพความมั่นคง การปฏิรูปเศรษฐกิจ และการยกระดับสภาพสังคมของจีนอย่างเบ็ดเสร็จในเวลาต่อมา

 

นโยบายแรกๆ ที่คลอดออกมาหลังการรับตำแหน่งผู้นำพรรคฯ ของ สี จิ้นผิง ก็คือ การประกาศนโยบายแก้ไขปัญหาความยากจน และตั้งเป้าหมายที่จะขจัดความยากจนของภาคประชาชนให้หมดสิ้นภายในปี 2020 นับแต่นั้นมา รัฐบาลจีนก็มุ่งมั่นตั้งใจที่จะเดินทางไกลอีกครั้งเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ซึ่งสะท้อนผ่านคำกล่าวของท่านสี จิ้นผิง เมื่อปีที่ผ่านมาว่า “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

 

การรวมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จยังตามมาด้วยการปลดล็อกเงื่อนเวลาการอยู่ในตำแหน่งเลขาธิการใหญ่ของพรรคฯ โดยที่ประชุมสภาประชาชนแห่งชาติเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2018 ได้เห็นชอบให้ยกเลิกเงื่อนไขการดำรงตำแหน่งดังกล่าวที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2 เทอมตามที่เคยใช้มานับแต่เปิดประเทศ เสมือนการกลับไปสู่เงื่อนไขการดำรงตำแหน่งในยุคสมัยของเหมา เจ๋อตง

 

พรรคฯ ยังผลักดันนโยบาย “เส้นทางสายไหม และเส้นทางสายไหมทางทะเล” (One Belt, One Road) ซึ่งถูกเปิดตัวขึ้นเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2013 และตามมาด้วยการจัดตั้งธนาคารเพื่อการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแห่งภูมิภาคเอเชีย (Asian Infrastructure Investment Bank) ในราวสองปีต่อมา 

 

นโยบายนี้ถูกปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “ความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง” (Belt and Road Initiative) เพื่อความเข้าใจและการมีส่วนร่วมอันดีของประเทศที่เกี่ยวข้อง และถูกบรรจุเข้าไว้ในธรรมนูญของพรรคฯ ในวันที่ 24 ตุลาคม 2017 นั่นหมายความว่า นโยบายนี้จะดำรงอยู่เป็นนโยบายหลักของพรรคฯ อีกนาน

 

หากนโยบายนี้ดำรงอยู่จนถึงปี 2050 หรืออีกราว 30 ปีในอนาคต ผมก็ประเมินว่าจีนจะกลายเป็นเจ้าหนี้ที่ปล่อยสินเชื่อในโครงการก่อสร้างและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรายใหญ่สุดของโลกอย่างแน่นอน จึงไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐฯ ร้อนรนนำเสนอโครงการ Build Back Better World (B3W) เพื่อเสนอแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโลกต่อที่ประชุม G7 ในเดือนมิถุนายน ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้าจะจัดสรรสินเชื่อถึง 40 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2035 (อ่านต่อฉบับหน้า)

 

เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน