จากฐานันดรที่สี่สู่เจ้าของเหมืองหยก (9)

06 ก.ย. 2564 | 01:15 น.

คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

การไปกรุงย่างกุ้งครั้งนั้น คุณสุวรรณีได้รับความรู้จากการได้ไปสำรวจตลาดมากมาย เธอเล่าว่า ไม่คิดเลยว่าความรู้เกี่ยวกับอัญมณีของเธอ ที่ก่อนนั้น เธอก็คิดว่าเธอพอเอาตัวรอดได้แน่ๆ แต่พอไปลงในตลาดใหญ่ เธอเป็นเพียงเด็กอนุบาลเท่านั้น ยังมีอะไรที่เธอจะต้องเรียนรู้อีกเยอะมาก โดยเฉพราะอย่างยิ่ง พลอยอเมติสและหยก ที่มีตลาดที่ใหญ่มาก เพราะตลาดของคนเอเชียโดยเฉพาะคนจีน ตลาดหยกถือว่าเป็นตลาดที่ใหญ่โตมหาศาล ที่เธอยังสามารถเข้าไปกอบโกยได้อีกเยอะ แต่ถ้าความรู้แค่นี้ เธออาจจะเอาตัวไม่รอดแน่นอน
 

เหตุที่ทำให้เธอคิดได้เช่นนั้น เพราะการเดินทางครั้งนั้น เธอเขาไปเดินที่ตลาดโบโช๊ะอองซาน หรือตลาดสก๊อต เธอได้พบกับสิ่งที่เธอไม่คาดว่าจะประสบกับตนเอง คือถูกพ่อค้าในตลาดนั้นหลอกนำเอาหยกปลอมมาขายให้เธอ ที่เธอรู้เพราะว่าหลังจากที่ซื้อหยกกลับมาถึงบ้าน หลานชายที่เป็นคนขุดพลอยให้เธอมาโดยตลอด ซึ่งเขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการขุดหยก ที่ผมเคยเล่าให้อ่านไปแล้วในตอนต้นๆ พอหลานชายเห็นหยกที่เธอซื้อมาเท่านั้น ก็หัวเราะแทบหงายท้อง แล้วบอกเธอว่า นี่เป็นหยกที่นำมาย้อมสี ไม่ใช่เนื้ออย่างที่เห็นแน่นอน
 

ทั้งนี้เขายังพิสูจน์ให้เธอได้เห็นด้วยว่า ลักษณะของหยกปลอมกับหยกจริง แตกต่างกันอย่างไรด้วย ครั้งนั้นจึงทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเธอเอง แม้จะเขี้ยวลากดินในตลาดค้าพลอยที่แม่สาย แต่เข้าไปที่ตลาดโบโช๊ะอองซาน เธอก็เหมือนดั่งเด็กหัดเดินเท่านั้นเอง เธอจึงตัดสินใจที่จะเริ่มเรียนเรื่องราวเกี่ยวกับหยกอีกครั้ง ครั้งนี้เธอเรียนด้วยความมุ่งมั่น ว่าจะต้องไม่ถูกใครมาหลอกลวงเธอได้อีกแน่นอน

ต่อมาอีกไม่นาน ข่าวเรื่องการจดทะเบียนสมรสระหว่างเธอกับสามี ก็ถูกทางทนายความชาวเมียนมา แจ้งกลับมาให้เธอเดินทางไปทำการจดทะเบียนสมรสได้ เธอบอกว่าเธอดีใจมาก ที่การแต่งงานอย่างถูกต้องตามกฎหมายจะได้สำเร็จเสียที หลังจากที่ถูกนายหน้าที่เป็นทนายความจอมปลอมหลายราย หลอกเอาเงินเธอไปแล้วหลายครั้ง หมดเงินหมดทองไปร่วมสามสี่แสนบาท
 

ผมเองในฐานะที่เคยเรียนจบทางด้านนิติศาสตร์มา ก็พอจะมีความรู้ด้านกฎหมายมาบ้าง จึงพอจะทราบถึงวิธีการจดทะเบียนระหว่างชาวไทยกับชาวต่างชาติ ซึ่งก็คิดว่าที่ประเทศเมียนมาไม่น่าจะยากเย็นเกินไป จึงถามเธอไปว่าปัญหาของการถูกหลอกคืออะไร จึงทราบว่า ในประเทศเมียนมา หากผู้ชายเมียนมาจะแต่งงานกับผู้หญิงต่างชาติ จริงๆ แล้วไม่ได้ยากเท่าไหร่ แต่ถ้าเป็นผู้หญิงเมียนมาจะแต่งงานกับผู้ชายต่างชาติอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ค่อนข้างจะยากหน่อย เพราะรัฐบาลเกรงว่า ผู้หญิงเมียนมาจะถูกหลอกลวงไปในทางไม่ดีนั่นเอง 
 

อย่างไรก็ตาม การที่จะจดทะเบียนสมรสกันนั้น จะต้องมีการผ่านขั้นตอนการขึ้นสู่ศาลด้วย โดยจะถูกผู้พิพากษาสอบถามถึงความต้องการ และสิ่งหนึ่งที่กฎหมายเมียนมาคำนึงถึงคือ การนับถือศาสนาของทั้งสองฝ่าย ผู้พิพากษาจะต้องให้ทั้งสองฝ่ายนำหลักฐานมาแสดงถึงการนับถือศาสนาที่เหมือนกัน ไม่แตกต่างนิกายกัน เพื่อปกป้องคู่บ่าว-สาวไม่ให้เกิดปัญหาในอนาคตนั่นเอง

ส่วนหลักฐานนั้น จะต้องมีรูปถ่ายทั้งในอดีตและปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นว่าทั้งคู่มีการเข้าร่วมในศาสนพิธีของตนเองมานำแสดง และหากมีหนังสือรับรองการนับถือศาสนามาแสดงด้วย ก็จะเป็นการดีที่สุด
 

ในส่วนของคุณสุวรรณีเอง เธอนับถือศาสนาคริสต์นิกายมอร์ม่อน แต่ของสามีนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก เธอจึงต้องไปหาบาทหลวงนิกายคาทอลิก มาออกหนังสือยืนยันว่าคู่บ่าวสาวทั้งสอง ไม่ได้มีปรปักษ์ต่อกันในทางความเชื่อทางศาสนาแต่อย่างใด ซึ่งเธอเล่าว่า กว่าเธอจะเสาะแสวงหาหนังสือดังกล่าวได้ ต้องวิ่งลอกไปหลายโบสถ์ทีเดียว ซึ่งก็โชคดีที่สุดท้ายก็ผ่านไปได้ด้วยดี
 

เอกสารอีกชิ้นหนึ่งที่จำเป็นต้องใช้ เธอเล่าว่า ต้องให้ทางสถานฑูตไทยประจำประเทศเมียนมา ออกหนังสือรับรองให้เธอ ซึ่งเธอก็ได้รับการอนุเคราะห์จากทางสถานฑูตไทยด้วยดี  
 

เธอยังเล่าติดตลกด้วยว่า วันที่ไปสถานทูตไทย เธอค่อนข้างจะเกร็งไปหมด แต่โชคดีที่เจ้าพนักงานที่ทำให้ ได้ทำให้เธอด้วยความเต็มใจ และเมื่อเธอเล่าให้เขาฟังเรื่องถูกทนายความหลอกไปสามสี่ครั้ง ทางเจ้าพนักงานยังบอกเธอว่าทีหลังให้มาที่สถานทูตที่เดียวเลย One Stop service  เธออดขำไม่ได้ เพราะเธอไม่เคยคิดว่าใครจะต้องแต่งงานกันบ่อยๆ  ชีวิตหนึ่งก็มีเพียงครั้งเดียวเท่านั้นก็เกินพอแล้ว ...โปรดติดตามตอนต่อไป