เตรียมรับมือโลกธุรกิจใหม่ หลังเลิกล็อกดาวน์

25 ก.ย. 2564 | 22:30 น.

Designing Your Family Business รศ.ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดีคณะวิทยพัฒน์และผู้อำนวยการศูนย์ธุรกิจครอบครัว มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย [email protected]

จากผลพวงการระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก แม้จะเริ่มคลี่คลายลงไปบ้างแล้ว แต่สถานการณ์จะทิ้งบาดแผลสำคัญบางอย่างเอาไว้ เช่น ความรู้สึกไม่มั่นคงในงานของพนักงาน คนจะหันไปทำงานเป็น Freelance มากขึ้น หรือการทำงานแบบ Remote Working ซึ่งจะทำให้บริษัทที่ปรับตัวไม่ได้จะไม่สามารถแข่งขันได้อีกต่อไป

 

มีงานวิจัยเกี่ยวกับความรู้สึกของพนักงานในอังกฤษเมื่อจะต้องกลับมาทำงานที่บริษัทอีกครั้งพบว่า ชาวอังกฤษ 60% จะรู้สึกสบายใจในการกลับไปทำงานที่บริษัทหากทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนหมดแล้ว และข้อมูลเชิงลึกพบว่าบริษัทควรให้ความสำคัญมากขึ้นในการรักษาคนเก่ง ทั้งเรื่องสุขอนามัยและขวัญกำลังใจ งานวิจัยของ Health and Safety Executive (HSE) 

 

รายงานถึงความกังวลหลักๆของพนักงานในการกลับไปทำงานที่บริษัท ได้แก่ 1) การเว้นระยะห่างทางสังคม (60%) 2) ความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน (56%) 3) ความสะอาดในที่ทำงาน (55%) 4) การนำเชื้อไปแพร่ให้กับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง  (45%) และ 5) การอยู่ห่างจากครอบครัว (16%) ตามลำดับ และสิ่งที่พนักงานในอังกฤษขอให้มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อต้องกลับมาทำงาน เพื่อบรรเทาความกังวเมื่อต้องกลับมาทำงานที่บริษัท

 

ได้แก่ 1) ชั่วโมงการทำงานที่ยืดหยุ่นได้ (59%) 2) ลดวันทำงานลงเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ (45%) 3) กำหนดให้มีจำนวนคนในสำนักงานน้อยลง (37%) 4) การประชุมน้อยลง (33%) และ 5) มีกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสุขภาพจิต (Mental health clinic) (32%) ตามลำดับ จากผลการสำรวจจึงมีข้อแนะนำสำหรับบริษัทที่ต้องกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง ดังนี้

 

ทำลายวัฒนธรรมแห่งความเงียบ ปัญหาเกี่ยวกับจิตใจที่ทำให้พนักงานมีแนวโน้มที่จะต้องทนทุกข์อยู่อย่างเงียบๆ โดยไม่กล้าแบ่งปันข้อมูลกับผู้บริหารหรือหัวหน้าของตน ช่วงนี้จึงเป็นเวลาที่เหมาะสำหรับผู้นำธุรกิจที่จะพูดคุยเรื่องต่างๆ อย่างเปิดเผยมากขึ้น และสร้างวัฒนธรรมการสื่อสารที่เห็นอกเห็นใจกันขึ้นมา อาจจัดกิจกรรมเพื่อช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตของพนักงาน

เตรียมรับมือโลกธุรกิจใหม่ หลังเลิกล็อกดาวน์

การเชื่อมต่อทางสังคมกับทีมงาน การทำงานทางไกลมีข้อดีหลายอย่าง แต่นานเข้าหลายคนอาจเริ่มรู้สึกโดดเดี่ยว เพราะสิ่งที่หายไปคือการล้อเล่นในที่ทำงานและการที่ผู้ร่วมประชุมเข้ามาประชุมร่วมกันจริงๆ (face-to-face meeting) ซึ่งนักจิตวิทยาสิ่งแวดล้อมและผู้ฝึกสอนเรื่องคุณภาพชีวิตที่ดี

 

Lee Chambers กล่าวว่าการจัดการปัญหาการขาดการเชื่อมต่อทางสังคมในระหว่างการระบาดของโรคโค-วิด 19 เป็นความท้าทายอันใหญ่หลวงสำหรับคนจำนวนมาก ทั้งนี้ในช่วงเวลาที่วุ่นวายนี้ การเชื่อมต่อทางสังคมมีความสำคัญต่อสุขภาวะที่ดีของคน ผู้นำทำให้เป็นแบบอย่าง เนื่องจากพนักงานจำนวนมากทำงานทางไกล ผู้บริหารจึงต้องตระหนักมากขึ้นถึงความท้าทายที่ครอบครัวต่างๆ ต้องเผชิญ

 

ดังนั้นการส่งเสริมให้มีความยืดหยุ่น การดูแลตนเอง และการตรวจเช็คตัวเองเป็นประจำเป็นกุญแจสำคัญในการลดปัญหาการมาทำงานเมื่อสภาพร่างกายและจิตใจไม่พร้อมและมีความเครียด และเพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานที่ประสบปัญหาสามารถแจ้งและขอความช่วยเหลือได้ โดยส่งเสริมการสนทนาที่โปร่งใสและจัดทำแผนปฏิบัติการสำหรับสมาชิกในทีมที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องต่างๆ

 

เร่งพัฒนาคน อนาคตของธุรกิจกับโควิดอาจจะยืดเยื้อต่อไป การปรับตัวของพนักงานที่ต้อง Re-Skill หรือ Up-Skill ตนเองผ่านระบบออนไลน์เทรนนิ่งต่างๆ หรือการเข้าร่วมสัมมนาออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจกลายเป็นวิถีใหม่ของการพัฒนาบุคคลากรที่มีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำ

 

เพียงแต่บริษัทต้องฉลาดพอที่จะใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ที่ทำให้พฤติกรรมคนทำงานเปลี่ยนไปประกอบกับความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น นำมาสร้างเป็นแนวทางพัฒนาบุคคลากรของตนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงหลังการระบาดของโควิด-19

 

ที่มา: Andrews, P.  2021.  Staying Motivated When Returning Back To The Office. Available: https://familybusinessunited.com/2021/05/17/staying-motivated-when-returning-back-to-the-office/

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.famz.co.th

 

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,717 วันที่ 26 - 29 กันยายน พ.ศ. 2564