ทั้งนี้ปี 2565 ต้องจับตาติดตามความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจไทยรายนี้ไปพร้อมกับที่สปป.ลาว เปิดรับนักท่องเที่ยวบางประเทศเข้าไปเที่ยวในสปป.ลาวได้ในกรีนโซน ตั้งแต่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา
เอสเอ็มอีสายพันธุ์ไทยรายนี้จะเดินแผนธุรกิจอย่างไร ฟังจากปาก นางสาวณฐอร มหิทธิกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิ๊กบลู เอเจนซี่ ลาว จำกัด โดยเฉพาะการทำธุรกิจในสถานการณ์ที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอยู่ต่อไป
กรรมการผู้จัดการ บิ๊กบลู เอเจนซี่ ลาว กล่าวว่า แม้การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังคงมีอยู่ต่อไป แต่ธุรกิจไม่สามารถหยุดได้ ต้องรับมือและอยู่กับโรคร้ายนี้ให้ได้อย่างระมัดระวัง ยอมรับว่าตลอด 2 ปีที่เผชิญกับการแพร่ระบาดทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบทั้งแผนการตลาดและยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า สัดส่วนที่เคยได้รับหายไปมากถึง 50%
อย่างไรก็ดี็ดี สำนักนายกรัฐมนตรีสปป.ลาวออกประกาศแผนของรัฐบาลในการเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้งสำหรับบางประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 น่าจะเป็นโอกาสดีในการประกาศแผนเตรียมความพร้อมแต่งตัวเพื่อนำบริษัท บิ๊กบลู เอเจนซี่ ลาว จำกัด เข้าตลาดหลักทรัพย์ในสปป.ลาวให้ได้ภายในปี 2565 หรือไม่เกินต้นปี2566 โดยมีบริษัท APM เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน เป้าหมายของบริษัท ต้องการระดมทุนเข้ามาขยายกิจการในสปป.ลาวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีโอกาสค่อนข้างสูงที่ลูกค้าจะเข้ามาใช้บริการมากขึ้น หากระดมทุนเข้าตลาดได้ราว 200 ล้านบาทขึ้นไปก็จะช่วยต่อยอดธุรกิจได้เร็วขึ้น
“นับจากนี้ถือเป็นโอกาสดี เพราะมีรถไฟลาว-จีน ในส่วนนี้จะเป็นแรงเสริมที่จะปลุกให้เศรษฐกิจในสปป.ลาวเติบโต รวมถึงไทยจะได้อานิสงส์ด้วยในระยะต่อไป เมื่อเศรษฐกิจคึกคักขึ้นก็เชื่อมโยงกับธุรกิจสื่อโฆษณาคนจะเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้น เกิดการขยายตัวของสินค้าประเภทต่าง ๆ รวมถึงการเติบโตในภาคการลงทุน เหล่านี้นักธุรกิจต้องการการโปรโมตสินค้า มีการทำพีอาร์ มีการวางแผนด้านสื่อโฆษณา คนเริ่มใช้เงิน สร้างแบรนด์ สร้างยอดขาย เช่นเดียวกับด้านการลงทุนที่จะเกิดพื้นที่เช่า ในรูปที่อยู่อาศัย อาคารพาณิชย์มากขึ้น เหล่านี้คือฐานลูกค้าของบริษัทฯทั้งหมด”
นางสาวณฐอร กล่าวว่า ภายในปี 2565 จะฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เริ่มจาก 1.บริหารฐานลูกค้ารายเก่าและเพิ่มฐานลูกค้ารายใหม่เข้ามา จากฐานลูกค้ากว่า 60 รายและรายได้ต่อปีราว 100 ล้านบาท ซึ่งจากยอดขายที่หายไป 50% ก็จะดึงฐานลูกค้ากลุ่มเก่ากลับมา ควบคู่ไปกับการเปิดรับลูกค้ารายใหม่ ล่าสุดเริ่มมีสัญญาณบวกเข้ามาเป็นระยะ โดยเฉพาะลูกค้ารายใหญ่จากธนาคาร ICBC ของจีน ลงป้ายโฆษณากลางแจ้งขนาดใหญ่ตรงสะพานมิตรภาพไทย-ลาว(หนองคาย) ลูกค้าบางรายที่เคยหายไปก็เริ่มทยอยกลับมา
“ตอนนี้ฐานลูกค้ารายใหญ่ที่ยังเหนียวแน่น เช่น กลุ่ม SCG ซีพีออลล์ เบียร์ลาว ฟอร์ด ซัมซุง กลุ่มปตท. และอายิโนะโมะโต๊ะ เดิมเรามีฐานลูกค้า 70% เป็นคนไทยที่ลงทุนในลาว และ 30% เป็นลูกค้าลาว พอเผชิญกับพิษโควิดเราก็ได้ฐานลูกค้าลาวมากถึงสัดส่วน 60% และลูกค้าไทยลดลงเหลือ 40% ตอนนี้หลังพบสัญญาณบวกสัดส่วนฐานลูกค้าเปลี่ยนไปอีก เป็นลูกค้าคนไทยขยับมาที่ 50% ลาว 40% และอื่น ๆ 10% ถือว่าโดยรวมกำลังเดินไปในทิศทางที่ดีขึ้น”
2.แตกไลน์ธุรกิจใหม่ที่ไม่เกี่ยวกับสื่อแต่เน้นด้านสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับประชาชนลาวเริ่มหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สนใจเรื่องรีไซเคิลมากขึ้น จึงซื้อแฟรนไชส์ วงษ์พาณิชย์ ของดร.สมไทย วงษ์เจริญ ผู้ก่อตั้งและประธานบริหารกลุ่มวงษ์พาณิชย์ กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจใหม่ในนามบริษัท วงษ์พาณิชย์ (ลาว) จำกัด และโดยตัวบริษัทก็สามารถขายแฟรนไชส์ต่อได้อีก เพื่อทำการส่งออกขยะรีไซเคิลส่งกลับไปยังสำนักงานใหญ่วงษ์พาณิชย์ในประเทศไทยในรูปกระดาษหรือพลาสติกอัดก้อนขนาดประมาณ 960 ตันต่อปีในระยะเริ่มต้น 3.แตกไลน์ธุรกิจแอพพลิเคชั่นที่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ ทั้งหมดนี้จะเป็นการแตกไลน์ธุรกิจที่เข้ามาเสริมทัพความพร้อมในการเข้าตลาดหลักทรัพย์ในลาวต่อไป
กรรมการผู้จัดการ บิ๊กบลู เอเจนซี่ ลาว กล่าวอีกว่า สภาพแวดล้อมการทำธุรกิจในสปป.ลาวกำลังเอื้ออำนวย จากที่มีพลเมือง 7 ล้านคน ยังไม่รวมประชากรแฝงอีกจำนวนมาก อีกทั้งปี 2564 จีดีพีลาวเติบโตที่ 4% และปี 2565 ธนาคารโลกประมาณการณ์จีดีพีลาวจะเติบโต 4.6% และน่าจับตาแผนเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่เริ่มต้นตั้งแต่ต้นปี 2565 โดยรัฐบาลลาวอนุมัติจัดแบ่งพื้นที่สีเขียวเพื่อการท่องเที่ยวลาวอย่างชัดเจน ทั้งหมดนี้มั่นใจว่าจะเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่พร้อมเต็มที่ที่จะผลักดันให้บริษัทเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ลาวได้ตามเวลาที่กำหนด
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3747 วันที่ 9-12 มกราคม 2565