แผนพัฒนาเทคโนโลยีของจีน เพื่อการเป็นผู้นำด้าน AI ของโลก

03 เม.ย. 2565 | 02:30 น.

แผนพัฒนาเทคโนโลยีของจีน เพื่อการเป็นผู้นำด้าน AI ของโลก : คอลัมน์บทความ โดย พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,771 หน้า 5 วันที่ 3 - 6 เมษายน 2565

พล.ต.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแผนพัฒนาเทคโนโลยีของจีน เพื่อการเป็นผู้นำด้าน AI ของโลกภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) ที่น่าสนใจ ดังนี้

 

1.เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ ภายในปี 2030 (พ.ศ. 2573) จีนจะต้องเป็นผู้นำโลกทางด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial Intelligence (AI) ซึ่งหมายถึง ความอัจฉริยะในองค์ความรู้ที่สร้างขึ้นมาจากสิ่งที่ไม่มีชีวิต โดยการรวบรวมหลายๆ สิ่งไว้ เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้สามารถคิดและเป็นผู้ช่วยในด้านต่างๆ 

 

มีระบบคิด ระบบกระทำอย่างมีเหตุผลตามปัจจัยเหมือนมนุษย์ อาทิระบบนำทางรถยนต์ไร้คนขับ หุ่นยนต์ที่มีความสามารถทำงานคล้ายกับมนุษย์และระบบการทำงานต่างๆ ในสมาร์ทโฟน เป็นต้น 

 

ทั้งนี้ได้ตั้งเป้าที่จะสร้างอุตสาหกรรม IT ที่มีรายได้รวมปีละ 1 ล้านๆ หยวน รวมทั้งสร้างผลงานใหม่ที่สำคัญทางด้านเทคโนโลยี IT ภายในปี 2025 (พ.ศ. 2568) และหวังที่จะเร่งพัฒนา AI ในเชิงพาณิชย์ในด้านต่างๆ ไม่ เพียงแต่ในเรื่อง smart city แต่จะรวมไปถึงทางด้านการทหารด้วย

 

2. แนวทางหรือวิธีการดำเนินการ

 

2.1 กำหนดมาตรการลดหย่อนทางภาษี เพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยเฉพาะการกระตุ้นภาคเอกชนให้ขับเคลื่อนการวิจัยไปสู่เป้าหมาย

 

 

แผนพัฒนาเทคโนโลยีของจีน เพื่อการเป็นผู้นำด้าน AI ของโลก

 

 

2.2 สร้างนครอุตสาหกรรม ทั่วประเทศสำหรับอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ และเพิ่มความเข้มข้นในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาให้แก่ผลผลิตจากการวิจัย AI อีกทั้งจะผลักดันเทคโนโลยีฯ ให้แทรกซึมเข้า ไปยังทุกภาคอุตสาหกรรม

 

2.3 การตั้งหน่วยงานคลัง สมองด้าน AI ขึ้นเป็นการเฉพาะเพื่อให้รัฐบาลทุ่มงบประมาณในการวิจัยด้าน AI อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการผลิตผู้เชี่ยวชาญด้านสมองกลรุ่นใหม่ รวมทั้งร่างแผนพัฒนา AI ในยุคต่อไป 

 

บรรจุรายวิชาที่เกี่ยวข้องกับ AI และการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เข้าในโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น ตลอดจนวางแผนที่จะเพิ่มหลักสูตรดังกล่าวลงในสถาบันอาชีวะและสถาบันการศึกษาระดับสูงในจีน 

 

นอกจากนี้ จีนยังได้วางแผนสร้างความร่วมมือร่วมกับสถาบันชั้นนำทางด้าน AI ระดับนานาชาติอีกด้วย

 

2.4 เปิดตัวห้องปฏิบัติการวิจัย AI แห่งชาติเป็นแห่งแรกขึ้นในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(China University of Science and Technology /USTC) เมื่อเดือน พ.ค. 2560 เพื่อเป็นศูนย์กลางการรวบรวมผู้มีความสามารถด้านการวิจัยชั้นนำของประเทศในการพัฒนาเทคโนโลยีสมองกล ซึ่งมีระบบประมวลผลที่เลียนแบบสมองมนุษย์ 

 

ภายใต้ความร่วมมือค้นคว้าวิจัยของสถาบันชั้นนำต่างๆ ทั่วจีน อาทิ มหาวิทยาลัยฟูตั้น, Shenyang Institute of Automation of the Chinese Academy of Science และ ไป่ตู้ เสิร์ชเอนจิ้นใหญ่ที่สุดของจีน 

 

2.5 ให้ความสำคัญในการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรด้าน AI 

 

3. เครื่องมือในการดำเนินการ

 

3.1 ปัจจัยด้านการลงทุน โดยมีการลงทุน 3 อันดับแรก ได้แก่ 

 

(1) คอมพิวเตอร์วิทัศน์ (computer vision) ซึ่งเป็นสาขาหนึ่งของวิทยาการคอมพิวเตอร์ว่าด้วยเรื่อง เกี่ยวกับการดึงสารสนเทศจากรูปภาพหรือวีดิทัศน์ ในสัดส่วน 23%  

 

(2) การประมวลผลภาษาโดยธรรมชาติ (Natural Language Processing : NLP) ในสัดส่วน 19% 

 

และ (3) การขับขี่อัตโนมัติ ในสัดส่วน 18%

 

3.2 ปัจจัยด้านการวิจัย จากการประเมินปริมาณวิทยานิพนธ์ที่ได้รับการตีพิมพ์ พบว่า การวิจัยด้านเทคโนโลยี AI ของจีนได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว แผนการพัฒนเทคโนโลยี AI ของรัฐบาลจีนดึงดูดให้นักวิจัยชาวจีนในต่างประเทศกลับสู่ดินแดนมาตุภูมิ 

 

รวมถึงนักวิจัยจากทั่วทุกมุมโลกที่หลั่งไหลเข้ามาในจีน โดยเริ่มมองหาคนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ ซึ่งเป็นคนต่างชาติ อย่าง อเมริกัน ญี่ปุ่น อินเดีย และ อิสราเอล ที่มีองค์ความรู้ด้าน AI และพัฒนาด้านนี้มาก่อนจีน ด้วยการให้สิทธิพิเศษ เช่น ได้รับเงินก้นถุง 1 ล้านหยวน (5 ล้านบาท) ได้วีซ่า 10 ปี และสามารถครอบครองอสังหาฯ ได้ เป็นต้น 

 

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ http://www.gov.cn/xinwen/2017-07/20/content_5212152.htm)