ส่วนประเด็นที่ท้าทายยิ่งว่า เราจะมีโอกาสเห็นการพัฒนาเมืองใหญ่ของไทยเป็นดั่งเช่นเมืองใหม่สวงอันหรือไม่นั้น ผมคิดว่า “ยากถึงยากที่สุด” ครับ
ประการแรก การพัฒนาเมืองใหม่ของไทยมักอยู่บนรากฐานหรือผูกแน่นกับของเมืองเก่า ซึ่งความแออัดของผู้คนในเมืองเก่าทำให้เกิดข้อจำกัดในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ดีพร้อมอย่างแท้จริง และจำเป็นต้องใช้เวลานานนับชั่วอายุของคน
อันที่จริง ในอดีต จีนก็เคยประสบกับปัญหาที่คล้ายคลึงกัน การเวนคืนที่ดินของจีนในยุคหลังมิได้เกิดขึ้นตามคำสั่งแบบ “ซ้ายหัน ขวาหัน” อย่างที่หลายคนเข้าใจ จีนจึงวางกลยุทธ์การพัฒนาเมืองเดิมอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยจีนเริ่มสร้างเมืองใหม่คู่ขนานขึ้นก่อน และโยกย้ายผู้คนบางส่วนไปสู่ย่านเมืองใหม่เพื่อลดความหนาแน่นของย่านเมืองเก่า
หลังจากนั้น รัฐบาลจึงกลับมาปรับปรุงซีกเมืองเก่าในลำดับถัดไป อย่างไรก็ดี โดยวิธีการดังกล่าว จีนต้องใช้ทรัพยากรและเวลานานในการดำเนินงาน รวมทั้งยังจำเป็นต้องอาศัยความต่อเนื่องในเชิงนโยบายเพื่อบรรลุเป้าหมาย ซึ่งสภาพปัจจัยแวดล้อมทางการเมืองของไทยอาจไม่เอื้ออำนวยต่อแนวทางนี้
ประการถัดมา แนวคิดการสร้างเมืองใหม่มีอยู่น้อยในสังคมไทย คนไทยส่วนใหญ่มีแนวคิดที่อนุรักษ์นิยม ยอมรับสภาพที่เป็นอยู่ได้มาก และชอบอยู่กับธรรมชาติและวัฒนธรรมเดิม บางคนยังกลัวว่าการสร้างเมืองใหม่จะทำให้รากฐานทางวัฒนธรรมสูญสลายไป และเลยไปถึงประเด็นเรื่องผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มจากการดำเนินโครงการดังกล่าว
ผมยังแอบเอาใจช่วยโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ “อีอีซี” ที่มุ่งหวังจะพัฒนา 3 จังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นแหล่งรองรับการพัฒนาของอุตสาหกรรมใหม่ที่มีศักยภาพ และพร้อมพรั่งไปด้วยโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่ง โทรคมนาคม บริการสาธารณะ และอื่นๆ ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์วิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ในอนาคต
ไล่ตอบคำถามของท่านผู้อ่านเสียยืดยาว ในตอนท้าย ผมอยากเล่าถึงการพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมของสวงอันต่อเนื่องจากบทความก่อน ...
ในด้านหนึ่ง สวงอันจะกลายเป็นฐานเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อุตสาหกรรมนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนา ฟินเทค และทรัพยากรมนุษย์ ผ่านยาชีวภาพ วัสดุใหม่ และอุปกรณ์ด้านที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม และธุรกิจบริการรักษาพยาบาล ไอที และ ซอฟท์แวร์
โทรคมนาคม การออกแบบ การให้คำปรึกษา โลจิสติกส์ และอีคอมเมิร์ซ ตลอดจนโครงการสวนวิทยาศาสตร์จงกวนชุน (Zhongguancun) ในพื้นที่
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สวงอันยังมีบทบาทนำในการลดพลังงานฟอสซิล และหันไปใช้พลังงานสีเขียวเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่คนในพื้นที่ในฤดูหนาว โดยดำเนินโครงการปรับเปลี่ยน “ถ่านหินสู่ไฟฟ้า” และ “ถ่านหินสู่ก๊าซ” กันอย่างขนานใหญ่
ในอีกด้านหนึ่ง จีนยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาพื้นที่สีเขียวให้กระจายทั่วเมือง นอกจากโครงข่ายพื้นที่สีเขียวที่เกริ่นไปเมื่อคราวก่อนแล้ว รัฐบาลยังเดินหน้าปลูกป่าขนาดใหญ่ในพื้นที่ หนึ่งในโครงการปลูกป่าที่น่าจะกล่าวถึงก็ได้แก่ “โครงการป่าไม้พันปี” (Millennium Forest) ที่ปลูกป่าขนาดกว่า 125,000 ไร่ หรือ เกือบครึ่งหนึ่งของจังหวัดสมุทรสาครกันเลยทีเดียว
การลดการปล่อยคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ และการสร้างพื้นที่ผลิตออกซิเจน ไม่เพียงทำให้สวงอันมีแหล่ง “ฟอกปอด” ขนาดใหญ่ในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังจะทำให้ปักกิ่งและเมืองใกล้เคียงเสมือนมีป่าไม้ใหญ่หลังบ้านอีกด้วย แหล่งผลิตอ๊อกซิเจนจากพื้นที่สีเขียวเหล่านี้อาจกลายเป็น “แหล่งทำเงิน” ของสวงอันจากแนวทางการลดโลกร้อนในอนาคตอีกด้วย
ลองจินตนาการดูว่า กทม. และปริมณฑลจะน่าอยู่ขนาดไหน หากจังหวัดรายรอบ กทม. เปลี่ยนจากการมุ่งหวังผลตอบแทนด้านเศรษฐกิจจากการกระจายฐานการผลิตสินค้าที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปเป็นแหล่งรองรับบริการและโรงงานผลิตสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งมีพื้นที่สีเขียวคิดเป็นครึ่งหนึ่งของแต่ละจังหวัด
ในช่วงหลายปีหลังนี้ รัฐบาลจีนยังได้ปรับปรุงสภาพแวดล้อมของทะเลสาบไป๋หยางเตี้ยน (Baiyangdian) ซึ่งเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของพื้นที่ทางตอนเหนือของจีน โดยผันน้ำจากแม่น้ำเหลืองเข้ามาใส่ทะเลสาบดังกล่าว เพื่อให้มั่นใจว่าไม่เพียงทะเลสาบแห่งนี้จะไม่เหือดแห้ง ดังเช่นที่เคยเป็นในช่วงปี 1983-1987 แต่รัฐบาลจีนยังสามารถเพิ่มขนาดของทะเลสาบเป็นถึงราว 290 ตารางกิโลเมตรในพื้นที่ได้
นอกจากนี้ รัฐบาลท้องถิ่นยังเดินหน้าจัดระเบียบด้านมลพิษกับกิจการที่เกี่ยวข้องถึง 13,000 บริษัท และก่อสร้างโรงงานและระบบบำบัดน้ำเสียในพื้นที่ ส่งผลให้คุณภาพน้ำในทะเลสาบดีขึ้นโดยลำดับ จากระดับ 5 (คุณภาพย่ำแย่) ในช่วงกลางทศวรรษ 1980 มาอยู่ในระดับ 3 (คุณภาพดี) ในปัจจุบัน
รัฐบาลยังลงทุนก่อสร้างท่าเรือ ปรับปรุงภูมิทัศน์ ลดพื้นที่ตกปลาในทะเลสาบ และอื่นๆ เพื่อมุ่งหวังพัฒนาให้ทะเลสาบแห่งนี้กลายเป็นสถานที่พักผ่อนและท่องเที่ยวทางน้ำหลักในตอนกลางของเมืองใหม่สวงอันในอนาคต
หากชุมชนของเรามีแหล่งน้ำคุณภาพดีขนาดกว้าง 17 กิโลเมตร และยาว 17 กิโลเมตรอยู่ในพื้นที่ เราคงสามารถได้รับประโยชน์จากปริมาณน้ำมหาศาลจากทะเลสาบแห่งนี้ได้ในหลากหลายรูปแบบ ทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม อาทิ สถานที่พักผ่อนหย่อนใจ แหล่งประกอบอาชีพประมง ร้านอาหารและแหล่งช้อปปิ้ง และอีกหลายสิ่งให้กับผู้คนที่อยู่ในสวงอันและพื้นที่ใกล้เคียงได้มาก
เห็นการดำเนินงานพัฒนาเมืองใหม่สวงอันที่เกิดเป็นรูปธรรมอย่างรวดเร็วเช่นนี้แล้ว ผมก็แอบอิจฉาผู้คนที่ใช้ชีวิตในเมืองนี้ไม่ได้ เรานึกถึงการเป็นเมืองที่มีโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกล้ำสมัยที่นำไปสู่ความอัจฉริยะ ความสร้างสรรค์ สีเขียว และวัฒนธรรมที่พร้อมสรรพ
ประการสำคัญ เมืองใหม่สวงอันไม่เพียงจะทำให้ผู้คนในพื้นที่ได้รับความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้ชีวิตแล้ว แต่ยังจะมีสุขภาพที่ดีและเปี่ยมด้วยความสุขอีกด้วย ...
เกี่ยวกับผู้เขียน : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน