ข้อคิดแนวทางการพัฒนาประเทศ จาก “เมืองเซินเจิ้น” ของจีน

12 มิ.ย. 2565 | 02:00 น.

ข้อคิดแนวทางการพัฒนาประเทศ จาก “เมืองเซินเจิ้น” ของจีน โดย... พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3791

พลโท ดร.ไชยสิทธิ์ ตันตยกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านยุทธศาสตร์และการป้องกันประเทศ ได้ประมวลและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับข้อคิดที่ควรนำมาพิจารณากำหนดแนวทางการพัฒนาประเทศ จากการพัฒนาเมืองเซินเจิ้น เมื่อปี พ.ศ.2522 


โดยแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จาก นายเติ้ง เสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีน ทำให้เมืองเซินเจิ้น กลายเป็นชุมทางขนส่งและคมนาคมที่สำคัญ ทั้งทางทะเลและอากาศทางตอนใต้ของประเทศ โดยเฉพาะการเข้าออกของสินค้าตู้คอนเทนเนอร์ ที่บริเวณท่าเรือเมืองเซินเจิ้น มีปริมาณมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ และเป็นอันดับ 6 ของโลก 

นอกจากนี้ ท่าอากาศยานของเมืองเซินเจิ้น ก็ติดอันดับ 1 ใน 4 สนามบินใหญ่ในประเทศจีน และเป็นเมืองระดับสากลที่ทันสมัย

 

สำหรับแผนในอนาคตของเมืองเซินเจิ้น ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน ที่มีจุดมุ่งหมายทำให้จีนกลายเป็น “ศูนย์กลางนวัตกรรมและการเงินของโลก” และภายใต้แผนดังกล่าว ได้มีการดำเนินนโยบาย “Made in China 2025” ซึ่งจะกระตุ้นให้จีนสามารถขยายขีดความสามารถด้าน “นวัตกรรมและเทคโนโลยี” ของประเทศ 



พร้อมทั้งยกระดับผลผลิตต่างๆ ในห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) เพื่อผลักดันแบรนด์ “Made in China” ให้เป็นที่ยอมรับไปทั่วโลก ทำให้ "เซินเจิ้น” ได้รับการยกระดับเป็น “Silicon Valley of Asia” เนื่องจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ กล่าวคือ
 

 

ประการที่ 1 ในบรรดาเมืองใหญ่ 9 แห่งบริเวณเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมปากแม่น้ำเพิร์ล ประกอบด้วย นครกว่างโจว เมืองเซินเจิ้น เมืองฝอซาน เมืองจูไห่ เมืองตงกว่าน เมืองจงซาน เมืองเจียงเหมิน บางส่วนของเมืองจ้าวชิ่ง และบางส่วนของเมืองหุ้ยโจว พบว่า “เซินเจิ้น” เป็นเมืองที่มีภาคการผลิตใหญ่ที่สุด โดยมีมูลค่าเพิ่มด้านอุตสาหกรรมถึง 719,000 ล้านหยวน ในช่วงปี พ.ศ.2562 โดยอุตสาหกรรมที่สำคัญ ได้แก่ การสื่อสาร คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ และด้านธุรกิจการเงิน

                                    ข้อคิดแนวทางการพัฒนาประเทศ จาก “เมืองเซินเจิ้น” ของจีน
ประการที่ 2 เซินเจิ้น เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์สำคัญของนโยบายตามข้อริเริ่ม “สายแถบและเส้นทาง” (Belt and Road Initiative : BRI) โดยเป็นศูนย์กลางการเงินอันดับที่ 22 ของโลก และเป็นที่ตั้งของตลาดหลักทรัพย์เซินเจิ้น และเขตการค้าเสรีเฉียนไห่ เป็นหนึ่งในเขตการค้าเสรีในยุคแรกที่ดำเนินนโยบายการใช้ “นวัตกรรม” ที่ทันสมัย เพื่อสนับสนุนวิสาหกิจ และมีโรงเรียนธุรกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก จึงเป็นแหล่งผลิตผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะด้านการเงินชั้นสูงได้อย่างต่อเนื่อง


ปัจจุบัน เมืองเซินเจิ้นเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว มีสถานะเป็นเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ใหญ่ที่สุด และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงที่สุด 

 

โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ของจีน กล่าวว่า การปฏิรูปสู่ภายนอก เป็น “พันธุกรรม” ของการพัฒนาแบบก้าวกระโดดของเมืองเซินเจิ้น อีกทั้งเป็น “รหัสลับ” ในการอธิบายสาเหตุที่ประเทศจีนและคนจีนสามารถบรรลุการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่

 

จากแนวคิดอันมีวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของ นายเติ้ง เสี่ยวผิง เมื่อ 43 ปีก่อนหน้านี้ ที่กล่าวถึงรัฐบาลท้องถิ่นว่าสามารถแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งออกมา และตั้งชื่อเขตพิเศษได้ แม้รัฐบาลกลางจะไม่มีเงินทุน แต่จะให้นโยบายพิเศษบ้าง โดยต้องอาศัยเหล่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นกำหนดนโยบายและหาเงินทุนเอง รวมทั้งพยายามบุกเบิกหนทางการพัฒนาใหม่ 

 

จึงกล่าวได้ว่า เมืองเซินเจิ้น เป็นกรณีตัวอย่างซึ่งสะท้อนถึงความสำเร็จในรอบ 43 ปีที่ผ่านมา ต่อการปฏิรูประบบเศรษฐกิจและการเปิดสู่ตลาดโลกของจีนได้เป็นอย่างดี

 

(ข้อมูลจากเว็บไซต์ https://m.dutenews.com/shen/p/6811144.html และเว็บไซต์ http://www.gd.gov.cn/.../zcfgk/content/mpost_2939398.html )