เป็นที่ทราบกันดีว่าธนาคารกลางของประเทศมีเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญ คือ การกำหนดดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นตัวส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์ของประเทศปรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ของตน ส่งผลต่อเนื่องไปยังภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่จะตัดสินใจกู้เงินมาบริโภคหรือลงทุน
ในแง่นี้เอง การปรับดอกเบี้ยนโยบายจึงทำหน้าที่เป็นเบรคเมื่อเศรษฐกิจเติบโตเร็วจนเกินไปและทำหน้าที่เป็นคันเร่งเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวช้าจนเกินไป เพื่อบรรลุเป้าหมายที่จะทำให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในระยะปานกลางถึงระยะยาว
แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าธนาคารกลางได้ทำหน้าที่เพียงการส่งสัญญาณเท่านั้น ไม่ได้เป็นการบังคับให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปรับอัตราดอกเบี้ยตามอย่างเข้มงวด จึงเกิดเป็นคำถามว่าประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายทางการเงินผ่านการกำหนดดอกเบี้ยจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน?
ประโยชน์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการปรับเพิ่มลดอัตราดอกเบี้ยเป็นประโยชน์กับประชาชนหรือธนาคารพาณิชย์กันแน่?
ทำไมธนาคารพาณิชย์ถึงไม่ลดดอกเบี้ยในระดับที่เท่าเทียมกันกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายและอาจจะไม่ปรับตามการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายในทันที?
ธนาคารแห่งประเทศไทยควรจะมีการกำกับดูแลในเรื่องนี้มากขึ้นหรือไม่ และถ้ามีควรจะใช้เครื่องมือใด?
คำถามเหล่านี้เป็นคำถามที่ผู้เขียนได้รับโจทย์จากคณะกรรมาธิการการพัฒนาเศรษฐกิจให้ช่วยเป็นหนึ่งในผู้ให้ข้อมูลเพื่อที่จะนำไปสู่การพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาประสิทธิภาพของกลไกนโยบายการเงินที่เกี่ยวข้องต่อไป
ผู้เขียนคิดว่าความเห็นของผู้เขียนอาจจะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่านที่มีความสนใจมุมมองทางวิชาการในประเด็นนี้ จึงขออนุญาตนำเสนอความเห็นของผู้เขียน ดังนี้
ผู้เขียนได้เคยศึกษาข้อมูลการตอบสนองของธนาคารพาณิชย์ต่อการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า การตอบสนองจะไม่ได้เป็นสัดส่วนกัน โดยการลดลงในอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.25) นำไปสู่การปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ที่น้อยกว่า (เกิดการปรับลดจริงประมาณร้อยละ 0.15 โดยเฉลี่ย) และเป็นการปรับลดที่มีความล่าช้าอย่างน้อย 2 ไตรมาส
อย่างไรก็ดี การศึกษาในครั้งนั้นเป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นในอดีตหลายปีที่ผ่านมาและเป็นการศึกษาเพื่อคาดการณ์เหตุการณ์เฉพาะหน้าเพียงครั้งนั้นครั้งเดียวมากกว่าที่จะเป็นความพยายามที่จะอธิบายปรากฎการณ์โดยทั่วๆ ไป
แต่กระนั้นก็ต้องยอมรับว่าการปรับอัตราดอกเบี้ยที่ไม่ได้เป็นสัดส่วนกัน และเป็นการปรับอย่างล่าช้าอาจจะไม่ได้สะท้อนความผิดปกติและน่าจะเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นได้ทั่วๆ ไป โดยมีหลากหลายเหตุผลที่เป็นไปได้ เช่น แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นต้นทุนในการกู้ยืมเงินที่ธนาคารพาณิชย์สามารถเลือกใช้ในการกู้ยืมแล้วเอามาปล่อยต่อให้กับภาคธุรกิจ และการลดลงในอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นการลดลงในต้นทุนการกู้ยืมดังกล่าวจึงทำให้ธนาคารพาณิชย์น่าจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ในสัดส่วนที่เท่ากันในทันที
แต่ทว่าในความเป็นจริงแล้วธนาคารพาณิชย์อาจจะไม่สามารถปล่อยกู้ได้มากเท่าที่อยากจะทำได้ จึงเกิดเป็นต้นทุนของเงินในส่วนที่ไม่สามารถปล่อยกู้ได้ ทำให้ไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้อย่างทัดเทียมกัน เช่นเดียวกัน นอกจากต้นทุนทางการเงินแล้ว การปล่อยกู้ย่อมต้องพิจารณาความเหมาะสมของผู้กู้ตามความเสี่ยงจึงไม่อาจที่จะลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อย่างตรงๆ และต้องพิจารณาความเหมาะสมของผู้กู้ทั้งพอร์ตร่วมด้วย เช่น หากกำหนดให้ดอกเบี้ยการกู้ยืมระหว่างผู้ขอกู้ที่มีความเสี่ยงเท่ากันมีความแตกต่างกันหลังจากธนาคารกลางมีการปรับลดดอกเบี้ยเพียงวันเดียวย่อมไม่เป็นธรรมกับผู้ที่ขอกู้ก่อนการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย เป็นต้น
เช่นเดียวกัน แหล่งเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ เงินฝากของประชาชน ซึ่งเป็นต้นทุนที่มักจะไม่ได้ลดลงตามดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้การลดลงในดอกเบี้ยเงินกู้ย่อมทำให้กำไรที่สร้างจากการปล่อยกู้ส่วนนี้ลดลง หรือหากธนาคารพาณิชย์ลดดอกเบี้ยเงินฝากของประชาชนลงก็ย่อมทำให้ผู้ออมเงินได้รับผลกระทบ
ต้องยอมรับว่า โดยพื้นฐานแล้วธนาคารพาณิชย์มีหน้าที่ในการดูแลผลประโยชน์ให้กับผู้ถือหุ้น หรือเจ้าของธุรกิจเป็นหลัก ไม่ใช่องค์กรเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น พฤติกรรมการกำหนดดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์จึงมีประสิทธิภาพสูงที่สุดตามกลไกตลาดอยู่แล้ว
ท้ายที่สุด ผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นต่างๆ เป็นผลมาจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องยังไม่สามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างเต็มที่ ดังนี้
1. ผู้ฝากเงินขาดความรู้ทางการเงิน ไม่มีพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงที่สุด จึงยินดีที่จะรับดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำ ทั้งๆ ที่เงินฝากในบัญชีเหล่านี้ยังถูกเรียกเก็บเงินเข้ากองทุน FIDF เพื่อแก้หนี้วิกฤติ 40 ทำให้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงไปอีก
2. คู่แข่งที่สำคัญของธนาคารพาณิชย์ คือ ธนาคารรัฐที่ต้องกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันเพื่อเสนอทางออกให้กับผู้กู้ แต่ก็ต้องพึงระวังในเรื่องของการจัดการความเสี่ยงของผู้กู้ให้มีประสิทธิภาพตามไปด้วย
3. ตลาดทุนไทยยังพัฒนาได้อย่างจำกัด ถ้าตลาดทุนไทยสามารถเป็นทางเลือกให้กับธุรกิจสามารถหาเงินทุนที่ดอกเบี้ยต่ำลงได้ย่อมเป็นคู่แข่งธนาคารพาณิชย์ได้ดีอีกทางหนึ่ง
4. แหล่งเงินทุนทางเลือกที่ไทยพัฒนาได้อย่างจำกัด และควรจะเป็นช่องทางในการปล่อยกู้ให้กับภาคธุรกิจมากขึ้น เช่น การกู้ยืมแบบ P2P การพัฒนา Virtual Bank เพื่อเป็นคู่แข่งกับธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น
5. ธนาคารแห่งประเทศไทย ควรจะใช้ NIM เป็นเครื่องมือในการประเมินความก้าวหน้าในระยะยาวของธนาคารพาณิชย์ โดย
NIM (ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ที่หักรายได้จากอัตราดอกเบี้ยหักต้นทุนจริงแล้วคิดเป็นสัดส่วนร้อยละต่อสินทรัพย์ทั้งหมด)
ถ้าพิจารณาตัวเลขนี้ จะพบว่า ประเทศพัฒนาแล้วจะอยู่ที่ร้อยละ 1 ถึง 2.5 (เช่น สิงค์โปร์ เกาหลีใต้) ในขณะที่ไทยอยู่ที่ร้อยละ 2.5 ถึง 3.2 และประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ จะอยู่ที่ร้อยละ 3 ถึง 6 (เช่น อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์)
ตัวเลขนี้ไทยควรจะวางเป้าหมายที่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่ไม่ควรจะใกล้จนเกินไป เพราะว่ารายได้ที่มาจากการปล่อยกู้เป็นเพียงรายได้ส่วนหนึ่งของธนาคารเท่านั้น ธนาคารยังมีรายได้ที่ไม่ใช่การปล่อยกู้ ซึ่งในแง่นี้เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยอมให้มีบริการ Prompt pay โดยไม่คิดค่าธรรมเนียม จึงควรจะอนุญาตให้มีรายได้จากการปล่อยกู้ก็มา cross subsidize บางส่วน นอกจากนี้ ธนาคารไทยยังมี scale เล็กเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วจึงอาจจะมี economies of scale ที่ต่ำกว่าก็ต้องยอมให้ NIM สูงกว่าบ้าง
ท้ายที่สุด ผู้เขียนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอในการใช้เครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ในการพิจารณาความก้าวหน้าในระยะยาว เช่น การใช้ Price to Book Value หรือ การใช้ ROE เนื่องจากเป็นเครื่องมือที่สะท้อนผลการดำเนินงานชองธุรกิจที่เกิดขึ้นจริง (ซึ่งมีหลากหลายกิจกรรมซ่อนอยู่มาก) แต่ไม่ได้สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการให้บริการกู้ยืมเงินออกมาอย่างชัดเจน