ศิลปวัฒนธรรมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่าที่คาดคิด

28 ส.ค. 2567 | 07:24 น.
อัปเดตล่าสุด :28 ส.ค. 2567 | 07:36 น.

ศิลปวัฒนธรรมสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้มากกว่าที่คาดคิด : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... ผศ.ดร.สวรัย บุณยมานนท์ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4022

มหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 33 ที่จัดขึ้น ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้สร้างความประทับให้ผู้ชมจากทั่วโลกเป็นอย่างมาก ตั้งแต่การใช้ขบวนเรือเพื่อเปิดตัวนักกีฬาทางแม่น้ำแซนด์ จนถึงการใช้สนามกีฬาชั่วคราว ที่สร้างขึ้นบริเวณสถานที่สำคัญต่างๆ เช่น หอไอเฟล แกรนด์พาเลซ หรือ พระราชวังแวร์ซาย

สิ่งเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงการใช้ประโยชน์จากมหกรรมกีฬา ที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจ ในการนำเสนอศิลปวัฒนธรรมของประเทศ ที่มีมาอย่างยาวนานได้อย่างสร้างสรรค์ ล้ำสมัย และ ชาญฉลาด

นอกจากศิลปวัฒนธรรมจะช่วยจรรโลงและเยียวยาจิตใจของมนุษย์แล้ว ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอีกด้วย รายงานของ National Endowment for the Arts (NEA) ร่วมกับ Bureau of Economic Analysis (BEA) โดยใช้ข้อมูล Arts and Cultural Production Satellite Account (ACPSA) ระหว่างปี 2017-2022 ที่เผยแพร่เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นว่า ภาคศิลปวัฒนธรรมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกาอย่างมีนัยสำคัญ 

โดยวิเคราะห์จาก 35 อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทั้งอุตสาหกรรมที่สร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรมโดยตรง เช่น ศิลปะการแสดง พิพิธภัณฑ์ การบริการออกแบบ และที่เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุนการสร้างสรรค์ศิลปวัฒนธรรม เช่น บริการสารสนเทศ การค้าปลีก การค้าส่งและการขนส่ง 

ข้อค้นพบที่น่าสนใจคือ ในปี 2022 ภาคศิลปวัฒนธรรมสามารถสร้างมูลค่าเพิ่ม (value added) ได้ถึง 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 42 ล้านล้านบาท) คิดเป็น 4.3% ของ GDP ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงเป็นประวัติการณ์ สูงกว่าภาคขนส่งและการจัดเก็บสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 920,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

และภาคนันทนาการที่มีมูลค่าเพิ่มเท่ากับ 469,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่น้อยกว่ามูลค่าเพิ่มของภาคบริการสุขภาพและการช่วยเหลือทางสังคมที่เท่ากับ 1.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และภาคการค้าปลีกที่เท่ากับ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ 

นอกจากนี้ ยังพบว่า ภาคศิลปวัฒนธรรมมีการเติบโตถึง 4.8% ระหว่างปี 2021-2022 ซึ่งสูงกว่าการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจประเทศสหรัฐอเมริกาในภาพรวม

โดยถ้าเทียบกับปี 2019 ซึ่งเป็นช่วงก่อนวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว ภาคศิลปวัฒนธรรมมีการขยายตัวสูงถึง 13.6% เมื่อเทียบกับภาพรวมของประเทศที่มีการขยายตัวเพียง 5.5% เท่านั้น

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงที่สุดในภาคศิลปวัฒนธรรม ได้แก่ การเผยแพร่ผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ Web Publishing and Streaming 

ผลกระทบของศิลปวัฒนธรรมที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ ยังสามารถพิจารณาได้จากการจ้างงาน รายงานของ NEA และ BEA คาดประมาณว่า ในปี 2022 มีแรงงานกว่า 5.2 ล้านคน ได้รับการจ้างงานเพื่อผลิตสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม และได้รับค่าตอบแทนกว่า 540,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

โดยอุตสาหกรรมที่มีการจ้างงานมากที่สุด ได้แก่ บริการของภาครัฐ เช่น การเรียนการสอนศิลปะในโรงเรียนของรัฐ พิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ รองลงมาคือการซื้อขายงานศิลปะ และภาพยนตร์และวิดีโอ 

พิพิธภัณฑ์เป็นสถาบันศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญ ที่เปิดโอกาสให้ศิลปิน นักออกแบบ หรือผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์สามารถพัฒนาผลงานเพื่อนำมาจัดแสดงได้ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นแหล่งเรียนรู้ รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว ดึงดูดให้ผู้สนใจในงานศิลปะจากทั่วทุกมุมโลกให้มาเยี่ยมชมอีกด้วย 

รายงานของ UNESCO ในปี 2021 ชี้ให้เห็นว่า พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกมีอยู่ประมาณ 104,000 แห่ง โดย 33,082 แห่ง หรือกว่า 1 ใน 3 ของพิพิธภัณฑ์ทั่วโลก อยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา รองลงมาคือ ประเทศเยอรมนี ที่มีพิพิธภัณฑ์จำนวน 6,741 แห่ง 

ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศจีน และประเทศรัสเซีย มีจำนวนพิพิธภัณฑ์ใกล้เคียงกัน คือ ประมาณกว่า 5,000 แห่ง ส่วนประเทศไทยนั้น มีจำนวนพิพิธภัณฑ์ 1,526 แห่ง สูงกว่าประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งมีพิพิธภัณฑ์จำนวน 1,102 แห่ง 

เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว พบว่า อัตราส่วนพิพิธภัณฑ์ต่อประชากรทั่วโลก 1 ล้านคน ในประเทศสหรัฐอเมริกา สูงถึง 101.1 ในภูมิภาคยุโรปตะวันตก มีอัตราส่วนเท่ากับ 56.3

สำหรับประเทศไทย มีจำนวนพิพิธภัณฑ์ประมาณ 22 แห่ง ต่อประชากร 1 ล้านคน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่เท่ากับ 13.8  

สำหรับจำนวนผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์นั้น ข้อมูลจาก Wikipedia แสดงให้เห็นว่า ในปี 2023 พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส มีผู้คนเข้าชมมากที่สุดถึง 8,900,000 คน

รองลงมาคือ พิพิธภัณฑ์วาติกัน นครรัฐวาติกัน ที่มีผู้เข้าชมจำนวน 6.8 ล้าน ส่วนอันดับ 3 และอันดับ 4 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ได้แก่ British Museum และ Natural History Museum ที่มีจำนวนผู้เข้าชมใกล้เคียงกัน คือประมาณ 5.8 ล้านคน และ 5.7 ล้านคนตามลำดับ และอันดับที่ 5 ได้แก่ Metropolitan Museum of Art หรือ The Met กรุงนิวยอร์ค ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีผู้คนเข้าชม 5.4 ล้านคน

พิพิธภัณฑ์สามารถสร้างรายได้จากค่าตั๋วเป็นจำนวนเงินสูงมาก โดยหากคำนวณอย่างคร่าวๆ จะพบว่า พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ซึ่งเก็บค่าตั๋วเข้าชมราคา 22 ยูโร สำหรับบุคคลทั่วไป จะมีรายได้จากการจำหน่ายตั๋วประมาณ 196 ล้านยูโร หรือคิดเป็นเงินไทย 7.5 พันล้านบาท

ส่วน The Met ที่ตั๋วเข้าชมราคา 30 ดอลลาร์สหรัฐ จะมีรายได้เท่ากับ 162 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.6 พันล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมถึงค่าตั๋วเพื่อเข้าชมนิทรรศการพิเศษ ค่าสมัครสมาชิก ค่าเช่าหูฟัง ค่าเช่าสถานที่ หรือรายได้อื่นๆ แต่อย่างใด

นอกจากการสร้างรายได้แล้ว พิพิธภัณฑ์ระดับโลกเหล่านี้ ยังเปรียบเสมือนสัญลักษณ์สำคัญของเมือง ที่ผู้คนทั้งในและต่างประเทศต้องการเดินทางมาเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์จึงช่วยส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจที่พัก โรงแรม ร้านอาหาร การเดินทาง และร้านค้าปลีกต่างๆ ได้อีกทางหนึ่งด้วย

ประเทศไทยเองก็มีนโยบายผลักดันเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ Soft Power ให้เป็นกลไกสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ

จากฐานข้อมูลมูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ แสดงให้เห็นว่า ในปี 2022 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในทั้ง 15 สาขา มีมูลค่าสูงถึง 1.28 ล้านล้านบาท คิดเป็น 7.39% ของ GDP ประเทศไทย 

แต่หากพิจารณาเฉพาะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ใน 11 สาขา (ไม่รวมสาขาแฟชั่น อาหารไทย การแพทย์แผนไทย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม) เพื่อให้สอดคล้องกับการศึกษาภาคศิลปวัฒนธรรมในต่างประเทศแล้ว ก็ยังคงมีมูลค่าถึง 536,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.1% ของ GDP ของประเทศ

ศิลปวัฒนธรรมมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ และก่อให้เกิดการจ้างงาน ทั้งผ่านการสร้างสรรค์ศิลปะโดยตรง และผ่านอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยอ้อม

จึงเป็นที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งที่คนไทยในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ให้ความสนใจกับศิลปวัฒนธรรมเพิ่มขึ้น เห็นได้จากการเข้าชมและร่วมกิจกรรมในงานนิทรรศการต่างๆ ที่จัดขึ้นระดับประเทศและระดับนานาชาติ 

การเปิดพิพิธภัณฑ์ของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ตลอดจนการขยายตัวของตลาดศิลปะอย่างต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้น่าจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคตได้เป็นอย่างดี

เอกสารอ้างอิง : 

National Endowment for the Arts. (2024). The US Arts Economy in 2022: A National Summary Brief. https://www.arts.gov/sites/default/files/2024_National_Brief-final.pdf 

UNESCO. (2021). UNESCO Report: Museums Around the World in the Face of COVID-19. https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000376729_eng 

Wikipedia. (n.d.) List of Most-Visited Museums. https://en.wikipedia.org/wiki/List_of_most-visited_museums 
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์. (2567). มูลค่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย.  https://opendata.cea.or.th/dataset/ci_gva