หลายท่านคงได้ทราบถึงข่าวที่ดาราสาว ด. อรสร. เป็นประเด็นในรายการโหนกระแส โดยมีคู่กรณีเป็นนักธุรกิจออกมาให้ข้อมูลว่า โดนดาราท่านนี้ยืมของแบรนด์เนมไปแล้วไม่คืน แถมเอาข้าวของเหล่านั้นไปจำนำกับบุคคลต่างๆ จนเกิดเป็นเรื่องเป็นราว กระทบกับชื่อเสียงนักธุรกิจผู้เป็นเจ้าของทรัพย์ตัวจริง
เมื่อเป็นเรื่องดังขึ้นมา สื่อต่างๆ ก็พากันขุดวีรกรรมของดาราสาวท่านนี้ ซึ่งก็ไม่พ้นเกี่ยวกับใช้ชีวิต “ติดแกลม” (glamorous) ไม่ว่าจะเป็นการอาศัยอยู่เพ้นท์เฮ้าส์สุดหรู (ไม่ซื้อแต่เช่าเดือนละล้าน) รอบตัวมีแต่เครื่องของใช้และประดับไฮเอนด์ เดินทางไปต่างประเทศก็ต้องบินแบบชั้นหนึ่ง หรือ ถึงขนาดซื้อตั๋วเครื่องบินชั้นธุรกิจไป-กลับวันเดียว เพื่อให้คนรู้จักไปซื้อนมให้ลูกถึงสิงคโปร์
อันที่จริง เรื่องราวเช่นนี้ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะนับครั้งไม่ถ้วนที่เราเห็นข่าวดารา หรือ เซเลบคนดังโดนจับโป๊ะได้ว่า “รวยปลอม” ไลฟ์สไตล์ชีวิตหรูหราที่เห็นตามสื่อโซเชียลจริงๆ แล้วล้วนมาจากการบริโภค “เกินตัว” ทั้งนั้น
เมื่อพูดถึงการบริโภคแบบหรูหราฟุ่มเฟือยแล้ว นักเศรษฐศาสตร์ที่ถูกนำมาพูดถึงบ่อยคือ ธอร์สไตน์ เวบเบลน (Thorstein Veblen, 1857-1989) เวบเบลนถือเป็นผู้วางรากฐานให้กับสำนักคิดเศรษฐศาสตร์สถาบัน ทฤษฎีของเขาที่ว่าด้วย “ชนชั้นสบาย” (leisure class) ได้ถูกหยิบยกมาใช้อธิบายปรากฏการณ์บริโภคแบบหรูหราในสังคมปัจจุบันบ่อยครั้ง
การตีความทฤษฎีชนชั้นสบายที่พบเห็นทั่วไป เน้นไปที่แนวคิดเรื่อง การบริโภคเพื่อ “โอ้อวด” (conspicuous consumption) และความขัดแย้งทางทฤษฎีเมื่อเทียบกับเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก กล่าวคือ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมองว่า การบริโภค คือ พฤติกรรมที่บุคคลแสวงหาอรรถประโยชน์สูงสุด โดยพิจารณาจากปัจจัยและข้อจำกัดด้านเศรษฐกิจรอบตัว เช่น รายได้ ราคา หรือ การเทียบเคียงระหว่างประเภทสินค้า
ดังนั้น การตัดสินใจบริโภคตามทฤษฎีเศรษฐศาสตร์กระแสหลักจึงเป็นกระบวนการที่เกิดในตัวปัจเจกชน ซึ่งต่างจากแนวคิดของเวบเบลนที่มองว่า ในสังคมนั้น มีกลุ่มคนที่มีอันจะกินเหลือเฟือ และมีเวลาว่างในการทำกิจกรรมพักผ่อน ได้แก่ การล่องเรือยอร์ช การจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ การเล่นกอล์ฟ ฯลฯ
สำหรับคนกลุ่มนี้ การบริโภคเป็น “กระบวนการทางสังคม” ผู้คนไม่ได้บริโภคเพียง เพราะอรรถประโยชน์ที่ได้รับจากสินค้า หากแต่การบริโภคของบุคคลมีหน้าที่ไว้สื่อสารกับสังคม เพื่อแสดงให้คนอื่นเห็นถึงอัตลักษณ์ ความมั่งคั่ง และ สถานะทางสังคม หรือ พูดง่ายๆ คือ การบริโภคเป็นเครื่องมือไว้ใช้ “โอ้อวด” ชาวบ้านนั่นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจอธิบายในเบื้องต้นได้ว่า การใช้ชีวิตติดแกลมของคนดัง (หรืออยากจะดัง) จึงเป็นหนึ่งในวิถีทางที่พวกเขาอยากทำให้คนอื่นเห็นว่าตนเอง “มีฐานะ”
แต่ถ้าจะถามต่อว่า แล้วจะโชว์รวยทำไม? (นอกเสียจากเหตุผลทั่วไปที่ว่า เมื่อดูรวยก็อาจเปิดโอกาสเรื่องเครือข่ายหรือลู่ทางทำกินต่างๆ) ครั้งนี้ ผมจึงขอลองตีความแนวคิดของเวลเบลนเพิ่มอีกซักนิด เผื่อจะช่วยอธิบายอะไรได้มากขึ้นบ้าง
สิ่งที่ผู้คนไม่ค่อยพูดถึงคือ ทฤษฎีชนชั้นสบายผูกโยงกับชนชั้นและความคิดฝังตรึงอยู่กับชนชั้นที่เวบเบลนเรียกว่า “instinct” หรือ “สัญชาตญาณ” (อ.สิร นุกูลกิจ เพื่อนร่วมงานได้เคยแปลไว้ว่า “สันดาน” แต่ผมขอแปลตรงๆแบบนี้ดีกว่า)
บริบททางทฤษฎีของเวบเบลนอยู่ในช่วงที่มีอุตสาหกรรมในอเมริกาเติบโต จนเกิดชนชั้นที่มีฐานะขึ้น ได้แก่ นักการเงิน นักขาย นักกฎหมาย นักธุรกิจ และผู้ประกอบวิชาชีพเฉพาะทาง
เวบเบลนมองว่า คนกลุ่มนี้ไม่ productive หรือ มีผลิตภาพ ในความหมายที่เป็นคนลงแรงและสัมพันธ์กับการผลิตจริง (ไม่เหมือนคนงาน นักวิจัย ช่างฝีมือ ฯลฯ) งานที่คนกลุ่มนี้ทำส่วนใหญ่ ก็เพื่อให้องค์กรและตนเองได้รับเงินตรา กำไร และทรัพย์สิน เท่านั้นไม่พอ เมื่อมีเงินมากเข้า สิ่งที่คนกลุ่มนี้ทำ คือต้อง “โชว์รวย” ผ่านกิจกรรมสังสรรค์และการใช้เวลาว่าง เพื่อแสดงให้สังคมเห็นถึง “ความสำเร็จ” ของตน
ไอ้พฤติกรรมโชว์รวยนี่แหละ เป็นสิ่งที่เวบเบลนมองว่า ถูกขับดันจากสัญชาตญาณแห่ง “การล่า” (predatory instinct) ที่ฝังลึกลงในตัวตนความเป็นคนมาอย่างเนิ่นนาน
ในอดีตมนุษย์ล่าสัตว์เพื่ออยู่รอด เมื่อสังคมก้าวหน้ามีระบบชนชั้น มนุษย์ก็ปรับรูปแบบเป็นการล่ามนุษย์กันเอง ด้วยการค้าทาส การทำสงคราม การขยายดินแดน การปล้นชิง ฯลฯ และมนุษย์ที่ล่าสำเร็จย่อมแสดงอำนาจแห่งตนผ่านพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่ สิ่งปลูกสร้าง อนุสรณ์สถาน หรือ ของล้ำค่าที่ทำเป็นพิเศษ
เมื่อสังคมเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม การแข่งขันเพื่อสถานะทางเศรษฐกิจได้กลายมาเป็นเวทีหลักได้ และผลิตทั้งผู้ชนะและผู้แพ้ ผู้ชนะในห่วงโซ่แห่งการล่าแสดงถึงอำนาจ และความสำเร็จทางเศรษฐกิจด้วย
การบริโภคเพื่อโอ้อวด และแสดงให้สังคมเห็นถึงวิถีชีวิตที่สุดแพงแสนพิเศษในแบบต่างๆ เห็นได้ว่า เนื้อหาของสัญชาตญาณไม่เคยเปลี่ยนแปลง แต่รูปแบบได้แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ในบริบทของสังคมสมัยใหม่นี้
สัญชาตญาณแห่งการล่า เป็นองค์ประกอบในการสถาปนาสถาบันแห่งชนชั้นสบายนั่นเอง ซึ่งสถาบัน ณ ที่นี้ไม่ใช่แค่กลุ่มองค์กร แต่คือการที่พลังแห่งสัญชาตญาณปะทะ/ประสานกับวัฒนธรรม และระหว่างมนุษย์ด้วยกันจนก่อร่างเป็นแบบแผนทางพฤติกรรมที่มีความคงตัว และสามารถวิวัฒน์ผ่านการเวลา จนกระทั่งปัจจุบันก็มีกลุ่มคนที่ประพฤติตามแบบแผนนั้น
ดังนั้น เมื่อนำกลับมามองคำถามที่ค้างไว้ว่า จะโชว์รวยไปทำไม ถ้าตอบแบบตรงๆ แบบเวบเบลนก็คงได้ว่า ความเป็น “นักล่า” ยังฝังแฝงในตัวเราอยู่ทุกคนไม่ว่าจะมาก หรือ น้อย
เราเห็นสัญชาตญาณแห่งการล่าแทบทุกที่ เห็นได้ในชีวิต “ติดแกลม” บน TikTok หรือ IG หรือ แม้กระทั่งวัฒนธรรมจัดงานตามวาระต่างๆ (งานศพ งานแต่งงาน งานบวช ฯลฯ) ที่เข้าข่ายเสียเงินไม่ว่า เสียหน้าไม่ได้ ทั้งในสังคมเมืองละชนบท
การขยายตัวของวัฒนธรรมบริโภคเพื่อโอ้อวด เป็นไปตามการเกิดขึ้นของชนชั้นกลางใหม่ๆ ทำให้การช่วงชั้นทางเศรษฐกิจมีความละเอียดขึ้น และระบบทุนนิยมสมัยใหม่ก็มีรูปแบบการนำเสนอสินค้า ที่แสดงการโชว์รวยได้ตามระดับพลังการบริโภคของผู้คนในแต่ละช่วงชั้น
นอกจากนี้ การกระตุ้นจากสื่อโซเชี่ยล อีกทั้งนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ได้ช่วยให้คนเข้าถึงการบริโภคเพื่อแสร้งโชว์รวยได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การประพฤติตามวัฒนธรรมเสแสร้งชีวิตติดแกลมย่อมมีต้นทุน ผู้ล่าที่ไม่ประเมินตนก็อาจจบไม่สวย เพราะได้เงินมาจากการคดโกง หรือ หลอกหลวงคนอื่น ทำให้การบริโภคก่อหนี้เกินควร และมีปัญหาสังคมตามมา
นอกจากนี้ เราอาจมองได้ว่า มนุษย์ทุกคนมีความเป็นนักล่าและพร้อมที่จะ “ล่าผู้ล่า” อีกที หากพบว่าผู้ล่าได้พลั้งพลาด ด้วยการแขวะ แกะ แขวน ขุด หรือ ซ้ำเติม เพื่อให้เกิดการสลับสับเปลี่ยนของตำแหน่งทางสังคมเสมอๆ (อาจไม่ได้สลับหรือสูงขึ้นจริง แต่ก็อยากแสดงพลัง)
ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้คือ พวกเราควรกลับมาทบทวนตัวเองในฐานะที่เป็นผู้บริโภคให้มากๆ เพราะการบริโภคไม่ใช่เรื่องของปัจเจก แต่คือวาระทาง “สังคม” (คนอื่นได้ประโยชน์หรือเดือดร้านจากการบริโภคของเราได้)
ส่วนคำตอบที่ว่าเราจะหยุดสังคมแห่งการล่านี้ได้อย่างไร (หรือจริงๆเราควรจะหยุดมันหรือไม่?) ผมเองก็ยังคิดไม่ออก แต่อยากบอกเพิ่มว่า เศรษฐศาสตร์สถาบันแบบเวบเบลน ก็ได้มีการพูดถึงสัญชาตญาณน้ำดีอื่นๆ ที่ช่วยสถาปนาสถาบัน ที่มีหน้าที่สร้างสรรค์เพื่อสังคม ไว้ครั้งหน้าจะค่อยๆ ทยอยพูดถึงกันครับ เผื่อจะได้มาร่วมด้วยช่วยคิดกัน