*** ตลาดหุ้นไอพีโอของปี 2567 ที่กำลังจะจบลงไปพร้อมกับเดือนสุดท้ายของปี ถือว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เจ๊เมาธ์จับตามอง และให้ความสนใจมาตลอด เพราะเมื่อเข้าไปดูข้อมูลก็พบว่าจนถึงวันนี้ตลาดหุ้นไทยมีหุ้นไอพีโอ เข้าตลาดฯ รวมทั้งหมดเป็นจำนวน 31 บริษัทโดยเป็นหุ้นที่เข้า SET จำนวน 13 บริษัท และที่เข้าตลาด MAI จำนวน 18 บริษัท ซึ่งก็ถือว่าไม่ได้มาก หรือน้อยเกิดไป เมื่อเทียบกับเกณฑ์ในการคัดเลือกบริษัท ที่จะเข้ามาระดมทุนในตลาดฯ ที่ปรับให้เข้มข้นมากขึ้น
แต่เรื่องเกณฑ์ในการคัดเลือกที่จะถูกปรับให้เข้มข้นมากขึ้นแค่ไหนก็ว่ากันไป เพราะสิ่งที่น่าสนใจสำหรับเจ๊เมาธ์ รวมไปถึงนักลงทุนทั่วไป กลับเป็นเรื่องของการตั้งราคาจองซื้อก่อนการเข้าตลาดฯ รวมไปถึงราคาซื้อขายหุ้นภายหลังเข้าตลาดฯ ซึ่งจะสะท้อนความสามารถทั้งผู้อนุมัติให้เข้าตลาดฯ (ผู้คุมกติกา) ผู้ที่ดูแลก่อนเข้าตลาด (ที่ปรึกษา) รวมถึงตัวบริษัทเองซึ่งจะสะท้อนความสามารถผ่านออกมาทางราคาหุ้น....
เพราะเมื่อเจ๊เมาธ์เข้าไปค้นข้อมูล กลับพบว่า หุ้นไอพีโอ ทั้ง 31 ตัวที่เข้าตลาดในปี 2567 มีเพียงไม่กี่ตัวที่ได้ไปต่อ นอกจากนั้นกลายเป็นหุ้นที่หลอกพานักลงทุนมาเจ็บตัวซะเป็นส่วนมาก
โดยในส่วนของหุ้นจำนวน 13 ตัว ที่เข้าระดมทุนในตลาด SET มีอยู่ถึง 3 บริษัท ซึ่งประกอบไปด้วย AGRO SPREME และ CREDIT ซึ่งเป็นหุ้นที่ราคาปิดตลาดในวันแรกต่ำกว่าราคาจองซื้อ แต่หุ้นที่เหลืออีกจำนวน 10 ตัว มีอยู่ 7 ตัว ซึ่งประกอบไปด้วย TMAN MEDEZE CHAO NEO BKGI NL และ CREDIT มีราคาหุ้นหลุดลงต่ำกว่าราคาจองซื้อภายหลังการเข้าตลาดฯ
นั่นก็หมายความว่า หุ้นไอพีโอจำนวน 13 ตัวที่เข้าตลาด SET จะมีหุ้นอยู่ถึง 10 ตัวที่ราคาต่ำจอง และมีเหลือหุ้นเพียงแค่ 3 ตัวคือ SNPS OKJ และ ADVICE ที่ยังสามารถยืนเหนือราคาจองซื้อมาได้จนถึงวันนี้
ในขณะที่หุ้นอีก 18 ตัวที่เข้าตลาด MAI พบว่า หุ้น 8 ตัวซึ่งประกอบไปด้วย EURO PANEL QTCG STX IROYAL MPJ และ IVF ซึ่งเป็นหุ้นที่ราคาปิดตลาดในวันแรกต่ำกว่าราคาจองซื้อ
ขณะที่อีก 8 ตัว ซึ่งประกอบไปด้วย TATG PMC NCP CFARM STX TERA BPS และ NAT มีราคาหุ้นหลุดลงต่ำกว่าราคาจองซื้อภายหลังการเข้าตลาดฯ
หมายความว่า หุ้นไอพีโอ จำนวน 18 ตัว ที่เข้าตลาด MAI จะมีหุ้นอยู่ถึง 16 ตัวที่ราคาต่ำจอง และมีเหลือหุ้น 2 ตัวคือ APO และ LTS เพียงเท่านั้น ที่ยังสามารถยืนเหนือราคาจองซื้อมาได้จนถึงทุกวันนี้
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างราคาจองซื้อกับราคาหุ้นหน้ากระดาน หลังการเข้าตลาดฯ ก็จะรู้ได้ว่า หุ้นน้องใหม่ไอพีโอที่ถูกคัดเลือกเข้ามาซื้อขายเหล่านี้ ได้สร้างบาดแผลอะไรให้นักลงทุนกันบ้าง
อย่างแรก สำหรับนักลงทุนที่เข้าไปจองซื้อหุ้นไอพีโอ 3 ตัวจาก SET และ 8 ตัวจาก MAI จะต้องเป็นการขาดทุนในวันแรกและนาทีแรกอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเรื่องความความเสี่ยงที่นักลงทุนควรจะต้องยอมรับ แต่การที่มีหุ้นหลายตัวที่ราคาปรับลงต่ำกว่า 30% ในวันแรกของการเข้าตลาดฯ กลับเป็นเรื่องที่เจ๊เมาธ์คิดว่า ควรจะต้องมีการพิจารณามาตรการในการคัดเลือกหุ้นที่ได้มาตรฐานมากกว่านี้
อย่างที่สอง เป็นเรื่องของราคาหุ้นที่ไหลลงมาต่ำกว่าราคาจองในวันถัดไป กรณีนี้มีหุ้นหลายตัวที่ราคาหุ้นดำดิ่งลงลึกมาก ซึ่งก็แน่นอนว่า เป็นเรื่องความความเสี่ยงที่นักลงทุนควรจะต้องยอมรับเช่นกัน แต่หากจะสอบถามถึงมาตรการป้องกันการทำราคาเพื่อล่อแมงเม่า เจ๊เมาธ์ก็ยังคงมองไม่เห็นอีกเช่นกัน
ท้ายที่สุด เป็นเรื่องของความเข็ดขยาดในการลงทุนกับหุ้นไอพีโอ ซึ่งถูกมองว่า อาจจะเป็นจุดเสื่อมที่ทำให้นักลงทุนไม่กล้าลงทุนในการซื้อโอกาสกับหุ้นตัวใหม่ๆ ขณะเดียวกัน เมื่อนักลงทุนไม่กล้าลงทุน ก็จะทำให้ความสนใจที่บริษัทอื่นๆ จะใช้เวทีของตลาดหุ้นในการระดมทุน ซึ่งจะกลายเป็นความเสียหายกับตลาดทุนของไทยในอนาคต อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงเช่นกัน
เจ๊เมาธ์ก็ได้แต่หวังว่า ตลาดไอพีโอของไทยจะจบยุคเสื่อมมนต์ขลังไปพร้อมกับผู้บริหารชุดเก่า ที่เพิ่งจะหมดวาระไปเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแล้วนะคะ และตอนต่อไปเรามาดูกันว่าซีรีย์...หุ้นดีหุ้นดังปี 67 ในมุมมองของเจ๊เมาธ์จะมีตัวไหนอีก...อย่าลืมมาติดตามกันให้ได้เจ้าค่ะ