แบรนด์ไทยลุ้นจำนวนนักท่องเที่ยวจีนทะยานพุ่งกว่า 9 ล้านคน มั่นใจกำลังซื้อเพียบ เร่งอัดฉีดยาแรงทั้งลอนช์สินค้าใหม่ ออกลิมิเต็ดอิดิชัน ขยายสาขา อัดโปรพิเศษ
มูลค่าตลาดสินค้าของฝากนักท่องเที่ยวทะยานพุ่งถึง 1.8 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเติบโต 8% ในปีนี้จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทย โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนยังเป็นนักช็อปที่มีศักยภาพ มีกำลังซื้อ และปีนี้ประเมินว่าจะมีตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 9 ล้านคน ถือเป็นกลุ่มนักช็อปสำคัญที่นิยมซื้อสินค้าไทยกลับไปเป็นของฝากและเป็นโอกาสทางการตลาดมากสุด
โดยพบว่าสินค้าที่นักท่องเที่ยวชาวจีนนิยม ได้แก่ กลุ่มสินค้าเครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์สปา และสมุนไพรในสัดส่วน 50% อาทิ บิวตี้ บุฟเฟ่ต์, ศรีจันทร์ , มิสทิน, คาร์มาร์ท, สเนลไวท์ เป็นต้น รองลงมาเป็นสินค้าสแน็ก และของกิน 40% อาทิ เถ้าแก่น้อย , คันนา , มาม่า, โก๋แก่ เป็นต้น และกลุ่มยา เวชภัณฑ์ และอาหารเสริม 10% อาทิ ตราเสือ , เซียงเพียวอิ้ว, นมผึ้งอลิสพอลลิน เป็นต้น
ขณะที่กลยุทธ์การทำตลาดจะมีทั้งการใช้พรีเซนเตอร์ ดารา หรือศิลปินที่คนจีนชื่นชอบ การกระจายสินค้าไปยังช่องทางต่างๆ ที่คนจีนนิยมไปท่องเที่ยว การขายสินค้าผ่านไกด์ บริษัททัวร์ การขายออนไลน์ การผลิตสื่อเป็นภาษาจีน การส่งสินค้าไปทำตลาดในประเทศจีน และการจัดทำสินค้าแบบลิมิเต็ด เฉพาะกลุ่มลูกค้าคนจีนเท่านั้น ฯลฯ ทำให้ในปีนี้เชื่อว่า ตลาดนักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง จะเป็นตลาดสำคัญของแบรนด์สินค้าไทย
โดยนางสาวณชา จึงกานต์กุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท คันนา โกรเซอรีส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผลไม้แปรรูป "คันนา" เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า บริษัทเตรียมออกสินค้าใหม่ในกลุ่มเครื่องสำอางและบำรุงผิว ที่ใช้สมุนไพรและผลไม้เป็นวัตถุดิบหลัก 3-4 รายการ จำหน่ายในราคา 300-500 บาท เพื่อจับกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวชาวจีน คาดว่าจะเปิดตัวได้ในครึ่งหลังของปีนี้ โดยแนวทางการตลาดจะเน้นทำตลาดออนไลน์ และการใช้ผู้มีชื่อเสียงเข้ามาสร้างแบรนด์ นอกจากนี้ ยังอาจจะพิจารณาใช้พรีเซนเตอร์เพื่อสร้างยอดขายด้วย คาดว่าในปีแรกจะมียอดขายสินค้าประมาณ 10 ล้านบาท หลังจากทำตลาดในปีแรกแล้วจะส่งสินค้าออกไปทำตลาดในต่างประเทศด้วย
นอกจากนี้เตรียมใช้เงิน 70-100 ล้านบาท เพื่อสร้างการรับรู้และกระตุ้นยอดขายตลาดสแน็ก อาทิ การทำแคมเปญออนไลน์กับเว็บไซต์ในประเทศจีน การขยายจุดจำหน่ายในประเทศ เพื่อรองรับกับกลุ่มนักท่องเที่ยว 10 แห่ง อาทิ พัทยา ภูเก็ต สมุย เชียงใหม่ และยังร่วมกับตัวแทนจำหน่ายทำตลาดในต่างประเทศและขยายจุดขายในร้านดิวตี้ฟรีในประเทศจีน 6-10 แห่ง ร้านรีเทลช็อปในฮ่องกง 30-50 แห่ง ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนยอดขายจากกลุ่มนักท่องเที่ยว 90% โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนมีสัดส่วน 90% ซึ่งที่ผ่านมานักท่องเที่ยวชาวจีนเคยซื้อสินค้าสูงสุดต่อคนถึง 1.5 หมื่นบาท ขณะที่ประเทศอื่นๆ มียอดใช้จ่ายเฉลี่ย 500-800 บาทต่อบิล อาทิ ชาวรัสเซีย โดยปีนี้บริษัทคาดว่าจะปิดยอดขาย 300 ล้านบาท และในอีก 5 ปีจะทำยอดขายได้ถึง 1,000 ล้านบาท และบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดในกลุ่มสแน็กของฝากสัดส่วน 30-35% ซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ในท้องทตลาดยังเป็นผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอี 60% และผู้ประกอบการรายใหญ่ 40%
ด้านนายอิทธิพัทธ์ พีระเดชาพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสาหร่ายอบกรอบ "เถ้าแก่น้อย" หนึ่งในสินค้ายอดฮิตของนักท่องเที่ยวชาวจีน กล่าวว่า หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญสำหรับรองรับนักท่องเที่ยวจีน คือ การขยายสาขาของร้านเถ้าแก่น้อยแลนด์ ที่จำหน่ายของที่ระลึกสินค้าของบริษัท ในปีนี้มีแผนขยายสาขาเพิ่มไม่ต่ำกว่า 5 แห่ง ในย่านที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก จากปัจจุบันที่มี 10 แห่ง ภายในร้านจะจำหน่ายสินค้าสาหร่าย และไม่ใช่สาหร่าย (Non Seaweed) อาทิ ผลไม้อบแห้ง นมอัดเม็ด ภายใต้แบรนด์ เถ้าแก่น้อยแลนด์ ซึ่งเป็นสินค้าเฮาส์แบรนด์ของบริษัท และยังมีสินค้าพื้นเมืองของแต่ละภาคในประเทศไทยมาจำหน่าย
"ที่ผ่านมาได้ขยายเข้าไปในย่านที่กลุ่มนักท่องเที่ยวให้ความสนใจเข้าไปท่องเที่ยวในไม่ว่าจะเป็น เอเชียทีค,ศูนย์การค้าเทอร์มินอล21 และศูนย์การค้าเอ็มบีเค เป็นต้น ซึ่งย่านดังกล่าวถือเป็นย่านหลักที่มีกลุ่มนักท่องเที่ยวจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมเข้ามาซื้อสินค้า ซึ่งแนวทางการขยายสาขาจะใช้ทำเลที่มีศักยภาพใกล้เคียงย่านดังกล่าวในการรุกเข้าไปเดสาขาเพิ่ม"
ปัจจุบันกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาซื้อสินค้าภายในร้านประกอบด้วย 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ กลุ่มนักท่องเที่ยวอิสระ (Free and Independent Traveler: FIT) และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาพร้อมกับกรุ๊ปทัวร์ โดยบริษัทจะให้ความสำคัญกับการทำตลาดเพื่อเจาะเข้าไปในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยวอิสระมากกว่า เนื่องจากเทรนด์ของนักท่องเที่ยวกลุ่มดังกล่าวมีอัตราการเติบโตหรือจำนวนที่เข้ามาเที่ยวในบ้านเราสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ปีที่ผ่านมาบริษัทมีรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งหมดเติบโตขึ้น 30% จากปีก่อน ขณะที่รายได้ในปีนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากสถานการณ์การท่องเที่ยว รวมถึงผลกระทบที่เกิดจากมาตรการปราบทัวร์ศูนย์เหรียญยังมีผลต่อนักท่องเที่ยวบางส่วนอยู่ ทำให้ต้องมีการประเมินสถานการณ์ตลอดเวลา
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,232 วันที่ 2 - 4 กุมภาพันธ์ 2560