ไฟเขียววินด์ฟาร์ม17 โครงการเดินหน้าต่อ

29 มี.ค. 2560 | 07:30 น.
อัปเดตล่าสุด :29 มี.ค. 2560 | 14:43 น.
ผลตรวจสอบวินด์ฟาร์ม 16 บริษัทรวม  17 โครงการใน 4 ประเด็นผ่านฉลุย ส.ป.ก.สรุปผลถึงมือ “ฉัตรชัย” ไฟเขียวให้เดินหน้าต่อ

พล.อ.ฉัตรชัย  สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดของบริษัทผู้ดำเนินกิจการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า(วินด์ฟาร์ม) 16 บริษัทรวม 17 โครงการ หลังสั่งการให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.)ดำเนินการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน

ทั้งนี้เป็นผลจากกรณีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาเพิกถอนการอนุญาตให้บริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด จ.ชัยภูมิ ดำเนินกิจการ โดยวินิจฉัยว่า กิจการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าของบริษัทไม่เป็นประโยชน์แก่เกษตรกรในเขตพื้นที่ดำเนินการปฏิรูปที่ดิน และไม่ปรากฎข้อเท็จจริงว่าราษฎรในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากกิจการดังกล่าวโดยตรง ส่งผลกระทบต่อบริษัทอื่นๆ ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้พื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อดำเนินกิจการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าทั้ง 16 บริษัทต้องถูกตรวจสอบว่าจะต้องถูกเพิกถอนการอนุญาตด้วยหรือไม่

พลเอกฉัตรชัย กล่าวต่อไปว่า การตรวจสอบกรณี วินด์ ฟาร์ม แบ่งเป็น 4 ประเด็น ดังนี้ คือ 1. ส.ป.ก. มีอำนาจตามกฎหมายในการอนุญาตให้เอกชนใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดิน โดยได้ดำเนินการตามกฎหมาย 3 ฉบับ คือ 1)พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3 )พ.ศ. 2532 มาตรา 30 วรรคห้า 2) ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดกิจการอื่นที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ตามมาตรา 30 วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2518 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2532 (ฉบับที่ 2) และ 3)ระเบียบ คปก. ว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการอนุญาต และการให้ผู้รับอนุญาตถือปฏิบัติในการใช้ที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ สำหรับกิจการที่เป็นการสนับสนุน หรือเกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปทีดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2541

2. ผู้ประกอบกิจการกังหันลมทั้ง 16 บริษัท (17 โครงการ) ได้ดำเนินการขออนุญาตถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนด คือ 1) ผู้ประกอบการได้ยื่นคำขออนุญาต ณ ส.ป.ก. จังหวัด โดยมีเอกสารหลักฐานตามที่ส.ป.ก.กำหนด ยื่นมาพร้อมกับคำขอ 2) ส.ป.ก.จังหวัด ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานทั้งหมด ก่อนนำเสนอคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด (คปจ.) เพื่อพิจารณาอนุญาต 3) การพิจารณาของ คปจ. อาศัยข้อกฎหมายครบถ้วนในการพิจารณาอนุญาต 4) ส.ป.ก. จังหวัดส่งเรื่องให้ ส.ป.ก. ตรวจสอบความถูกต้องความสมบูรณ์ของหลักฐานก่อนทำสัญญาเช่า และ 5) ส.ป.ก. จังหวัด จัดทำสัญญาเช่ากับผู้ประกอบกิจการ

3. ผู้ประกอบการกังหันลมทั้ง 16 บริษัท (17 โครงการ) ไม่ได้กระทำผิดสัญญาเช่า คือ 1) ผู้ประกอบกิจการจ่ายค่าเช่าที่ดินให้ ส.ป.ก. 35,000 บาท/ปี/ไร่ ตามมติคปก. กำหนด และ2) ปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาเช่ากับ ส.ป.ก.

4. เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินได้รับประโยชน์จริง จากการตรวจสอบจากเกษตรกร พบว่า ได้รับค่าชดเชยในพื้นที่ตั้งกังหันลม(ต่อปี) ค่าชดเชยสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่รัศมีโครงการ(ต่อปี) ค่าชดเชยพืชผล (ครั้งเดียว) การจ้างแรงงานในพื้นที่ การส่งเสริมพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว อีกทั้ง ได้รับการสนับสนุนการจัดกิจกรรมในวันสำคัญต่างๆ เช่น วันขึ้นปีใหม่ งานวันสำคัญทางศาสนา รวมถึงได้รับการพัฒนาถนนสาธารณะ และการพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นต้น

ด้านนายสมปอง อินทร์ทอง เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวเพิ่มเติมว่า “ส.ป.ก. ใช้เวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว ผลสรุปคือ ผู้ประกอบกิจการกังหันลมทั้ง 16 บริษัท (17 โครงการ) ยังคงดำเนินการต่อได้ เพราะคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด กรณีของบริษัท เทพสถิต วินด์ฟาร์ม จำกัด นั้น ผูกพันเฉพาะคู่กรณี”