หลังจาก "กลุ่มสยามพิวรรธน์" เปิดเมือง 'ไอคอนสยาม' ศูนย์การค้าที่เหนือกว่าศูนย์การค้า ให้เป็นแลนด์มาร์กใหม่ของกรุงเทพมหานคร รวมถึงช่วยหนุนศักยภาพทำเลฝั่งธนบุรี จากย่านที่อยู่อาศัยที่เป็นตึกแถวเก่าแก่ กำลังจะพลิกโฉมกลายเป็นย่านธุรกิจใหม่ ยิ่งกว่านั้น ตามกฎหมายผังเมืองฉบับใหม่ของกรุงเทพมหานครที่จะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้ จะยกระดับย่านเจริญกรุง คลองสาน เป็นพื้นที่พาณิชยกรรมพิเศษด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ไม่เพียงแต่โครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ ศูนย์การค้าใหม่ ๆ และโครงการคอนโดมิเนียม ที่สร้างความคึกคักให้กับพื้นที่ ยังมีโครงข่ายรถไฟฟ้าที่ยืดขยายจากฝั่งกรุงเทพฯ เชื่อมไปถึงฝั่งธนบุรี จากปัจจุบัน มีเพียงรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า ในช่วงกลางปี 2562 นี้ รฟม. จะเปิดเดินรถไฟฟ้า สายสีนํ้าเงิน ช่วงหัวลำโพง-ท่าพระ และปลายปี 2563 เปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีทอง สถานีกรุงธนบุรี-ไอคอนสยาม นอกจากนี้ ยังมีระบบขนส่งรอง หรือ ฟีดเดอร์ ช่วยเติมเต็มการเดินทางให้สะดวกยิ่งขึ้น
ด้วยความครบเครื่องทั้งที่อยู่อาศัย แหล่งช็อปปิ้ง และการเดินทางที่สะดวก ยิ่งดึงดูดให้การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่นับวันยิ่งคึกคัก โดยพบว่า มีผู้ประกอบการหลายรายเตรียมที่จะพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมริมแม่น้ำเจ้าพระยา ในย่านเจริญนคร เช่น กลุ่มบริษัท พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมลงนามในสัญญาความร่วมมือร่วมกับ บริษัท ซูมิโตโม ฟอเรสทรี (สิงคโปร์) พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ถนนเจริญนคร บนพื้นที่กว่า 8 ไร่ มูลค่าโครงการประมาณ 10,000 ล้านบาท กำหนดเปิดตัวโครงการและเริ่มก่อสร้างในปี 2562 คาดว่า โครงการจะแล้วเสร็จในปี 2566, บมจ.พฤกษา เรียลเอสเตท เตรียมที่ดินติดแม่นํ้าเจ้าพระยา ข้างวัดเศวตฉัตร เจริญนคร พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับบนริมแม่นํ้าเจ้าพระยาอีก 1 โครงการ
นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สะท้อนว่า ย่านฝั่งธนฯ เปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งที่อยู่อาศัยและการท่องเที่ยว จากแรงขับเคลื่อนของรถไฟฟ้า ขณะเดียวกัน เมื่อมีไอคอนสยามยิ่งเห็นภาพชัด ต่อการพัฒนาริม 2 ฝั่งแม่นํ้าเจ้าพระยา ขณะนี้ มีตึกสูงจำนวนมากเกิดขึ้น รองรับที่อยู่อาศัยและผสมผสานไปกับการท่องเที่ยว ที่ได้รับความนิยม ล่าสุด ที่ปรากฏขึ้น คือ ชาวยุโรป-อเมริกา เดินทางมาย่านนี้ อาทิ
"ล้ง 1919" ซึ่งเชื่อว่าแม็กเนตนี้จะเป็นจุดหมายปลายทางดึงคนให้เข้ามาพักในย่านนี้
ขณะที่ นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการคอนโดมิเนียมตั้งอยู่ในย่านฝั่งธนบุรี รวมแล้ว 4 โครงการ เฉลี่ยมูลค่า 1.5-2 พันล้านบาทต่อโครงการ ซึ่งในแผนดำเนินงานปี 2562 เตรียมเปิดเพิ่มอีก 1-2 โครงการ หลังจากผลตอบรับดีและเล็งเห็นศักยภาพของทำเลที่มีความโดดเด่นขึ้นมากจากอดีต แนวโน้มได้รับความนิยมจากลูกค้าสูงขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินยังจับต้องได้ ไม่ได้ถูกปรับราคาสูงขึ้นมาก ทำให้ดีเวลอปเปอร์ยังสามารถพัฒนาโครงการขายในระดับราคาไม่แพงมากนัก ช่วง 7-8 หมื่นบาทต่อตารางเมตร ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าใหญ่ ระดับกลาง-ล่าง ที่มีความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง แตกต่างจากทำเลชั้นในของกรุงเทพฯ ที่ราคาที่ดินสูงเกินจำเป็น
"เดิมฝั่งธนบุรีเคยฮอตมาช่วงหนึ่ง ก่อนชะลอไป แต่ขณะนี้ มีดีมานด์จีน หลายบริษัทก็มาโฟกัส ทำซัพพลายรอก่อนแล้ว คาดต่อไปจะคึกคักขึ้นอีก"
➣
พลิกฝั่งธนฯ ย่านพาณิชยกรรมใหม่
นอกจากรถไฟฟ้าและไอคอนสยามแล้ว อนาคตฝั่งธนฯ กำลังถูกแปลงโฉม จากบ้านแออัดขึ้นตึกสูง หรือไม่ก็อาคารขนาดใหญ่พิเศษ เฉกเช่น ห้างยักษ์ที่ได้เปิดตัวไป
ประกอบกับ ทำเลอยู่ใกล้ศูนย์กลางธุรกิจ (ซีบีดี) 4 ส. อย่าง สุรวงศ์-สีลม-สาทร และสุขุมวิท มีเพียงแค่แม่น้ำเจ้าพระยาคั่น อีกทั้งรถไฟฟ้าสายสีทองเป็นเสมือนฟีดเดอร์เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายหลัก ทำให้ที่นี่เกิดความน่าสนใจ เป็นทั้งย่านพักอาศัย แหล่งงานย่านติดต่อธุรกิจและการท่องเที่ยว
จุดเปลี่ยนที่สำคัญ ผังเมืองกรุงเทพมหานคร ปรับปรุงครั้งที่ 4 กำหนดให้ย่านนี้เป็นย่านนวัตกรรม จากพื้นที่สีนํ้าตาล (ที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ย.8) FAR 7 สร้างได้ 7 เท่า ของแปลงที่ดินเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีแดง (ที่ดินประเภทพาณิชยกรรม) สร้างได้ 8 เท่าของแปลงที่ดิน หากใครไม่ต้องการสร้างตึกสูง ๆ ก็อาจพัฒนาห้างสรรพสินค้า เน้นพื้นที่ขนาดใหญ่ยักษ์ได้
จากการฉายภาพของ นายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สะท้อนว่า ฝั่งธนฯ ไล่ตั้งแต่บริเวณใต้สะพานพุทธ ผ่านวัดประยุรวงศาวาสฯ วัดอนงค์ และอีกฝั่งจะยาวถึงกุฎีจีน ตลาดเก่าแก่ 100 ปี ฯลฯ กทม. จะส่งเสริมให้เป็นย่านวัฒนธรรมเก่าแก่ริมนํ้า ซึ่งนับจากนี้ ฝั่งธนฯ จะทำเป็นเมืองเปิด เต็มไปด้วยสีสัน และการพัฒนาผสมผสานกันไป ตลอด 2 ฝั่งคุ้มนํ้าเจ้าพระยา
หน้า 25-26 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 39 ฉบับ 3,436 วันที่ 17-19 มกราคม 2562