"ภัยไซเบอร์" มุ่งโจมตีไทยมากกว่า 5 ล้านรายการ

01 ก.พ. 2562 | 10:39 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ก.พ. 2562 | 15:20 น.
"แคสเปอร์สกี้ แลป" ประกาศรายงานด้านความปลอดภัยไซเบอร์ล่าสุด ประจำไตรมาสที่ 4 ปี 2018 ซึ่งเป็นรายงานข้อมูลวิเคราะห์ เรื่อง : การโจมตีผ่านเว็บ ภัยคุกคามทั่วไป และแหล่งที่มาของภัยคุกคาม รายงานเปิดเผยว่า ผลิตภัณฑ์ของ "แคสเปอร์สกี้ แลป" สามารถสกัดกั้นภัยไซเบอร์ผ่านเว็บที่คุกคามผู้ใช้ในประเทศไทยได้มากกว่า 5 ล้านรายการ ในช่วงระยะเวลาเพียง 3 เดือนที่ผ่านมา

แคสเปอร์
จากข้อมูลของ Kaspersky Security Network หรือ KSN พบว่า ในช่วงเดือน ต.ค. ถึง ธ.ค. 2018 ผลิตภัณฑ์ของ "แคสเปอร์สกี้ แลป" สามารถสกัดกั้นภัยไซเบอร์ผ่านเว็บที่คุกคามคอมพิวเตอร์ของผู้ใช้ในประเทศไทยได้ทั้งสิ้น 5,677,465 รายการ คิดเป็นผู้ใช้จำนวน 22.8% ที่โดนโจมตีโดยภัยคุกคามผ่านเว็บ ทำให้ประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับที่ 75 ของโลก ที่โดนโจมตีขณะใช้งานอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ ประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จัดอยู่ในอันดับที่แตกต่างกันไป ดังนี้ ฟิลิปปินส์ อันดับที่ 13, มาเลเซีย อันดับที่ 24, อินโดนีเซีย อันดับที่ 35, เวียดนาม อันดับที่ 58 และสิงคโปร์ อันดับที่ 142

Kaspersky Security Network หรือ KSN เป็นระบบที่รวมเทคโนโลยีคลาวด์ไว้ในผลิตภัณฑ์สำหรับองค์กรและผู้ใช้ทั่วไปของ "แคสเปอร์สกี้ แลป" KSN จะวิเคราะห์ข้อมูลความปลอดภัยไซเบอร์ที่เกี่ยวข้องโดยอัตโนมัติจากผู้ใช้ผลิตภัณฑ์หลายล้านคนทั่วโลกที่สมัครใจร่วมส่งข้อมูลให้ KSN ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์สามารถตรวจจับมัลแวร์ขั้นสูงและมัลแวร์ใหม่ที่ไม่รู้จักมาก่อนได้อย่างรวดเร็วที่สุด

สถิติของ KSN ในปี 2018 พบว่า ในไตรมาส 3 (เดือน ก.ค. - ก.ย.) มีผู้ใช้ในไทยถูกโจมตีด้วยภัยคุกคามผ่านเว็บจำนวน 24.3% และจัดอยู่ในอันดับที่ 68 ของโลก ขณะที่ ไตรมาส 2 (เดือน เม.ย. – มิ.ย.) อยู่ในอันดับที่ 70 และไตรมาส 1 (เดือน ม.ค. – มี.ค.) อยู่ในอันดับที่ 61 ของโลก

นางสาวเบญจมาศ จูฑาพิพัฒน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยของแคสเปอร์สกี้ แลป กล่าวว่า "ข้อมูลจาก Kaspersky Security Network ของเรา แสดงให้เห็นว่า ผู้ใช้ในประเทศไทยนั้นมีความปลอดภัยมากขึ้นในด้านการถูกโจมตีออนไลน์และภัยคุกคามทั่วไป เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้ใช้ตระหนักว่า การโจมตีไซเบอร์นั้นมีอยู่จริง และไม่มีอะไรที่ปลอดภัย 100% ประเทศไทยกำลังเติบโตด้านโครงสร้างไอซีทีอย่างรวดเร็ว ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจึงจำเป็นต้องปกป้องตนเอง เริ่มจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมออนไลน์ที่มีความเสี่ยงก่อนที่จะสายเกินไป เพราะไม่มีใครที่จะปลอดภัยจากภัยคุกคามที่จ้องสร้างความเสียหายแน่นอน"

โปรโมทแทรกอีบุ๊ก